เพลงนี้ชื่อ ‘พลเมืองเป็นใหญ่’

ผมได้ชมและฟังเพลง “พลเมืองเป็นใหญ่” ที่คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) แต่งขึ้นมา
เพื่อสร้างเสริมสำนึกประชาธิปไตยในคนไทยแล้วครับ
เห็นในความตั้งใจดีครับ แต่ถ้าผมเป็นเด็กก็คงยังงง ๆ อยู่ โดยเฉพาะถ้าต้องถูกบังคับให้ต้องฟังทุกเช้าหน้าเสาธง
เห็นข่าวว่า กกต. ได้หารือกับกระทรวงศึกษา ขอความร่วมมือจากคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อส่งไปตามโรงเรียนต่าง ๆ ในสังกัดเพื่อเปิดเพลงนี้ในช่วงเช้าก่อนเคารพธงชาติหรือใช้ประกอบกิจกรรมอื่น ๆ ของโรงเรียนแล้วผมก็เกิดความประหวั่นพรั่นพรึงขึ้นมาทันที
เพราะอะไรที่ทำเหมือนเป็นการยัดเยียด บังคับให้รับรู้ ก็มักจะเกิดผลตรงกันข้าม โดยเฉพาะหากเกิดกับเยาวชน ที่อาจจะต้องการอะไรที่ย่อยได้ง่ายกว่า
เนื้อหาและจังหวะเพลงแม้จะพยายามทำให้ครึกครื้นสนุกสนาน แต่ก็ยังห่างไกลจากสิ่งที่เรียกว่า “ฟังปุ๊บเข้าใจปั๊บ”
อีกทั้งยังเสี่ยงกับการสร้างความชินชาและเฉย ๆ กับคำว่า “พลเมืองเป็นใหญ่” ซึ่งอาจจะส่งผลออกมาในทางที่ตรงกันข้ามกับจุดประสงค์ดั้งเดิมของคณะกรรมการเลือกตั้ง
เป็นความตั้งใจดีของ กกต. ที่จะให้เกิดความสำนึกใน “ประชาธิปไตย” ตั้งแต่วัยเด็ก เพราะปัญหาของบ้านเมืองวันนี้คือผู้ใหญ่โตมาพร้อมกับค่านิยมผิด ๆ ของคำว่าประชาธิปไตย จึงกลายเป็นความขัดแย้งที่เกิดจากการไม่เคารพในสิทธิของคนอื่น ไม่ยอมรับความเห็นต่างและขาดสำนึกในการเสียสละเพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่
แต่การสร้างความสำนึกเช่นว่านี้ ต้องทำกันอย่างเป็นระบบ ที่ต้องให้ทุกฝ่ายในสังคมเข้ามามีส่วนกำหนดแนวทาง และกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมสร้างสรรค์ จากผู้ใหญ่และผู้มีอำนาจพร้อม ๆ กับการส่งเสริมให้เด็กเข้าใจพฤติกรรมของประชาธิปไตยในชีวิตประจำวัน
ห้าประเด็นที่ กกต. ขอความร่วมมือไปที่กระทรวงศึกษารวมถึงที่ขอให้ สพฐ. กำหนดนโยบายส่งเสริมให้โรงเรียนในสังกัดจัดกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตยในโรงเรียน
อีกข้อหนึ่งคือขอให้ สพฐ. กำหนดตัวชี้วัดเรื่องความเป็นพลเมือง หรือกิจกรรมการสร้างพลเมือง และส่งเสริมประชาธิปไตยเป็นตัวชี้วัดมาตรฐาน ในการประเมินโรงเรียนของสำนักงานรับรองมาตรฐาน และประเมินคุณภาพการศึกษาด้วย
คำว่า “ตัวชี้วัด” นี่แหละที่เป็นปัญหาในการประเมินของกระทรวงศึกษา ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมหาวิทยาลัยวันนี้ เพราะส่วนใหญ่เป็นเรื่องของรายงานบนกระดาษ ไม่เกี่ยวกับด้านปฏิบัติจริง ๆ ทำให้คำว่า “ผลสัมฤทธิ์” กลายเป็นเรื่องตลกขบขัน เพราะไม่ได้วัดที่ผลผลิตคือคุณภาพของนักเรียนที่ออกมา แต่วัดว่าครูและอาจารย์ทั้งหลายได้เขียนรายงานตามฟอร์ม ที่กระทรวงศึกษาได้วางเอาไว้หรือไม่อย่างไรเท่านั้น
ยิ่งคำว่า “พลเมืองเป็นใหญ่” ยิ่งมี “ตัวชี้วัด” ได้ยาก เพราะหากเราไม่สามารถทำให้ครูและอาจารย์ปรับเปลี่ยนวิธีคิด เปิดทางให้นักเรียนและนักศึกษาสามารถแสดงความเห็นที่แตกต่าง หรือหากไม่มีการเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมและเทคโนโลยี คำว่า “ประชาธิปไตย” ในห้องเรียนก็เกิดขึ้นไม่ได้
เมื่อ “ประชาธิปไตย” ไม่เกิดในห้องเรียน จะสอนให้นักเรียนรู้ซึ้งถึงคำว่า “พลเมืองเป็นใหญ่” ก็ย่อมไร้ผล ไม่ว่าจะแต่งเพลงกี่เพลง เปิดให้ฟังวันละกี่ครั้งหรือตั้งค่า “ตัวชี้วัด” เป็นหลักเกณฑ์ใหม่อย่างเคร่งครัดขึงขังเพียงใดก็ตาม
เพลง “พลเมืองเป็นใหญ่” เปิดฟังก็เพลินดี
แต่ถ้าบังคับให้นักเรียนต้องฟังทุกเช้าก่อนเข้าห้องเรียน ก็เตรียมตอบคำถามว่า “ถ้าพลเมืองเป็นใหญ่จริง ทำไมต้องบังคับให้ฟังเพลงของผู้ใหญ่ด้วย?”