ความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์และบริการ

ความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์และบริการ

เมื่อคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ เรื่องสินค้าหรือบริการที่ธุรกิจนำเสนอ ถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญที่ธุรกิจจะต้องแสดงความรับผิดชอบ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องที่จะต้องเกี่ยวข้องกับสุขอนามัยและความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน

รวมไปถึงเรื่องของคำอธิบายสรรพคุณ วิธีการใช้งานที่ถูกต้อง ข้อควรระวังและวิธีการเก็บรักษาหลังการใช้งาน

และสำหรับการทำธุรกิจในยุคนี้ เรื่องของการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ไม่ชักนำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ ตลอดจนการไม่รบกวนความเป็นส่วนตัวหรือสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้บริโภคอันเนื่องมาจากการใช้สื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อดึงดูดความสนใจในสินค้าหรือบริการของตนเองเป็นเรื่องสำคัญ

ไม่ว่าจะเป็นสื่อในรูปแบบดั้งเดิม หรือสื่อสังคมในระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน

ธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม จะต้องให้ความสนใจในการนำเสนอสินค้าหรือบริการของตนเองตั้งแต่เริ่มต้นในกระบวนการออกแบบ ไปจนถึงการบริหารจัดการในการนำเสนอสินค้าหรือบริการนั้นๆ ต่อลูกค้า ผู้ใช้งาน หรือผู้บริโภคด้วยความระมัดระวังไม่ให้เกิดอัตรายต่อสุขภาพหรือความปลอดภัยที่คาดไม่ถึงที่อาจเกิดขึ้นได้

การบริหารจัดการตัวสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ในปัจจุบัน จะต้องมีการศึกษาและทดสอบตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ในเรื่องของความปลอดภัย ตั้งแต่การเลือกใช้วัตถุดิบ การผลิต การใช้งาน ตลอดจนถึง การกำจัดหรือทำลายหลังจากหมดอายุการใช้งานหรือเสื่อมสภาพการใช้งานไปแล้ว

ตัวอย่างเช่น การรับคืนบรรจุภัณฑ์หรือขวดแก้ว การรับคืนหรือการจัดให้มีบริเวณรับคืนสินค้าที่มีวัตถุอันตราย เช่น ถ่านไฟฉาย หลอดฟลูออเรสเซนต์ หรือชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้บริหารธุรกิจจะต้องกำหนดนโยบายและเป้าหมายดำเนินการของธุรกิจให้ครอบคลุมวัฏจักรชีวิตของสินค้าหรืออุปกรณ์การให้บริการแบบครบวงจร เพื่อให้แน่ใจว่า ธุรกิจจะมีวิธีดำเนินการและการปฏิบัติที่เป็นกิจลักษณะเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม จะเห็นได้ในเบื้องต้นจากการประกาศนโยบายและการแสดงความมุ่งมั่นของธุรกิจที่เปิดเผยต่อสาธารณชนโดยทั่วไป

เรื่องของการให้ข้อมูลประกอบเพื่อให้ผู้ใช้งานหรือผู้บริโภคได้รับทราบวิธีการใช้อย่างละเอียดและถูกต้อง ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะแสดงว่า ธุรกิจได้ให้ความสนใจในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและลูกค้าของตนได้อีกวิธีหนึ่ง

จะเห็นได้ว่า ในกรณีของสินค้าหลายชนิดที่จำเป็นจะต้องมีฉลาก หรือ การระบุข้อความเกี่ยวกับตัวสินค้าที่ต้องเป็นไปตามกฏหมายกำหนด เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

ดังนั้น การปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยเรื่องการให้ข้อมูลกำกับสินค้าหรือการให้บริการ จึงเป็นเรื่องที่ธุรกิจต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด และด้วยความสุจริตใจ ไม่คิดพลิกแพลงเพื่อหลบเลี่ยงการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายหรือข้อบังคับโดยจงใจ

ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น ธุรกิจอาจต้องริเริ่มปฏิบัติในมาตราการที่เข้มข้นมากกว่าที่กฎหมายกำหนดโดยเป็นการสมัครใจปฏิบัติเองในความพยายามที่จะไม่ทำให้สินค้าหรือบริการเกิดผลกระทบต่อสุขอนามัยและความปลอดภัยของผู้บริโภค การดำเนินการด้านการตลาด การโฆษณา การประชาสัมพันธ์ และการส่งเสริมการขาย ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะแสดงให้เห็นว่า ธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากน้อยเพียงใด

รวมไปถึงการสนับสนุนต่อกิจกรรมด้านสังคมต่างๆ เช่น ให้สปอนเซอร์ ให้การอุดหนุน หรือการเข้าร่วมกิจกรรม ในกรณีที่อาจขัดต่อจารีต ประเพณี และศีลธรรมอันดี ที่พึงยึดถือในสังคม ก็พึงระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เสียภาพลักษณ์ธุรกิจ
กระบวนการทางการตลาดต่างๆ สำหรับธุรกิจที่ต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม จึงควรได้รับการพิจารณาและทบทวนอย่างรอบคอบจากผู้บริหารระดับสูงขององค์กร หรือมีกลไกในการตรวจสอบภายในที่รัดกุม

เรื่องการไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค เป็นอีกมิติหนึ่งในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ

โดยเฉพาะธุรกิจที่มีส่วนในการเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภคเข้าไว้ในฐานข้อมูลของธุรกิจด้วยเหตุผลและความจำเป็นบางประการ เช่น ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขประจำตัวประชาชน สถานที่อยู่ ที่ทำงาน

เช่น ในกรณีของสถาบันการเงิน บริษัทประกันชีวิต หรือ การเข้าเป็นสมาชิกในห้างร้านหรือบริการต่างๆ จะต้องไม่นำข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านี้ไปขายหรือไปเผยแพร่ต่อบุคคลที่สาม

รวมไปถึง ข้อมูลการเดินทาง ตำแหน่งที่อยู่ปัจจุบัน หรือสถานที่ที่ไปแวะเยี่ยม และอีเมลของลูกค้า เป็นต้น ซึ่งอาจเป็นช่องทางที่ทำให้ลูกค้าถูกรบกวนจากบุคคลอื่นโดยไม่ต้องการ

ในส่วนต่อมาที่มีความสำคัญได้แก่ การให้ข้อมูลสำหรับลูกค้าหรือผู้บริโภคเพื่อติดต่อแจ้งเหตุกรณีที่ผลิตภัณฑ์หรือบริการมีปัญหา และการกำหนดกระบวนการต่อเนื่องในการกำจัดปัญหาและการบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจากการใช้สินค้าและบริการได้โดยสะดวก

นอกจากเรื่องของการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมผ่านนโยบายผลิตภัณฑ์และบริการที่ผู้บริหารธุรกิจจะต้องเป็นผู้กำหนดนโยบาย เป้าหมาย และการติดตามผลโดยตรงแล้ว ผู้บริหารยังจะต้องให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมให้พนักงานและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ได้เห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ด้วย

ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า พนักงานทุกคน จะได้ตระหนักและมองเห็นถึงความสำคัญของสังคมและผู้บริโภคที่ถื่อได้ว่าเป็นปลายทางของการใช้สินค้าหรือบริการ ที่ธุรกิจจะต้องแสดงความรับผิดชอบ โดยไม่ได้คำนึงถึงแต่รายได้และกำไรที่จะได้รับอย่างสูงสุดแต่เพียงอย่างเดียว

ธุรกิจยังจะต้องมีส่วนร่วมในการรักษาประโยชน์และความปลอดภัยให้กับลูกค้าและผู้บริโภคที่เป็นแหล่งสร้างรายได้ หรือ “หม้อข้าว” โดยตรงของธุรกิจอีกด้วย

ซึ่งก็หมายถึงชุมชนและสังคมโดยรวมนั่นเอง

สุดท้ายนี้ ก็ต้องขอถือโอกาสอวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกท่าน ประสบแต่ความสุขความสำเร็จตลอดปีใหม่ 2559 นี้ด้วยครับ