รัฐมนตรีต้อง ‘สุจริตเป็นที่ประจักษ์’

ข่าวบอกว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีมติว่าคณะรัฐมนตรีใหม่
จะมี 35 คนเท่าเดิม และให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เลือกตามสูตรเดิมของรัฐธรรมนูญปี 2550
แต่มีเงื่อนไขใหม่ว่าด้วยคุณสมบัติของรัฐมนตรี “ต้องเป็นผู้มีความสุจริตเป็นที่ประจักษ์และไม่มีปัญหาเรื่องจริยธรรม”
เป็นเกณฑ์ให้นายกฯ พิจารณาโดยยึดหลักการนี้เพื่อให้สังคมยอมรับ ไม่ให้เอานายปอนหรือคนไม่ดีเข้ามาบริหาร
นอกจากนี้ ในกรณีที่รัฐมนตรีถูกตรวจสอบพบว่าไม่สุจริต มีปัญหาด้านจริยธรรม ให้ผู้พบเห็นสามารถร้องเพื่อเข้าสู่กระบวนการให้พ้นจากตำแหน่งได้
เบื้องต้นยืนยันว่า กรธ. กำหนดให้ ส.ส. เป็นรัฐมนตรีได้โดยไม่ต้องลาออกจากตำแหน่ง
อีกข้อหนึ่งคือหลักการหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ ครม. มีความรับผิดชอบต่อสภาฯและการบริหารตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 35 กำหนดไว้
คือให้มีกลไกเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ไม่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง จนอาจก่อความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ และกลไกต่อการใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
ฟังดูแล้วก็อาจจะสร้างความแปลกใจสำหรับผู้พบเห็นไม่น้อย ที่จะต้องระบุในรัฐธรรมนูญว่าคนที่นายกฯ เลือกมาเป็นรัฐมนตรีต้องมีประวัติดี ไม่มีประวัติทุจริตและมีจริยธรรม
เพราะนั่นควรจะเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของคนที่นายกฯ จะเลือกมาทำงานทุกตำแหน่งอยู่แล้วมิใช่หรือ?
หรือที่ผ่านมาคนเป็นนายกฯ เลือกคนที่เข้าข่ายน่าสงสัยว่าจะมีประวัติไม่ดีไม่งาม และไม่ชัดเจนเรื่องจริยธรรมมาเป็นรัฐมนตรีบ่อย ๆ จนต้องเขียนสกัดคนอย่างนี้ไว้ในกฎหมายสูงสุดของประเทศ?
ถ้าอย่างนั้นก็ต้องเขียนเพิ่มเติมลงไปว่านายกฯ จะเลือกรัฐมนตรีคนไหนไปอยู่ประจำกระทรวงใด ก็จะต้องมีความรู้ความสามารถด้านนั้น เป็นที่ประจักษ์แก่สังคมด้วยจึงจะครบถ้วนสมบูรณ์
ข้อนี้มีเหตุผล เพราะที่ผ่านมาเราเห็นนักการเมืองได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีทั้ง ๆ ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ใด ๆ ที่เกี่ยวกับกระทรวงนั้นเลย แต่นายกฯเลือกให้เป็นเจ้ากระทรวงเพราะเหตุผลอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับความรู้ความสามารถ เช่นเป็นนายทุนของพรรคหรือเป็นการตอบแทนทางด้านการเมือง หรือเป็นการฝากฝังจากคนมีพระคุณต่อพรรค หรือตัวนายกฯ เองหรือไม่ก็เป็นเรื่องของ “สมบัติผลัดกันชม”
ส่วนเรื่องประวัติต้องไม่ด่างพร้อย ไม่มีเรื่องน่าสงสัยว่าด้วยจริยธรรมหรือผลประโยชน์ทับซ้อนนั้น ไม่เป็นประเด็นสำหรับนักการเมืองเลย หลายคนพอเอ่ยชื่อเท่านั้น ชาวบ้านก็ร้อง “ยี้” กันเซ็งแซ่ แต่ก็ไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจของนักเลือกตั้งที่มาเป็นนักการเมืองภายใต้ข้ออ้างว่าเป็นตัวแทนของประชาชน
เงื่อนไขใหม่ที่ว่ารัฐมนตรีต้องเป็นผู้ “มีความสุจริตเป็นที่ประจักษ์” นั้นน่าสนใจมาก เพราะผู้ที่นายกฯจะเสนอเป็นรัฐมนตรีนั้น จะต้องมีประวัติที่ประชาชนตรวจสอบได้ว่าสุจริต ที่ว่า “เป็นที่ประจักษ์” ย่อมหมายถึงความเห็นของสาธารณชนโดยส่วนรวม มิใช่เฉพาะของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
อีกทั้งหากประชาชนมีหลักฐานหรือข้อมูลเกี่ยวกับความประพฤติของใครที่ได้รับการเสนอชื่อ หรือได้ข้อมูลหลังจากได้เป็นรัฐมนตรีแล้ว ก็สามารถจะเสนอให้ดำเนินการตรวจสอบและประเมินคุณสมบัติกันใหม่
นี่ย่อมเป็นมาตรฐานปกติของประเทศที่เจริญแล้ว แต่หากจำเป็นต้องระบุเงื่อนไขเช่นนี้ในรัฐธรรมนูญ ก็แปลว่าเรายังไม่เชื่อว่านักการเมืองไทย ได้บรรลุมาตรฐานสากลอันควรจะเป็น และยังต้อง “ล้อมคอก” เอาไว้เพื่อป้องกันไม่ให้คนเลวคนชั่วคนโกงเข้ามาเป็นรัฐมนตรี... อย่างที่เคยเกิดมาแล้ว
แน่นอนว่าจะต้องมีผู้วิพากษ์ว่าไม่ว่าจะเขียนล้อมหน้าล้อมหลังไว้อย่างไร ความเป็น “ศรีธนญชัย” ของนักเลือกตั้งไทยก็ยังจะสามารถหาทางหลบหลีกเงื่อนไขต่าง ๆ เหล่านี้ได้
เพราะเราเคยได้ยินวลี “บกพร่องโดยสุจริต”
เราเคยได้ยินคำอธิบายว่า “ก็หาเสียงมาอย่างนี้ก็ต้องทำอย่างนี้” แม้นโยบายนั้นจะสร้างความเสียหายให้กับบ้านเมืองมากมายเพียงใดก็ตาม
หรือ “ท่านไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ท่านเพียงแต่ทำสิ่งที่กฎหมายห้ามทำเท่านั้น”!
จึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมคนร่างรัฐธรรมนูญของประเทศนี้ จึงต้องลงรายละเอียดถึงขั้นเขียนเรื่องที่บ้านเมืองอื่นถือเป็นมาตรฐานปกติ