บทบาทของจีนในเมียนมาร์

บทบาทของจีนในเมียนมาร์

เมียนมาร์มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์สำหรับจีน ทั้งด้านความมั่นคงทางพลังงาน วัตถุดิบจากทรัพยากรธรรมชาติ

 และการเป็นทางออกสู่มหาสมุทรอินเดีย ซึ่งลดความเสี่ยงที่ปัจจุบันจีนมีทางออกสู่ทะเลได้ โดยเฉพาะการนำเข้าทรัพยากรประเภทต่างๆ ซึ่งมีน้ำมันเป็นสำคัญ ที่นับวันจะต้องมีการเคลื่อนย้ายขนส่งมากขึ้นพร้อมๆ กับความเร็วของการพัฒนาเศรษฐกิจจีน

โครงการลงทุนที่สำคัญจีนในพม่า ได้แก่

โครงการแรก โครงการนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึกที่เมืองเจียวเพียว หรือจ้าวผิ่ว ภายใต้โครงการชื่อ Kyaukpyu Economic and Technical Development Zone and Deep Seaport ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของพม่าบริเวณอ่าวเบงกอลในทะเลอันดามัน โดยจากเมืองเจียวเพียวจะสามารถเชื่อมโยงกับมณฑลยูนนานของจีน โดยผ่านเมืองมัณฑะเลย์ (Mandalay) ต่อไปที่เมืองลาโช (Lachio) ไปจนถึงชายแดนพม่าที่เมืองมูเซ (Muse) ผ่านไปยังเมืองรุ่ยลี่ (Ruili) ในมณฑลยูนนานของจีน โดยท่าเรือนี้จะสามารถรองรับเรือบรรทุกน้ำมันได้ 300,000 ตัน มีเมืองนิคมอุตสาหกรรมที่ครบวงจรที่สนามบิน โรงงานปิโตรเคมี โรงงานถลุงเหล็ก

โครงการที่สอง โครงการก่อสร้างท่อส่งน้ำมันดิบ (Crude Oil Pipeline) โดยจะนำน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางและแอฟริกาขนส่งมาทางเรือมาที่ท่าเรือเจียวเพียว (ภาษาจีน) หรือจ้าวผิ่ว (Kyaukphyu) ภาษาพม่า แล้วขนส่งไปตามท่อที่จีนจะสร้างขึ้นในพม่า โดยมีแนวท่อเริ่มจากเมืองเจียวเพียว-มัณฑะเลย์-ลาโช-มูเซ-รุ่ยลี่ ของมณฑลยูนนานในจีน รวมระยะทางประมาณ 800 กิโลเมตร

โครงการที่สาม โครงการก่อสร้างท่อก๊าซธรรมชาติ (Gas Pipeline) วางแนวขนานไปกับท่อส่งน้ำมันดิบ ซึ่งจะขนส่งก๊าซธรรมชาติจากหลายแหล่งในพม่าบริเวณอ่าวเบงกอล

โครงการที่สี่ โครงการรถไฟเจียวเพียว-มูเซ เป็นเส้นทางขนส่งที่จะเป็นการเชื่อมโยงจีน-เมียนมาร์ โดยจะเชื่อมโยงจากชายแดน ติดมณฑลยูนนานของจีนมายังเมืองมูเซของเมียนมาร์ลงไปจนถึงปลายทางที่เมืองเจียวเพียว เมื่อออกทะเลอันดามันระยะทาง 997 กิโลเมตร โดยเส้นทางรถไฟจีน-เมียนมาร์ จะมี 2 แนวเส้น ได้แก่ เส้นแรกจากเมืองมัณฑะเลย์ ไปยังเนปิตอร์ (Naypyitaw) เมืองหลวงใหม่ของเมียนมาร์ เส้นที่สองจากมัณฑะเลย์มายังเมืองมาเกว (Magwae) ในพม่าโดยมีจุดหมายที่เมืองเจียวเพียวเมื่อออกทะเลอันดามัน

โครงการลงทุนขนาดใหญ่ต่างๆ ของจีน ที่เชื่อมโยงเมืองเจียวเพียวกับจีน ล้วนเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการออกสู่ทะเลอันดามัน ที่จะเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่จีนทั้งสิ้น

การมีรถไฟความเร็วสูง จะทำให้การขนส่งสินค้าจีนจากโรงงานที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ในมณฑลด้านในที่ไม่ติดทะเลของจีนส่งออกไปจำหน่ายยังแถบยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลางได้ ด้วยต้นทุนด้านโลจิสติกส์ที่ต่ำลง โดยผ่านเส้นทางนี้ออกสู่มหาสมุทรอินเดีย

สำหรับโครงการก่อสร้างท่อก๊าซและน้ำมัน เพื่อไปเชื่อมโยงภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ผ่านเมียนมาร์ไปยังอ่าวเบงกอล (Bay of Bengal) ซึ่งจากการสำรวจพบว่าแหล่งก๊าซของเมียนมาร์มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 10 ของโลกด้วยขนาดก๊าซสำรอง 10 ล้านล้านคิวบิคเมตร ซึ่งจะวิ่งผ่านมัณฑะเลย์ไปยังเมืองรุ่ยลี่มณฑลยูนนานก่อน โครงการนี้จะทำให้ย่นระยะทางมากกว่า 1,820 ไมล์ทะเล ในการเดินทางปัจจุบันจากตะวันออกกลางผ่านช่องแคบมะละกา มายังมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งมีการใช้พลังงานน้ำมันและก๊าซจำนวนมาก โครงการนี้จะทำให้เกิดการพัฒนาในโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมากต่อมณฑลยูนนานและจังหวัดต่างๆ ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน

ข้อมูลการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเมียนมาร์ กระทรวงข่าวสารของเมียนมาร์รายงานนับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2531/2532 จนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2557/2558 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 มีการลงทุนจากต่างประเทศรวม 44,160 ล้านดอลลาร์ โดยจีนเป็นนักลงทุนขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนรวม 14,700 ล้านดอลลาร์ โดยมีสัดส่วนต่อการลงทุนโดยตรงทั้งหมดสูงถึงร้อยละ 33.29

นับวันบทบาทของจีนจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศต่างในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งนับเป็นทั้งผลประโยชน์และต้นทุนที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ต่อไปในอนาคต

---------------------

รศ.ศิริพร สัจจานันท์

นักวิจัยฝ่ายชุมชนและสังคม สกว.