ธุรกิจยักษ์ จะร่วมปฏิรูปการศึกษาจริงหรือ?

การพบปะเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับผู้นำธุรกิจระดับยักษ์
ของไทย 24 ท่านพูดกันหลายประเด็น แต่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือเรื่อง การยกระดับ“คุณภาพการศึกษา” ของประเทศ
และข้อเสนอของฝ่ายผู้นำเอกชน ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษา
ตามข่าว ธุรกิจหลายกลุ่มเสนอรับนักศึกษาฝึกงาน และผลิตบุคลากรเพื่อป้อนอุตสาหกรรม
อีกบางคนบอกว่า จะเป็น “หุ้นส่วน” กับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการทำให้การศึกษาของไทยก้าวสู่ยุคนวัตกรรมอย่างจริงจัง
และเพื่อจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าไทยด้วย innovation, research กับ design
ห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ เสนอจะเอาสินค้าของธุรกิจเอสเอ็มอีมาขึ้นห้างให้
ผมไม่แน่ใจว่าจะมีการติดตามเรื่องนี้อย่างไร เพราะแม้จะมีการตั้ง steering committee เพื่อประสานงานต่อเนื่อง แต่หากเป็นไปอย่างที่เคยเป็นมา ข้อเสนอและความเห็นต่าง ๆ เหล่านี้ก็จะสลายหายไปเหมือนสายลมที่พัดมาแล้วก็พัดไป
กลัวกันว่าการพบปะอย่างนี้จะเป็นเพียง “กิจกรรม” เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดีสำหรับผู้นำประเทศและแกนนำภาคเอกชนเท่านั้น เรียกว่าเป็นเพียงการจัด event ให้เกิดที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ไม่มีการบันทึกรายละเอียดของการแลกเปลี่ยน และข้อตกลงที่ภาคเอกชนจะกระโดดเข้ามาทำอะไรที่ไม่เคยทำ หรือที่ทำมาแล้วแต่ไปไม่ถึงไหน
ไม่ต้องสงสัยว่า “คุณภาพการศึกษา” เป็นความสำคัญของประเทศชาติอย่างไร แม้ทุกคนจะเห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องทำอะไรจริงจังเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา แต่ในทางปฏิบัติดูเหมือนจะเดินชนทางตัน จนไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นสาระแต่อย่างไร
หากเอกชนที่มีศักยภาพทางด้านเงินทองมากมายจะทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง ก็ควรต้องมีมาตรการชัดเจนที่จะทำให้ระบบการศึกษาของไทย มีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาด และความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่รัฐบาลหรือข้าราชการจะตามได้ทัน
แต่ที่ผ่านมาเอกชนยังไม่สามารถรวมตัวกันเป็นหนึ่ง เพื่อผลักดันให้มีการปรับปรุงคุณภาพของการศึกษาอย่างจริงจัง หรือหากจะมีก็เป็นเพียงการทำเฉพาะที่ตนได้ประโยชน์ในระยะสั้น ไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ปัญหาเรื่องการศึกษาอย่างแท้จริง
เพียงแค่การให้ทุนการศึกษา หรือการรับนักศึกษาไปฝึกงานคงไม่เพียงพอ ที่จะกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวอย่างแท้จริง ในการแก้ปัญหาความอ่อนเปลี้ยเพลียแรงของระบบการศึกษาไทย
การยกเครื่องระบบการศึกษาทั้งหมด และบริหารระบบการศึกษาให้ตรงกับเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์ของชาติ ยังต้องพุ่งไปที่การสร้าง “คนดี” เพื่อรับใช้สังคม และปรับแก้ทัศนคติให้เลิกคิดอย่าง “ตัวใครตัวมัน” และให้คิดถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ เป็นเรื่องที่ภาคเอกชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่
เรื่องนี้เกิดขึ้นไม่ได้จากการหวังว่าฝ่ายการเมืองหรือข้าราชการประจำ จะเป็นผู้เสนอให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเพราะพฤติกรรม “หวงอำนาจ” และ “ปกป้องประโยชน์เฉพาะกลุ่ม” มีอยู่สูงเกินกว่าที่เอกชนจะสามารถเจาะผ่านเข้าไปได้
เมื่อผู้นำเอกชนระดับชาติมารวมตัวกัน เพื่อนั่งลงจับเข่าเปิดอกคุยกับนายกฯ ในเรื่องการศึกษาแล้ว ก็หวังว่าเราจะเห็นการเดินหน้าต่อในเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม
เพราะหากคุณภาพการศึกษาไทยยังย่ำอยู่กับที่อย่างที่เราเห็นกัน ยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจของเราก็จะไม่อาจรักษาแชมป์ของตัวเองได้อีกนาน โดยเฉพาะเมื่อจะต้องเผชิญกับการแข่งขันจากข้างนอก ที่กำลังจะถาโถมเข้ามาในประเทศในขณะนี้