ทุกความเห็นประชาชนมีค่า

เปิดเวทีรับฟังความเห็นประชาชน สำหรับเนื้อหาสาระสำคัญ ในร่างรัฐธรรมนูญไปแล้ว
ทั้งที่ภาคเหนือ และภาคใต้ คือที่เชียงรายกับสงขลา คิวต่อไปก่อนจะสิ้นปี 2558 ยังเหลือเวทีภาคอีสาน ที่อุบลราชธานี และในกรุงเทพมหานคร ที่ประมาณว่าเป็นพื้นที่“ตัวแทน”คนภาคกลาง
000 เท่านี้ก็พอจะ “เรียก” ได้ว่าเป็นการเดินสายรับฟังความเห็นของประชาชน “ทั้งประเทศ” เพราะในการลงพื้นที่แต่ละครั้ง มีการจัดตัวแทนจากกลุ่มจังหวัดโดยรอบมาร่วมแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม “ระดมความคิดเห็น"ด้วย
000 จากนี้ไปถ้าจะให้“ชัดเจน” ต้องสรุปและประมวลออกมาอย่างเป็นทางการ ว่าข้อคิด-ความเห็นของพี่น้องประชาชนในแต่ละพื้นที่ มีความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร แจกแจงออกมาให้เห็นเป็นประเด็นเรียงลำดับ 1 2 3....4
000 ดีกว่าเพียงการทำเป็น“สัญญลักษณ์” แล้วก็กลับไปเดินหน้าร่างรัฐธรรมนูญกันอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมตามเดิม... อย่างน้อยชาวบ้านที่มาร่วมแสดงความเห็นจะได้มั่นใจ ว่าสิ่งที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. รับเอาไปถูกต้องตรงตามความต้องการที่แท้จริง
000 และขณะเดียวกันคนที่“เห็นต่าง” ก็จะได้เข้าใจในความเห็นของ“คนส่วนใหญ่” รวมทั้งจะได้ป้องกันไม่ให้เกิดข้อครหาแบบเดียวกันการ “ร่างรธน.” ครั้งที่ผ่านมา ที่มีความสร้างความเข้าใจว่าร่างรัฐธรรมนูญมี“พิมพ์เขียว” และการสำรวจความคิดเห็นและการทำประชามติเป็นเพียงแค่“พิธีกรรม”
000 เช่นเดียวกับที่...ธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย ประธานอนุกรรมการรับฟังและสรุปความคิดเห็น เรียกหารือไปเมื่อวาน (3 ธ.ค.) เพื่อวางแนวทางเปิดรับฟังความเห็นแบบเฉพาะกลุ่มเพิ่มเติม อย่างเช่น ในกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา กลุ่มแรงงาน กลุ่มท้องถิ่น กลุ่มข้าราชการ กลุ่มองค์กรวิชาชีพ ฯลฯ
000 เพื่อนำความเห็นไปประกอบการพิจารณาทำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่...ที่จะต้องมีความชัดเจนไม่ต่างกัน ว่ามีการเสนอความเห็นในประเด็นใดบ้าง มากน้อยอย่างไร เห็นเหมือนหรือเห็นต่างกันในประเด็นใดบ้าง
000 รวมทั้งข้อ“กังวล”ของเสียงส่วนน้อย ก็สามารถบันทึกเป็น “ข้อสังเกตุ” เสนอให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ “ชุดใหญ่” ประกอบการพิจารณาได้ จะได้เกิดความครบถ้วน รอบด้านและหลากหลายมุมมอง...ดีกว่าที่จะ“ละทิ้ง”ไปเปล่าๆ
000 แต่...ที่น่าเป็นห่วงก็คือเวทีรับฟังความเห็นประชาชนมีเวลาจำกัด คือมีเวลาจนถึงสิ้นปี 2558 นี้เท่านั้น หลังจากนั้นจะต้องเข้าสู่การจัดทำบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบ จากนั้นก็จะมีเวลาอีกเพียงเล็กน้อยในการรับฟังข้อติติงและนำมาปรับปรุงครั้งสุดท้ายก่อนที่จะมีการทำ“ประชามติ”
000 แน่นอนว่า“เสียงสะท้อน” หลายความเห็นจะไม่สามารถนำมาเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญได้ทั้งหมด... แต่ความเห็นที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาและความต้องการของประชาชน กรธ. ภายใต้การนำทีมของ อ.มีชัย ฤชุพันธ์ จะต้องนำมาเป็นฐานพิจารณาเพื่อเขียนเป็นแนวทางปฏิบัติหรือนำไปสู่การแก้ปัญหาต่อไป
“วันพระราชทานรัฐธรรมนูญ” 10 ธ.ค.นี้ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เชิญชวนส่วนราชการ หน่วยงาน สถาบันการศึกษา พรรคการเมือง และประชาชนทั่วไป นำพานประดับพุ่มดอกไม้ ถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่หน้าอาคารรัฐสภา ตั้งแต่ 8.30 น.เป็นต้นไป สอบถาม 02-224-1051