ว่าด้วยการทูตแบบ ได้เพื่อน-เสียเพื่อน

เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย กลิน เดวีส์ บอกว่า
สหรัฐไม่ได้ “เสียเพื่อนไทย” ให้กับจีน
“We haven’t lost Thailand to China.”
ประโยคนี้มีความหมายทางการทูตที่น่าวิเคราะห์อย่างยิ่ง
วันที่ทูตสหรัฐเปิดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีคำถามมากมายจากนักข่าว เกี่ยวกับความเห็นของคุณเดวีส์ ว่าด้วยความสัมพันธ์ของวอชิงตันกับประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรา 112 หรือการกลับสู่กระบวนการเลือกตั้งของไทย รวมถึงความไม่พอใจของคนไทยบางกลุ่ม ที่ไม่เห็นด้วยกับท่าทีบางอย่างของตัวแทนจากวอชิงตัน
แต่ที่น่าวิเคราะห์ไม่น้อยคือประเด็นความสัมพันธ์ของไทยกับสหรัฐและจีน โดยเฉพาะหลังรัฐประหารเมื่อปีก่อน
คำตอบของทูตเดวีส์เรื่องนี้เต็มประโยคคือ
“I don’t spend a lot of time, I don’t spend any time, saying to Washington here’s how we get Thailand back. We haven’t lost Thailand….I think it is a good thing for Thailand to have a good relationship with China.”
ซึ่งแปลว่าทูตสหรัฐคนนี้ยืนยันว่าในการทำงานตามหน้าที่ของตนในเมืองไทยนั้น เขาไม่ใช้เวลาเพื่อจะรายงานกลับไปวอชิงตันว่านี่คือแผนสำหรับการ “ทำอย่างไรจึงจะทำให้ไทยกลับมาเป็นเพื่อน”
เหตุผลก็เพราะเขาเชื่อว่าอเมริกาไม่ได้ “เสียเพื่อนไทย” ไปแต่อย่างใด
อีกทั้งยังเสริมว่าในความเห็นทางการของเขา กลับเห็นว่าการที่ไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศจีน “เป็นเรื่องที่ดี” ด้วยซ้ำไป
ก่อนหน้าที่ทูตสหรัฐเปิดแถลงข่าวหนึ่งวัน กองทัพอากาศไทยกับจีนมีการฝึกซ้อมร่วมกันอย่างคึกคักเป็นครั้งแรก แสดงถึงการกระชับความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างสองประเทศ ในระดับใกล้ชิดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
แปลว่าแม้ไทยจะยังมีการซ้อมรบกับสหรัฐในรูปของ Cobra Gold แต่ไทยก็เริ่มขยายกิจกรรมด้านความร่วมมือทางทหารกับจีนอย่างไม่ละลด สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงใน “ดุลถ่วง” ระหว่างไทยกับมหาอำนาจซึ่งรวมไปถึงรัสเซียและญี่ปุ่นด้วยอีกด้านหนึ่ง
จุดยืนทางการของสหรัฐตามที่ทูตเดวีส์ยืนยันคืออเมริกายังถือว่าไทยเป็นเพื่อน การที่จีนมาใกล้ชิดสนิทสนมกับไทยมากขึ้น ในช่วงหลังนี้ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจหรือทางทหาร ก็มิได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตันกับกรุงเทพฯลดน้อยถอยลงถึงขั้น “เสียเพื่อนไทย” ไปแต่อย่างไร
ทูตบอกว่าเมื่อไม่ได้เสียเพื่อนไทย ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องคิดหาวิธีการ ที่จะได้เพื่อนไทยกลับมาเป็นของสหรัฐ
แต่ในแวดวงนักวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศ ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความห่างเหินระหว่างสหรัฐกับไทย ที่ชัดเจนหลังรัฐประหาร และชี้ไปที่ความใกล้ชิด ระหว่างไทยกับจีนมากขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้
แต่การทูตระหว่างประเทศไม่ใช่ Zero Sum Game อันหมายความว่าไม่ใช่ว่าใครได้ก็ได้หมด และใครเสียก็เสียหมด เพราะไม่ใช่การพนันลักษณะ “ทุ่มหมดหน้าตัก”
การทูตสากลไม่ใช่เรื่องขาวกับดำเสมอไป ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องสีเทา ๆ และท้ายที่สุดก็คือการรักษาผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก ไม่มีใครยอมเสียเปรียบใคร
ดังนั้นการสร้างอำนาจต่อรองของประเทศขนาดเศรษฐกิจ และศักยภาพทางความมั่นคงเล็กกว่า จึงเป็นหัวใจของการกำหนดวิเทโศบายแห่งการทูต
ผมก็เชื่อว่าไทยไม่ต้องการจะ “เสียเพื่อนอเมริกัน” ไปในจังหวะที่มีความเห็นแตกต่างกันใน “วิธีการ” แก้ปัญหาของประเทศ ขณะเดียวกันก็ต้องการจะ “กระชับมิตรกับเพื่อนเก่าจีน” ในแนวทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อกันและกันที่ผู้นำจีนมักจะเน้นว่าต้องเป็นลักษณะ “win-win” ซึ่งหมายถึงว่าทุกฝ่ายต้องชนะในการไปมาหาสู่กันอย่างคึกคักขึ้น
ในภาวะของการเมืองระหว่างประเทศที่ต้องพึ่งพากันในทุก ๆ ด้านนั้น ไทยต้องรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์ฉันมิตรกับทั้งสหรัฐและจีนด้วยการ “บริหารความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์”
เพราะไม่ใช่แต่เพียงไทยกับสหรัฐเท่านั้นที่มีความเห็นไม่ตรงกันในบางเรื่อง ไทยกับจีนก็ย่อมจะต้องมีเรื่องที่เห็นต่างกันได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติเมื่อทุกประเทศต้องปกป้องผลประโยชน์ของตนเป็นหลัก
ท้ายที่สุด ความสามารถทางการทูตก็คือการ “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” อย่างมีเหตุมีผล รักษาผลประโยชน์ของชาติอย่างเข้มแข็ง ขณะเดียวกันก็เคารพในสิทธิของเพื่อน ที่จะรักษาผลประโยชน์ของเขาเช่นกัน
คำว่า “เสียเพื่อน” กับ “ได้เพื่อน” จึงอยู่ที่ฝีมือการทูตของแต่ละชาติเช่นนี้เอง