ความยุติธรรม ความเป็นธรรม และอำนาจ

ความยุติธรรม ความเป็นธรรม และอำนาจ

ในช่วงหลังๆ มานี้ผมรู้สึกว่าสังคมไทยกำลังมีปัญหากับคำว่า “ความยุติธรรม”

แน่นอนนะครับว่าอาจจะเป็นผมคนเดียวก็ได้ที่รู้สึกสับสนกับความหมายของคำนี้ ท่านอื่นๆ ในสังคมอาจจะเข้าใจชัดเจนแล้ว ความที่จะกล่าวต่อไปนี้จึงเป็นความคิดเห็นของคนที่ยังสับสนอยู่นะครับ ใครเข้าใจชัดเจนแล้ว เปิดผ่านไปเลยครับ

คำว่า "ความยุติธรรม" แปลตามตัวอักษรได้ว่า ถูกต้องตามหลักธรรมปัญหาหรือความขัดแย้งต่างๆ ย่อมยุติได้ด้วย “ธรรม” คำว่า “ธรรม” ในช่วงก่อนรัฐจารีตจะมีความหมายที่เข้าใจได้ง่าย เพราะวางอยู่บนสองกรอบพื้นฐาน ได้แก่ ความเชื่อทางศาสนาพุทธ และความเชื่อที่สอดคล้องกันไปว่า “ธรรม” คือ “ธรรมชาติ” หากผู้มีอำนาจหรือใครก็ตามที่ทำอะไรที่ไม่ยุติธรรมหรือไม่สอดคล้องกับ “ธรรมชาติ” ก็ย่อมประสบภัยพิบัติเอง กษัตริย์รัฐจารีตในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดที่นับถือศาสนาพุทธ จึงต้องแสดงตนเองว่าได้ปฏิบัติตามหลักศาสนาอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด 

ผู้ที่จะใช้อำนาจในการตัดสินความยุติธรรม จึงได้แก่ผู้ที่แสดงตนว่าได้กระทำการต่างๆ ตามครรลองของ “ธรรม” และ “ธรรมชาติ”  (ตรงนี้ คือการตกทอดมาสู่ปัญหาการเมืองไทยปัจจุบันที่ “คนดี-มีธรรม” ต้องการอำนาจในการตัดสิน “ความยุติธรรม” จะขอเก็บเอาไว้กล่าวในคราวหน้าครับ)

เมื่อเกิดรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กฎหมายสมัยใหม่ที่มีลักษณะของการตัดสินคดีต่างๆ ได้เข้ามาแทนที่กรอบความคิดเดิมนี้ได้ในระดับหนึ่ง ด้วยการเสนอว่า การบังคับใช้อำนาจรัฐเป็นเรื่องสากล และสังคมต้องเป็นไปตามตัวบทกฎหมายที่บัญญัติขึ้นมา คำปรารภของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ความว่า

“กฎหมายนั้นคือคำสั่งของผู้ปกครอง...เราต้องระวังอย่าคิดเอากฎหมายไปปนกับความดี ความชั่ว ฤาความยุติธรรม กฎหมายเป็นคำสั่ง เป็นแบบที่เราจะต้องปฏิบัติตาม แต่กฎหมายนั้นบางทีก็ชั่วได้ ฤาไม่เป็นยุติธรรมก็ได้” แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการเข้ามาทดแทนความยุติธรรมแบบเดิมด้วยกฎหมาย

แต่ขณะเดียวกัน ที่กล่าวว่าความคิดที่ว่ากฎหมายคือคำสั่งของผู้ปกครองที่ “บางทีก็ชั่วได้” เข้ามาทดแทนความคิดเดิมได้ในระดับหนึ่ง ก็เพราะว่าชนชั้นนำในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม ได้พยายามที่จะเชื่อมต่อผู้ใช้อำนาจในกระบวนยุติธรรม เข้ากับศีลธรรมของพุทธศาสนาและ “จริยธรรม” ของสังคมไทยตลอดมา  ไม่ว่าจะเป็นความพยายามกำกับผู้ใช้อำนาจทางกฎหมายด้วยการสอนศาสนา หรือการกำกับด้วยกรอบคิดความเมตตาลักษณะ “ผู้ใหญ่-ผู้น้อย” ในวัฒนธรรมมูลนายไพร่แบบเดิมของสังคมไทย 

ที่สำคัญ รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้เปิดช่องทางในการบรรเทาความขัดแย้ง ระหว่างกฎหมายกับ “ความดี ความชั่ว ฤาความยุติธรรม” ด้วยการเปิดการถวายฎีกาต่อองค์อธิปัตย์รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่อย่างไรก็ตาม กลไกของการพิทักษ์รักษา "ความยุติธรรม" ตามกฎหมาย ก็ยังคงกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มคนที่ถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายกลุ่มเดียว

ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยนับตั้งแต่ทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา ได้สร้างคนกลุ่มใหม่ที่ต้องการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมในลักษณะใหม่ เพราะว่าชีวิตของคนกลุ่มนี้เผชิญปัญหากับกฎหมายของรัฐมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการประกอบอาชีพที่ต้องเผชิญกับอำนาจรัฐทุกระดับ หรือในชีวิตประจำวันที่ต้องอยู่ร่วมกับอำนาจรัฐทุกมิติ

ในด้านหนึ่ง คนกลุ่มใหม่นี้ก็ได้ดึงเอาคุณลักษณะของวัฒนธรรมไทย เข้ามาแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์กับอำนาจรัฐ ด้วยการสร้างและพัฒนาระบบอุปถัมภ์ ให้ขยายไปทุกมิติของความสัมพันธ์กับอำนาจรัฐ กล่าวได้ว่า ช่วงเวลานี้เป็นการเริ่มต้นที่ระบบอุปถัมภ์แบบที่เรารู้จักนี้ ได้เกิดขึ้นและเริ่มฝังรากลึกลงในเนื้อสังคมไทย   แต่คนทั่วไปมักจะคิดว่าเป็นมรดกจากรัฐจารีต (ระบบมูลนาย) และรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (ระบบชาติวุฒิ) ซึ่งหากคิดย้อนไปไกลขนาดนั้น ก็มักจะคิดหาทางออกไม่ได้ เพราะมองไม่เห็นปัญหาจริงๆ (ผมคิดว่าโคตรตลกเลย ที่คนมักจะโยนความผิดพลาดอะไรที่เกิดขึ้นในปัจจุบันให้ไปไกลมากเกินไปแบบนี้)

ในอีกด้านหนึ่ง คนในกลุ่มนี้จำนวนหนึ่งก็ได้สร้างความคิดใหม่ในการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจนี้ ได้แก่ ความคิดเรื่อง “ความเป็นธรรม” อันมีความหมายเน้นถึงความเสมอภาคที่คนทุกคน ทุกกลุ่มในสังคมไทยต้องได้รับอย่าง “เท่าเทียม” กัน อาจจะกล่าวได้ว่าความคิดเรื่อง “ความเป็นธรรม” เริ่มก่อหวอดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 แล้ว แต่ได้ตกผลึกชัดเจนหลังจากที่เกิดคนทำงานด้วยทักษะเฉพาะด้านในสังคมมากขึ้นหลังทศวรรษ 2500 (ประเด็นนี้ ก็ขอติดไว้ก่อนนะครับ )

ความคิดเรื่อง “ความเป็นธรรม” ได้ขยายตัวมากขึ้นตามลำดับในปัจจุบัน ชาวบ้านในท้องถิ่นชนบทที่เดิมเคยยอมรับผลการตัดสินของกฎหมายอย่างดุษฎี ก็เริ่มตั้งคำถามย้อนกลับกับการใช้กฎหมายว่า “ไม่เป็นธรรม” เช่น กรณีคนรวยยึดที่ป่า คนจนถูกไล่ออกจากป่าที่ทำกิน การเคลื่อนไหวทางการเมืองในระยะหลังที่เน้นถึง “สองมาตรฐาน” ก็คือการมองเน้นถึงเรื่อง “ความเป็นธรรม” นั่นเอง

กระบวนการทางความคิดนี้ ได้ทำให้เกิดการแยกกันระหว่าง “ความยุติธรรม” กับ “ความเป็นธรรม” ความยุติธรรมถูกมองว่าเป็นกระบวนการที่มาจากทางรัฐ ส่วน “ความเป็นธรรม” เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องเรียกร้องและต่อสู้เพื่อจะได้มา และการเรียกร้องและต่อสู้นี้ หากสำเร็จก็จะทำให้ “ความเป็นธรรม” ในเรื่องนั้นๆประทับหรือทำให้ถูกต้องด้วยกระบวนการของความยุติธรรม (ซึ่งมีไม่มากนัก) 

การที่สังคมแยกการมองแตกต่างกันระหว่าง “ความยุติธรรม” กับ “ความเป็นธรรม” ทำให้นำไปสู่การมองลึกลงไปถึง “อำนาจ” ที่ใช้ในกระบวนการ “ความยุติธรรม” และ “ความเป็นธรรม” คำถามมากมายที่มีต่อ “อำนาจ” และผู้ใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรม ล้วนแล้วแต่มีมาจากความแตกต่างของกรอบคิดของสังคมในสองลักษณะนี้

ในวันนี้คนจำนวนมากในสังคมไทยกำลังพยายามทำให้ “ความยุติธรรม” กับ “ความเป็นธรรม” เป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาถึงการปรับแก้ไขในส่วนของ “อำนาจ” ที่พิทักษ์หลักการความยุติธรรมที่มีมานาน แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ ไม่ทราบได้ คงต้องหวังว่าชนชั้นนำทุกกลุ่มในสังคมไทย จะมองเห็นความแตกต่างนี้ และร่วมผลักดันไปพร้อมๆ กับชาวประชาชนทั้งหมด เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว ความแตกต่างทางความคิดนี้ ก็จะสั่นคลอนสถานะของชนชั้นสูง หากยังอยากรักษาสถานะชนชั้นสูงต่อไป ทางเดียวก็คือทำให้ทั้งสองความคิดนี้กลืนกันเป็นชุดเดียวกัน

สำหรับประชาชนผู้รัก “ความเป็นธรรม” ก็คงต้องเลือกหนทางการต่อสู้/ต่อรองที่หลากหลายที่ทำให้คนทุกกลุ่มในสังคมไทยมองเห็นปัญหาร่วมกันนี้ให้ได้ การหวังพึ่ง “ผู้นำ” ให้กระทำการแทนเรานั้นเป็นไปไม่ได้ครับ