ฤาจะหมดยุคทำโพลล์เลือกตั้งแล้ว?

ฤาจะหมดยุคทำโพลล์เลือกตั้งแล้ว?

พาดหัวนี้กลายเป็นบทเรียนประวัติศาสตร์ สำหรับทั้งสื่อสารมวลชน และคนทำโพลล์การเมือง

 ที่พลาดพลั้งเผลอเรอหน้าแตกหมอไม่รับเย็บกันเต็ม ๆ

พาดหัวใหญ่หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ Chicago Tribune เช้าวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ.1948 บอกว่า เดวีชนะทรูแมน

คนที่ถือหนังสือพิมพ์หัวเราะร่วนคือ ประธานาธิบดีแฮรี่ ทรูแมน เพราะแกเป็นคนชนะเลือกตั้ง และผู้ท้าชิงคือ โทมัส เดวี จากพรรครีพับบลิกัน ซึ่งเป็นคนแพ้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนั้น

  แปลว่าพาดหัวนี้ตรงกันข้ามกับผลการเลือกตั้งโดยสิ้นเชิง

ที่หนังสือพิมพ์ฉบับนี้พาดหัวผิดอย่างรุนแรงเช่นนี้ โพลล์ส่วนใหญ่พยากรณ์ว่าทรูแมนจะแพ้เลือกตั้ง แต่ผลการนับคะแนนจริงกลับหักปากกาเซียนและนักทำโพลล์ทั้งหลายโดยสิ้นเชิง

เรื่องเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับการเลือกตั้งของอังกฤษ ที่เพิ่งเสร็จไปเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาเหมือนกัน

โพลล์ทั้งหลายบอกมาหลายสัปดาห์ก่อนวันหย่อนบัตรว่า ผลการเลือกตั้งจะสูสีคู่คี่ และโอกาสแพ้ชนะของนายกฯเดวิด คาเมรอน กับผู้นำฝ่ายค้านคือเอ็ด มิลิแบนด์ มีเท่า ๆ กัน

อีกทั้งโพลล์ทั้งหลายก็ยังบอกว่า จะไม่มีพรรคไหนได้เสียงเกินครึ่ง จึงจะต้องเป็นรัฐบาลเสียงส่วนน้อย

แม้วันเลือกตั้งการสำรวจคะแนนหน้าคูหาเลือกตั้งที่เรียกว่า Exit Poll ที่เคยแม่นยำมาตลอดก็ยังพลาดพลั้ง ทำนายผิดว่าพรรค Conservative ของนายกฯคาเมรอน จะได้ไม่ถึงครึ่ง ไม่สามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียว

ที่ไหนได้ พอนับคะแนนจริง พรรค Conservative กลับได้ที่นั่งเกินครึ่งอย่างสบาย ๆ และพรรค Labour ได้น้อยกว่าที่โพลล์ทั้งหลายทำนายไว้มากทีเดียว

โพลล์ส่วนใหญ่ทำนายก่อนวันเลือกตั้งว่าพรรค Conservative จะได้ 278 ที่นั่งขณะที่ Labour จะได้ 267

  แต่ผลนับคะแนนจริงออกมาให้ Conservative 331 จากที่นั่งทั้งหมด 650 ขณะที่ Labour ได้เพียง 232

ความผิดพลาดครั้งนี้ต้องถือว่าใหญ่หลวงมาก เพราะหากเป็นไปตามโพลล์ จะไม่มีพรรคไหนได้เสียงเกินครึ่ง ต้องเป็นรัฐบาลผสม ซึ่งอาจจะเป็นนายกฯคนเดิม หรือผู้นำฝ่ายค้านอาจรวมกับพรรคอื่นตั้งรัฐบาลได้

แต่ผลออกมากลายเป็นว่า พรรค Conservative มีเสียงเกินครึ่งสบาย ๆ ตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ และนายกฯเดวิด คาเมรอน ก็กลับมาเหมือนเดิม

ทำให้เกิดคำถามว่าในยุคเทคโนโลยีที่มีมือถือเป็นอุปกรณ์หลักของการสื่อสาร และการเข้าถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วยวิธีการเก่า ๆ ไม่ง่ายเหมือนเดิม

อีกทั้งความแปลกแยกของจุดยืนทางการเมืองที่ไม่ดำขาวเหมือนแต่ก่อน

การทำนายผลการเลือกตั้งด้วยวิธีการสำรวจความเห็นหรือโพลล์แบบเดิม ๆ อาจจะหมดความหมายเพราะจะไม่มีใครเชื่ออีกต่อไป

โพลล์ทำนองเดียวกันนี้ในการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศไทยก็เกิดความคลาดเคลื่อนอย่างมีนัยสำคัญ แต่ละสำนักออกมาผิดจากผลนับคะแนนจริงอย่างมาก

ถามว่าสาเหตุจริง ๆ ของความผิดพลาดเกิดจากอะไร?

เหตุผลมีหลายประการ ข้อแรกที่ต้องถามคือคนที่ถูกถามความเห็นไม่บอกความจริงใช่หรือไม่? หรือจงใจจะโกหก? หรือกลัวความลับส่วนตัวจะถูกเปิดเผย? หรือตอนแรกตอบไปตามความเป็นจริง แต่มาเปลี่ยนใจก่อนเข้าคูหาเลือกตั้งในนาทีสุดท้าย?

อีกเหตุผลหนึ่งอาจจะเพราะคนทั่วไปใช้โทรศัพท์แบบแลนด์ลายน์เก่า ๆ น้อยลงตามลำดับ จึงทำให้การสอบถามความเห็นทางโทรศัพท์แบบเดิมไม่สะท้อนความเป็นจริง

หรือการทำโพลล์ทางอินเตอร์เน็ตผิดพลาด เพราะตัวอย่างของคนสอบถามความเห็นมาจากคนกลุ่มเดียวเท่านั้น?

คำแก้ตัวของสำนักโพลล์ดังอย่าง YouGov อ้างอย่างนี้

“ทุกบริษัทที่ทำโพลล์ย่อมมีความผิดพลาดได้เสมอ ทุก 10 หรือ 20 ปีทุกสำนักโพลล์อาจจะผิดพร้อม ๆ กันได้ เหตุการณ์ครั้งนี้ดูเหมือนจะเข้าข่ายเช่นนั้น”

เป็นคำอธิบายที่ยั่วให้เกิดคำถามมากขึ้นกว่าเดิม เพราะไม่มีคำอธิบาย

และเพียงแค่บอกว่า “พรรครัฐบาลทำได้ดีเกินความคาดหมาย และพรรคฝ่ายค้านทำได้แย่กว่าที่ผู้คนคาดคิด” ก็คงไม่ใช่คำตอบที่น่าพอใจแต่อย่างใดเช่นกัน

หรือถ้าหากอ้างว่าคนที่เปลี่ยนใจนาทีสุดท้ายมีจำนวนมากพอ ที่จะทำให้การพยากรณ์ของสำนักโพลล์ทั้งหลายหลุดโลกไปเลย ก็ยังเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงกันไม่น้อยทีเดียว

สำนักโพลล์ในประเทศไทยน่าจะวิเคราะห์ปัญหานี้ให้กระจ่าง ก่อนที่จะรับความท้าทายของการอาสาพยากรณ์การเลือกตั้งครั้งต่อไป

เพราะถ้าหากเกิดความผิดพลาดเช่นนี้ขึ้นอีก ผู้คนก็จะบอกว่าเลิกทำนายเถิด เพราะมันจะกลายเป็นเรื่องตลก มากกว่าการสร้างความเข้าใจกับการเมืองระดับชาติ