เมื่อพม่าหยุดจ่ายก๊าซ... ไทยต้องทำอะไร

เมื่อพม่าหยุดจ่ายก๊าซ... ไทยต้องทำอะไร

ด้วยเหตุที่ปริมาณความต้องการใช้พลังงานของประเทศไทย ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งความต้องการใช้ไฟฟ้าและน้ำมัน

แต่โครงสร้างการผลิตและการจัดหาพลังงานของประเทศไทย พบว่าต้องพึ่งพาการเข้าพลังงานจากต่างประเทศอยู่ในระดับที่สูงมาก โดยเฉพาะไฟฟ้าที่มีความเสี่ยงสูงในระยะยาว แม้ว่าปัจจุบันเชื้อเพลิงเพื่อการผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่ยังเป็นเชื้อเพลิงที่จัดหาได้ในประเทศ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย แต่เริ่มจะมีข้อจำกัดจากปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติในประเทศที่ลดลงต่อเนื่องการถูกต่อต้านในการสำรวจเพิ่มเติมส่งผลให้ระดับการผลิตเริ่มถึงจุดอิ่มตัว (Peak) เร็วกว่าที่วางแผนไว้ รวมทั้งการเปิดส่งเสริมให้สำรวจหาเพิ่มในพื้นที่ใหม่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้


ทำให้ประเทศไทยเราตอนนี้ มีสภาพไม่ต่างจาก “ยืมจมูกคนอื่นหายใจ” และหากช่องลมที่เราต้องยืมคนอื่นหายใจเกิดปัญหา เช่น การยืมจมูกพม่าหายใจที่ในสถานการณ์ปัจจุบันต้องมีการหยุดซ่อมบำรุงรักษาแหล่งก๊าซธรรมชาติในพม่า การตีบตันหายใจไม่คล่องตัวดังกล่าวที่กำลังจะเกิดขึ้น ประเทศไทยต้องทำอะไรบ้างเพื่อรักษาระดับความมั่นคงด้านพลังงานของชาติ ผมจะขอลองเล่าเป็นลำดับ ดังนี้


ขอเริ่มจากสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นจริงที่สหภาพเมียนมาร์หรือประเทศพม่า จะหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ ให้แก่ประเทศไทย เป็น 2 ระยะ แต่เป็นช่วงเวลาติดกัน โดยมีรายละเอียดคือ


1. ระหว่างวันที่ 10-19 เม.ย. 2558 ถือเป็นช่วง 10 วันเต็ม ที่แหล่งยาดานาจะต้องหยุดซ่อมบำรุง ทำให้แหล่งทั้งยาดานาและเยตากุนต้องหยุดจ่ายก๊าซลงพร้อมๆ กัน (ก๊าซจากทั้ง 2 นี้ ต้องนำมาผสมกันถึงจะใช้ในประเทศไทยได้) ผลจากการหยุดซ่อมบำรุงครั้งนี้ ทำให้ก๊าซธรรมชาติที่จะส่งมายังประเทศไทย หายไปจากระบบทันที 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือประมาณ 20 % ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติทั้งประเทศ


2. ระหว่างวันที่ 20-27 เม.ย. เป็นช่วงเวลาเพิ่มเติมอีก 8 วัน ที่แหล่งก๊าซในพม่าที่จะหายไปจากระบบ คือ แหล่งซอติก้าที่จะต้องหยุดจ่ายก๊าซเพื่อปรับปรุงซ่อมบำรุงระบบต่างๆ ทำให้ยอดก๊าซอีก 430 ล้านลูกบาศก์ฟุต หายไปจากระบบหรืออีกประมาณ 5% แต่ก็คาดว่าเมื่อถึงช่วงนั้นแหล่งยาดานาและเยตากุน น่าจะพร้อมกลับเข้าสู่ระบบเรียบร้อยแล้ว


โดยผลจากการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากประเทศพม่าชุดนี้ จะทำให้โรงไฟฟ้าในภาคตะวันตกของไทย ได้รับผลกระทบอย่างมาก สิ่งที่ต้องดำเนินการหลักๆ ที่กระทรวงพลังงานได้เตรียมวางแผนไว้ มี 2 แนวทางที่สำคัญ ได้แก่


1. ด้านการจัดหาเชื้อเพลิง (Supply) ซึ่งต้องดำเนินการใน 3 เรื่อง คือ


1.1 เปลี่ยนเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมบางแห่งที่สามารถเปลี่ยนเชื้อเพลิงมาใช้น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลได้ เช่น ในส่วนของโรงไฟฟ้าราชบุรี โรงไฟฟ้าบางปะกง โรงไฟฟ้าวังน้อย และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ เป็นต้น แต่จะให้มีการเดินหน้าเครื่องจากโรงไฟฟ้ากลุ่มนี้ให้น้อยที่สุด เนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิงจากน้ำมันดังกล่าวจะมีราคาแพงกว่าก๊าซ และอาจจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าของประชาชนได้ โดยกระทรวงพลังงานได้กำชับให้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องประสานงานกันอย่างใกล้ชิด ในการสำรองและลำเลียงน้ำมันดีเซลให้เพียงพอ ซึ่งในช่วงวันหยุดสงกรานต์ที่จะถึงนี้ อาจจะพบว่ามีรถขนส่งน้ำมันวิ่งต่อเนื่องในภาคตะวันตกแถว ๆ จังหวัดราชบุรี นครปฐม และรอบๆ กทม. ทางวงแหวนตะวันตก


1.2 นำโรงไฟฟ้าน้ำมันเตาของโรงไฟฟ้าราชบุรี และโรงไฟฟ้าบางปะกง มาช่วยเสริมระบบของโรงไฟฟ้านี้ ซึ่งโดยปกติจะไม่ค่อยได้รับคำสั่งให้เดินเครื่อง ด้วยเพราะเป็นโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนสูงกว่าโรงไฟฟ้าอื่นๆ ดังนั้นโดยปกติจะทำหน้าที่เป็นเพียงโรงไฟฟ้าสำรอง แต่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติในช่วงเวลาดังกล่าว ก็จำเป็นต้องลงสนามจริง เพื่อเติมเต็มส่วนที่ขาดไปพลางก่อน


1.3 เพิ่มการรับซื้อ และผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าอื่นๆ ทั้งของ กฟผ. และของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (IPP และ SPP) ที่ยังมีเชื้อเพลิงสามารถป้อนเข้าระบบได้ โดยเฉพาะกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง อาทิ บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด และบริษัท เก็คโค่ วัน ซึ่งปกติจะเดินเครื่องเพียงร้อยละ 85 และกฟผ.สามารถร้องขอให้เดินเครื่องเต็มที่ได้ เพื่อเสริมระบบให้มีความเพียงพอ


2. ด้านการจัดการการใช้ (Demand) กระทรวงพลังงานจะเร่งรัด 3 มาตรการในการลดความต้องการใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะในช่วงพีค ดังนี้


2.1 รณรงค์ลดการใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือน โดยขอความร่วมมือกับประชาชนทุกภาคส่วน ร่วมกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการประหยัดพลังงาน ตามภารกิจ 1 ล. 5 ป. ได้แก่ ล้างแอร์ปิดไฟดวงที่ไม่ใช้ ปรับแอร์ที่อุณหภูมิ 25 องศา ปลดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้า เปลี่ยนหลอดไฟประหยัดพลังงาน และปรับเช็กเครื่องยนต์ก่อนเดินทางไกล ซึ่งถือเป็นวิธีการที่ประหยัดพลังงานแบบง่ายๆ ที่ประชาชนสามารถทำได้ด้วยตัวเอง


2.2 มาตรการ Demand Response ซึ่งเป็นมาตรการที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) ได้ประกาศหลักเกณฑ์ใหม่ที่จะเปิดรับซื้อ “ผลประหยัดไฟฟ้า” กับกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ ในช่วงวันที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ วันที่ 10, 17,18 เมษายน 2558 โดยมีอัตราอุดหนุน 3 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งเบื้องต้น สกพ. ได้ตั้งเป้าหมายลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงพีคได้มากถึง 200 เมกะวัตต์ (เป้าหมายลดลงจากที่เคยตั้งเป้าไว้ 500 เมกะวัตต์ เพราะมีผู้สนใจเข้าร่วมน้อยราย)


2.3 มาตรการ Interruptible Load เป็นมาตรการตามสัญญาที่การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีไว้กับกลุ่มลูกค้าบางประเภทที่การไฟฟ้าสามารถลดจ่ายไฟฟ้าได้ หากผู้ประกอบการยินยอม ปัจจุบันสัญญาลักษณะนี้มีใช้อยู่กับผู้ประกอบการเพียง 4 ราย ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ทั้งสิ้น มาตรการนี้สามารถช่วยลดการจ่ายไฟฟ้าได้สูงสุด 56 เมกะวัตต์


มาตการรับมือในช่วงที่ประเทศไทย ต้องเจอกับภาวะตีบตันทางการหายใจจากการยืมจมูกคนอื่นหายใจ เมื่อไล่เลียงความพร้อมทั้งหมดของทุกๆ มาตรการแล้ว กระทรวงพลังงานยืนยันได้ว่าจะไม่มีโอกาสที่ประเทศไทยจะเจอกับวิกฤติไฟฟ้าไม่พอใช้ หรือเกิดไฟดับอย่างแน่นอน ยกเว้นเกิดกรณีไม่คาดฝันจริงๆ เช่นมีอุบัติเหตุร้ายแรง แทรกซ้อนเข้ามาในกระบวนการผลิตพลังงานในส่วนอื่นๆ ถึงขั้นที่ต้องยกระดับสู่ภาวะวิกฤติหรืออาจจำเป็นต้องพิจารณาดับไฟฟ้าเป็นจุดๆ ซึ่งได้มีแผนและขั้นตอนรองรับไว้แล้วเช่นกัน


แต่การหามาตรการรองรับระยะยาวต่างหาก ที่น่าจะเป็นเรื่องที่ผมเป็นห่วงกว่า เพราะหากยังทำให้ประเทศไทยหายใจด้วยตนเองเต็มทีไม่ได้ และยังต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานจากประเทศอื่นๆ ซึ่งมีท่าทีเพิ่มขึ้นอีกด้วยในอนาคต ประเทศไทยเรากับวิกฤติความมั่นคงพลังงาน ก็จำเป็นต้องหาแผนมารองรับกันทุกปีๆ ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้น ปัญหาความเสี่ยงเรื่องไฟฟ้าไม่พอใช้ และอาจต้องมีราคาแพงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ จะต้องชวนปวดหัวมากกว่านี้ แน่นอนครับ