ESG กับการประกันภัยที่ยั่งยืน
การประกันภัยที่ยั่งยืน ช่วยให้เกิดความยั่งยืนทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ได้เข้ามามีอิทธิพลกับปัจจัยเสี่ยงที่ธุรกิจประกันภัยประสบอยู่เดิม และก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความอยู่รอดในอุตสาหกรรม ทำให้อุตสาหกรรมประกันภัยต้องหันมาให้ความสำคัญกับการจัดการความเสี่ยงภัยในระยะยาว และในเชิงองค์รวม ที่ซึ่งประเด็น ESG ถูกนำมาพิจารณาประกอบ
ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานความริเริ่มด้านการเงินภายใต้สำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEPFI) ได้ประกาศ “หลักการประกันภัยที่ยั่งยืน” (The Principles for Sustainable Insurance: PSI) ในเวทีประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อปี พ.ศ.2555 เพื่อใช้เป็นกรอบสากลสำหรับอุตสาหกรรมประกันภัยในการเผชิญกับโอกาสและความเสี่ยงด้าน ESG
การประกันภัยที่ยั่งยืน เป็นแนวทางเชิงกลยุทธ์ ที่ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดในห่วงโซ่คุณค่าของการประกันภัย รวมทั้งการปฏิสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย ดำเนินไปอย่างรับผิดชอบและคำนึงถึงการมองไปข้างหน้า (Forward-looking) ด้วยการระบุ การประเมิน การจัดการ การเฝ้าสังเกตโอกาสและความเสี่ยงที่เกี่ยวโยงกับประเด็น ESG
การประกันภัยที่ยั่งยืน มุ่งไปที่การลดความเสี่ยง พัฒนาทางเลือกที่เป็นนวัตกรรม ปรับปรุงผลประกอบการทางธุรกิจ และช่วยให้เกิดความยั่งยืนทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
หลักการประกันภัยที่ยั่งยืน ประกอบด้วย 4 หลักการสำคัญ ได้แก่
หลักการที่ 1: การผนวกประเด็นทางสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจประกันภัย เข้าไว้ในกระบวนการตัดสินใจ
หลักการที่ 2: การทำงานร่วมกับลูกค้าและหุ้นส่วนทางธุรกิจ ในการยกระดับการรับรู้ที่มีต่อประเด็นทางสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล การจัดการความเสี่ยงภัย และการพัฒนาแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน
หลักการที่ 3: การทำงานร่วมกับหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานกำกับดูแล และผู้มีส่วนได้เสียหลักอื่นๆ ในการส่งเสริมการดำเนินงานในประเด็นทางสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล อย่างกว้างขวาง
หลักการที่ 4: การแสดงให้เห็นถึงความสำนึกรับผิดชอบและความโปร่งใสในการเปิดเผยความคืบหน้าของการนำหลักการประกันภัยที่ยั่งยืนไปปฏิบัติ แก่สาธารณะอย่างสม่ำเสมอ
ตัวอย่างข้อปฏิบัติในด้านกลยุทธ์องค์กร ได้แก่ การจัดทำกลยุทธ์องค์กรที่คณะกรรมการบริษัทและเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารมีส่วนเกี่ยวข้องในการระบุ ประเมิน จัดการ และติดตามประเด็น ESG ในกระบวนการดำเนินธุรกิจ การหารือกับเจ้าของกิจการในเรื่องความเกี่ยวเนื่องของประเด็น ESG กับกลยุทธ์องค์กร และการผนวกประเด็น ESG เข้ากับแผนการสรรหาบุคลากร การฝึกอบรม และการสานสัมพันธ์กับพนักงาน
ตัวอย่างข้อปฏิบัติในด้านการจัดการความเสี่ยงภัย และการรับประกันภัย ได้แก่ การจัดให้มีกระบวนการระบุและประเมินประเด็น ESG ที่อยู่ในยอดรวมของภัย และตระหนักถึงผลสืบเนื่องจาก ESG ที่แฝงอยู่ในธุรกรรมของบริษัท การผนวกประเด็น ESG เข้ากับกระบวนการตัดสินใจต่อเรื่องการจัดการความเสี่ยงภัย การรับประกันภัย และความเพียงพอของเงินกองทุน รวมทั้งในการวิจัย แบบจำลอง การวิเคราะห์ เครื่องมือ และตัววัด
ตัวอย่างข้อปฏิบัติในด้านการจัดการค่าสินไหมทดแทน ได้แก่ การตอบสนองต่อลูกค้าอย่างรวดเร็ว เป็นธรรม ฉับไว และโปร่งใสอยู่ตลอดเวลา พร้อมทั้งให้แน่ใจว่าลูกค้าได้รับการอธิบายและมีความเข้าใจในกระบวนการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนอย่างชัดเจน การผนวกประเด็น ESG เข้ากับงานบริการซ่อมแซม การเปลี่ยนทดแทน และบริการสินไหมทดแทนอื่นๆ
ปัจจุบัน มีองค์กรในภาคอุตสาหกรรมประกันภัยที่รับหลักการประกันภัยที่ยั่งยืนนี้ไปใช้แล้วจำนวน 80 แห่ง รวมผู้รับประกันภัยที่ถือสัดส่วนเบี้ยประกันภัยอยู่เป็นจำนวนร้อยละ 15 ของเบี้ยประกันภัยรวมทั่วโลก และมีขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) รวมกันราว 9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
หลักการประกันภัยที่ยั่งยืน ยังถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์การประเมินภาคอุตสาหกรรมประกันภัยในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ FTSE4Good และ BM&FBOVESPA
เชื่อแน่ว่า เราจะได้เห็นผู้ประกอบธุรกิจประกันภัยในประเทศไทย ขานรับหลักการประกันที่ยั่งยืนมาใช้เป็นแนวทางเชิงกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจประกันภัยเพื่อนำองค์กรให้เข้าสู่วิถีของกิจการที่ยั่งยืน (Sustainable Enterprise) ในไม่ช้านี้