ต้อนรับสังคมสูงวัย ด้วยนโยบายส่งเสริมการเจริญพันธุ์

ต้อนรับสังคมสูงวัย ด้วยนโยบายส่งเสริมการเจริญพันธุ์

ตัวเลขในงานวิจัยทั้งหลาย บอกว่าคนแห่มาเป็น “โสด” ทั้งที่โสดมาตลอด หย่าร้างแล้วกลับมาโสด หรือคบหากันแต่จงใจแยกกันไป “โสด”

กลุ่มที่ตกใจและตื่นตระหนกเป็นที่สุดเห็นจะเป็นผู้ใหญ่ล่วงเข้าวัยชราที่กังวลว่า ใครจะมาทำงาน ใครจะมาดูแล ใครจะมาสืบทอดสืบสานงานที่ยังไม่สิ้นสุด ถึงขนาดคิดขึ้นมาเป็นชุดว่านี่คือสิ่งที่จะทำให้ชาติสิ้นสุดและเศรษฐกิจสะดุดลง ด้วยสิ่งที่เรียกว่า “สังคมสูงวัย” Aging Society


ส่วนสาเหตุของภาวะสังคมที่มีคนสูงวัยเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม คงไปโทษว่าระบบสาธารณสุขดี สังคมมีความปลอดภัยมากขึ้นไม่ได้ เพราะมันสะท้อนว่าสังคมเราได้พัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ให้มี “เวลา” พัฒนาตัวเองและสังคมมากขึ้นด้วย


หรือสาเหตุที่แท้จริงก็คือ จำนวนคนเกิดใหม่ไล่ไม่ทันคนแก่!


ทำไมจึงมีคนเกิดใหม่น้อยลง ทำไมคนจึงตัดสินใจอยู่ด้วยกันน้อยลง มีลูกด้วยกันน้อยลง และลดจำนวนลูกในแต่ละครอบครัวน้อยไปต่ำกว่า อัตราที่เหล่าผู้อาวุโสแห่ง สสส. คาดหวังให้มีกันสักสามคนต่อครัวเรือน


การเมืองเรื่องของการอยากให้คนกลุ่มไหนสถานะทางเศรษฐกิจและการศึกษาระดับใดมีลูกเยอะก็น่านำมาลองคิด ยิ่งช่วงหนึ่งเคยมีงานวิจัยที่ สสส.สนับสนุน บอกให้แก้ด้วยการเก็บภาษีคนโสดที่มีฐานะทางเศรษฐกิจพอใช้สามารถมีครอบครัวได้ ยิ่งเป็นนัยสะท้อนว่ามีความอยากให้ชนชั้นกลางที่พอมีรายได้นั้นมีลูกมากขึ้น (ส่วนจะมีมาเพื่อเพิ่มจำนวนกลุ่มทางการเมืองหนึ่งการเมืองใดด้วยหรือเปล่าก็ไม่อาจทราบได้) แต่ที่แน่ๆ คุณแม่วัยรุ่นไม่ใช่เป้าหมายในการเพิ่มจำนวนการเกิดแน่นอน


เมื่อตัดคุณแม่วัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ที่เกินอัตราเกิดใหม่ไปถึง 53% ออกไป แล้วมาพิจารณาที่อัตราหย่าร้าง โดยเฉพาะอัตราหย่าร้างที่พุ่งสูงซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติเคยนำเสนอไว้ว่า ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมาอัตราการหย่าร้างเพิ่มขึ้นถึง 27% และยอดรวมการหย่าร้างแต่ละปีร่วมนับแสนๆ รวมถึงอัตราสตรีโสดของกรุงเทพฯ ที่อยู่อันดับสองของเอเชีย ทั้งสองน่าจะสะท้อนว่า มันมีอะไรเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ “หญิง-ชาย”


ตรงนี้อาจจะสอดคล้องกับความคิดของคนรุ่นใหม่ และนักวิชาการที่บอกว่า ทุกวันนี้การแต่งงาน มีคู่ หรือมีลูกหลาน ไม่ใช่สิ่งสำคัญสูงสุดที่ต้องทำอีกต่อไป มีกิจกรรมอีกหลายอย่างให้คนรู้สึกอิ่มเอมและมีความสุขได้แม้จะไม่ผูกมัดตัวเองอยู่กับใคร


แต่ก็ชวนสงสัยว่าแค่ หากตัดกลุ่มนี้ออกไปให้เหลือคนที่อยากมีคู่หรือมีคู่แล้วแต่ไม่อยากมีลูก เราพบว่ามีคนที่พูดว่า “ยังไม่มั่นคง” หรือ “เสี่ยงเกินไป” บ่อยครั้ง ทั้งที่ตั้งใจตอบแต่ต้น หรือเมื่อไล่ถามจนถึงแก่น


ความเสี่ยง หรือ ไม่มั่นคง จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ขัดขวางชีวิต ทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม จนไปถึงวัฒนธรรม ที่บิดเบือนธรรมชาติของมนุษย์ที่ถูกสร้างมาขยายเผ่าพันธุ์สืบไปเผื่อว่าใครเกิดมาใหม่จะสร้างความเป็นไปได้อันยิ่งใหญ่ในอนาคต จึงไม่น่าแปลกใจที่คนเจเนอเรชั่น X หรือ Y ลงมาจะตัดสินใจเป็นโสด หรือไม่มีครอบครัวมากขึ้น


จนเดี๋ยวนี้ “คนโสด” และ “ความโสด” กลายเป็นเป้าหมายทางเศรษฐกิจให้ธุรกิจใหญ่น้อยเข้ามาคอยหากิน โดยขายความตื่นเต้น เติมเต็มประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ไปผจญภัย หรือได้เป็นคนสำคัญ เพื่อลบความรู้สึก “โล่ง กลวง โบ๋” ที่โตคับอกคับใจให้แคบลงบ้าง เพื่อลบความอ้างว้างเหล่านี้ คนโสดต้องเสียอะไรไปมากมาย แต่สังคมอาจไม่ได้อะไรกลับมา


ใช่แล้ว ผมกำลังจะบอกว่า คนไม่ได้อยากโสดเองทั้งหมด แต่เพราะเงื่อนไขหลายๆ อย่างในสังคมทำให้คนเลือกที่จะ “โสดดีกว่า” เพราะว่าไม่มีอะไรมาทำให้มั่นใจว่า เสี่ยงมีครอบครัวไปแล้วจะมั่นคง


ที่ผ่านมาผู้กำหนดนโยบายแห่งรัฐไม่ว่าจะกี่ยุคสมัย (และล้วนแต่เป็นผู้ที่ได้สะสมความมั่งคั่งและมั่นคงเป็นเวลานาน) ล้วนเมินเฉยปัญหาเหล่านี้ โดยขาดการกำหนดนโยบายทางสังคมที่สร้างเสริมให้เกิดความมั่นคงในการสร้างครอบครัวขึ้นแก่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นความหวังในการนำพาประเทศชาติ (แน่นอนว่าไม่นับแนวความคิดในการเก็บภาษีคนโสดที่ได้เป็นกระแสสังคมในช่วงเวลาที่ผ่านมา)


แน่นอนว่า รูปแบบภาษี (หรือการสนับสนุน) กฎหมายครอบครัว ที่ไม่ส่งเสริมให้คนสร้างครอบครัวใหม่ หรือสร้างมาตรการรองรับเหตุอันไม่คาดฝันในอนาคต ย่อมกดโอกาสให้คนตัดสินใจมีคู่ลดลง ยิ่งมีลูกล่ะไม่ต้องพูดถึง ดังนั้น คนในวิชาชีพขั้นสูง งานใช้ฝีมือ และมีการศึกษา เมื่อตระหนักแล้วว่า เสี่ยง จึงตัดสินใจไม่มีลูก ไม่มีครอบครัว


ส่วนพวกพร้อมแต่ยังไม่เจอเนื้อคู่ ทั้งที่เราเป็นคนสังคมกว้างไกลมีเครือข่ายเยอะแยะจะเห็นว่า ไอ้คนโสดคนนี้มันอยากได้คุณสมบัติแบบคนนั้น แต่จะทำอย่างไรให้เขา/เธอได้รู้จักกัน มันเป็นปัญหาขาดการเชื่อมข้อมูลและเครือข่ายของคนโสด ขาดกิจกรรมสร้างสรรค์ให้คนพบกันแบบไม่เกร็ง ขาดพื้นที่ให้คนมีชีวิตว่างร่วมกันทำกิจกรรม หรือขาดตัวกลางที่จัดการข้อมูลให้คนที่เหงา หรืออยากมีคู่ได้เจอกัน เพื่อทำให้ฝันของคนที่มีความคาดหวังแบบที่ตรงกัน แต่หากันไม่เจอ ได้หากันจนเจอ


หาก “เวลา” คือ สิ่งสำคัญในชีวิต มนุษย์จะเลือกเติมอะไรลงไปในเวลาที่ตนมีอย่างจำกัด


เรามาร่วมผลักดันให้รัฐสร้างมาตรการและสวัสดิการให้แก่คนทำงานรุ่นใหม่ ให้มี “เวลาว่าง” มากพอ ที่จะสร้างครอบครัวเพื่อส่งต่อ “คบเพลิงแห่งความหวัง” เป็นพลังรุ่นใหม่ให้ธำรงไว้ซึ่ง มวลมนุษยชาติ กันดีไหมครับ?