ธรรมชาติของ “นักเลือกตั้ง”

พักนี้ มีอดีต ส.ส.ออกมาให้ความเห็น เกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มากขึ้น
เนื่องจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย
นี่คือ “ร่างแรก” ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในช่วงหลังสงกรานต์
ประเด็นหลักๆ ที่อดีต ส.ส. ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ สะท้อนตรงกันคือ สภาผู้แทนฯ ชุดใหม่ จะไม่ใช่แบบ 2 พรรคใหญ่เหมือนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 หากแต่ ส.ส.จะกระจายอยู่ตามพรรคขนาดกลาง และขนาดเล็ก ไม่ต่ำกว่า 20 พรรค
มินับว่าที่ ส.ส.ไม่สังกัดพรรคอีกจำนวนหนึ่ง(ดอกผลรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) ซึ่งนักเลือกตั้งก็หวั่นเกรงว่า มันจะซ้ำรอย “พรรคผี” ที่เล่นการเมืองต่อรองผลประโยชน์ในสภาผู้แทนฯ ปี 2512-2514 สุดท้ายก็หนีไม่พ้นปลายกระบอกปืนทหาร
แถมสภาสูง ก็บัญญัติที่มาของ ส.ว. ให้มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม หรือพูดตรงๆ ก็เป็น ส.ว.สรรหาอีกรูปแบบหนึ่ง
“นักเลือกตั้งอาชีพ” ถึงกับปรารภว่า เรากำลังถอยหลังกลับไปที่หลักเดิมคือ “รัฐบาลผสมร้อยพ่อพันธุ์แม่”
ย้อนไปหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเดือนมิถุนายน 2475 ข้าราชการทั้งทหาร และพลเรือน ยึดกุมอำนาจรัฐในช่วงเวลาส่วนใหญ่ ระหว่างปี 2475-2516 ระบอบการเมืองในห้วงดังกล่าว จึงเรียกขานกันว่า “ระบอบอำมาตยาธิปไตย”
ขอยืนยันว่า “อำมาตยาธิปไตย” เป็นศัพท์ทางวิชาการที่นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ใช้เรียกกลุ่ม “ข้าราชการ” ที่ปกครองประเทศนี้มานานแล้ว โดยแกนนำเสื้อแดงเพิ่งหยิบฉวยไปใช้ปลุกระดมมวลชนเมื่อไม่กี่ปีมานี้
ระบอบอำมาตยาธิปไตย เป็นระบอบการเมืองที่ปกครองของข้าราชการ โดยข้าราชการ และเพื่อข้าราชการ ส่วนใหญ่มีลักษณะเผด็จการ หรือกึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตย
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเดือนตุลาคม 2516 ก่อให้เกิด “กลุ่มพลังประชาธิปไตย” แต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 ได้เอื้ออำนวยให้เกิดนักการเมืองเผ่าพันธุ์ “นักเลือกตั้ง” ที่มาจาก “นายทุนชาติ” และ “พ่อค้าภูธร” กว่า70% ของสภาผู้แทนฯ
นักเลือกตั้งถีบตัวเองขึ้นมาเป็นชนชั้นปกครอง โดยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ก่อตัวเป็น “กลุ่มพลังนักเลือกตั้ง” ที่ต่อรองอำนาจกับกลุ่มทหารเป็นช่วงๆ ประเทศไทยระหว่างปี 2519-2531 จึงมีรัฐประหารสลับการเลือกตั้ง โดยผลประโยชน์แห่งอำนาจมาลงตัวที่ระบอบ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” นานถึง 9 ปี
ข้ามมาถึงช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 มีการขับเคลื่อนกระบวนการปฏิรูปการเมือง อันนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ซึ่งนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ที่ไม่ได้ร่วมขบวนธงเขียว มองว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในเวลานั้น มันเป็นการประนีประนอมระหว่างกลุุ่มพลังประชาธิปไตย กลุ่มพลังนักเลือกตั้ง และกลุ่มอำมาตยาธิปไตย
ในที่สุด “นักเลือกตั้งสายพันธุ์ประชานิยม” ที่เติบโตมาจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ได้นำมาซึ่งความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง และกลุ่มอำมาตยาธิปไตย ได้กลับเข้ามาปกครองประเทศอีกครั้ง
นับจากนั้น การออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ ภายใต้คำขวัญปฏิรูปการเมืองของกลุ่มอำมาตยาธิปไตย ก็ยังไม่สามารถยุติความขัดแย้งทางการเมืองได้ จึงเกิดการรัฐประหารซ้ำเมื่อปีที่แล้ว
กลุ่มอำมาตยาธิปไตยในยุคปัจจุบัน ได้เรียนรู้จากการอยู่ร่วมกับกลุ่มพลังนักเลือกตั้งมาระยะหนึ่ง จึงพยายามออกแบบรัฐธรรมนูญให้ดูประหนึ่งเป็น “การเมืองย้อนยุค”
ถอดความคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่พูดอยู่บ่อยครั้งว่า “ทะเลาะกันไม่เลิก ก็ไม่ต้องมีการเลือกตั้ง” พอจะคาดเดาได้ว่า สภาผู้แทนฯ ที่มีแค่ 2 พรรคใหญ่นั้น ความขัดแย้งไม่ยุติ และความปรองดองไม่เกิด
การออกแบบให้ “พรรคสภา” เป็นเบี้ยหัวแตก ย่อมส่งผลดีต่อ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ของกลุ่มอำมาตยาธิปไตย
หากว่านักเลือกตั้งทั้งหลาย ไม่เห็นดีเห็นงามกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คสช.ก็คงกลับมาร่างกันใหม่
ชนชั้นนำของสังคมไทย ต่างรับรู้ถึงภารกิจของ คสช. ที่ไม่ได้มายึดอำนาจเพื่อจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ และกลุ่มพลังนักเลือกตั้งก็ทราบดี ถึงเป้าหมายสำคัญของคณะทหารกลุ่มนี้
ธรรมชาติของนักเลือกตั้ง จะไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ ก็คงไม่ใช่ จึงต้องส่งเสียงให้เจ้าของเรือแป๊ะได้ยินบ้าง ดีกว่านั่งอยู่เฉยๆ รอวันเฉาเหมือนแตงเถาตาย