‘ขาดทุน’ คือ ‘กำไร’ ... ความหมายที่ถูกต้อง

‘ขาดทุน’ คือ ‘กำไร’ ... ความหมายที่ถูกต้อง

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินวลีที่กล่าวว่า “ขาดทุนคือกำไร” แล้วคงรู้สึกสับสน ไม่เข้าใจหรือกระจ่างแจ้งกับวลีดังกล่าวเท่าใดนัก

บางคนมองในแง่ร้ายว่าเป็น “สูตรสำเร็จ” การเอาตัวรอดจากสภาวการณ์ที่มีแนวโน้มแสดงให้เห็นว่าจะ “ขาดทุน” หรือถือโอกาสเอาตัวรอดโดยนำมาอ้างแบบให้ความผิดพ้นออกไปจากตัวเอง หากมองในแง่ดีการขาดทุนอาจเป็นบันไดต่อยอดไปสู่ความสำเร็จในเวลาข้างหน้า ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการขาดทุนในลักษณะใดก็ตาม การขาดทุนเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น แม้จะเคยมีกรณีศึกษาเกี่ยวกับบทเรียนของ “การขาดทุน” จำนวนมากเกิดขึ้นในทำนองเดียวกันนี้มานักต่อนัก แต่ไม่สมควรใช้เป็นเหตุผลที่จะนำมากล่าวอ้างเพื่อให้ตนเองรอดพ้นจากความผิดไปได้แต่อย่างใด


การขาดทุนของธุรกิจหรือการดำเนินการใดๆ เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะนั่นคือสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความอ่อนด้อยหรือความผิดพลาดของการประกอบการของกิจการนั้นๆ อันนำไปสู่ความล่มสลายขององค์กรในที่สุด ซึ่งแม้จะส่งผลเสียโดยตรงต่อผู้ประกอบการและผู้มีส่วนได้เสียซึ่งจำกัดอยู่ในวงเล็กๆ ขอบเขตความเสียหายเกิดขึ้นกับบุคคลกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง จึงไม่มีความจำเป็นเท่าใดนักที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบโดยตรงกับประชาชน ยกเว้นแต่ความเสียหายของกิจการนั้นๆ เข้าไปเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชาชนจำนวนมาก อาทิ การผลิตสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานหรือการจัดบริการขั้นพื้นฐานที่ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของบุคคลจำนวนมากของสังคม การออกมาชี้แจงและยอมรับผิดต่อสังคมอย่างรวดเร็วเพื่อแสดงถึงความบริสุทธิ์ใจจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ก่อนที่จะมีการเลือกตัดสินใจดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนกิจการไปทิศทางที่เหมาะสมต่อไป


อย่างไรก็ตาม การกำไรขาดทุนเป็นเรื่องที่ต้องวิพากษ์วิจารณ์กันด้วยเหตุและผล นอกเหนือจากพิจารณาตามข้อมูลและข้อเท็จจริงแล้ว การให้ความสำคัญกับบริบทหรือรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ตลอดจนปัจจัยหรือเงื่อนไขอื่นๆ ที่ไม่คาดคิดมาก่อน จะต้องนำมาพิจารณาด้วยอย่างถูกต้องเป็นธรรมโดยไม่มีอคติใดๆ ปิดบังซ่อนเร้นเพื่อชี้นำไปในทิศทางตามที่ตนต้องการ


ดังนั้น หากพิจารณาตามนี้ การขาดทุนจึงเป็นสิ่งที่สามารถอนุโลมกันได้ แต่ต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล ทั้งนี้ คณะผู้ดำเนินการได้เพียรพยายามหลีกเลี่ยงการขาดทุนหรือแสดงให้เห็นว่าได้ทำให้ขาดทุนน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้แล้ว สมควรแก่เหตุและผล เป็นการขาดทุนเพื่อประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ เอื้ออำนวยให้แก่บุคคลที่อ่อนแอกว่า บุคคลที่ไม่มีทางออก บุคคลที่เป็นผู้เสียเปรียบให้มีโอกาสลืมตาอ้าปากมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีเฉกเช่นพลเมืองทั่วไป เสมือนกับการให้แต้มต่อแก่บุคคลที่มีฝีมืออ่อนด้อยกว่าในเกมการกีฬาแข่งขัน


...แต่ไม่ใช่การขาดทุนพร่ำเพรื่อ ขาดทุนได้ทุกสถานการณ์ทั้งที่ไม่มีเหตุผลให้จำเป็นต้องขาดทุน หากเป็นกิจการที่มุ่งการแข่งขันเพื่อสร้างผลกำไรนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์กับกิจการอย่างอื่น ผู้บริหารจัดการได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการเป็นอย่างดีก็ต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เป็นเยี่ยงอย่างและแนวทางแก่องค์กรอื่นๆ ต่อไป หากจะขาดทุนก็ขอให้ยอมรับได้อย่างสนิทใจว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ โดยไม่มีเบื้องหลังอย่างหนึ่งอย่างใดแอบแฝง


ผู้เขียนไม่ประสงค์ให้นำสิ่งที่พระองค์ท่านพระราชทานมาใช้กล่าวอ้างอย่างคลาดเคลื่อนไม่ถูกต้อง ดังที่ได้พระราชทานพระราชดำรัสเอาไว้ว่า “...ขาดทุน คือ กำไร (Our loss is our gain) ...การเสีย คือ การได้ ประเทศชาติก็จะก้าวหน้าและการที่คนอยู่ดีมีสุข เป็นการนับที่เป็นมูลค่าเงินไม่ได้...” จากพระราชดำรัสดังกล่าว คือหลักการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อพสกนิกรไทย “การให้” และ “การเสียสละ” เป็นการกระทำอันมีผลเป็นกำไร คือความอยู่ดีมีสุขของราษฎรซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนได้


“ขาดทุนเป็นการได้กำไรของเรา นักเศรษฐศาสตร์คงค้านว่าไม่ใช่ แต่เราอธิบายได้ว่า ถ้าเราทำอะไรที่เราเสีย แต่ในที่สุดที่เราเสียนั้น เป็นการได้ทางอ้อมตรงกับงานของรัฐบาลโดยตรง เงินของรัฐบาลหรืออีกนัยหนึ่งคือเงินของประชาชน ถ้าอยากให้ประชาชนอยู่ดี กินดีก็ต้องลงทุนต้องสร้างโครงการซึ่งต้องใช้เงินเป็นร้อย พัน หมื่นล้าน ถ้าทำไปเป็นการจ่ายเงินของรัฐบาลแต่ในไม่ช้าประชาชนจะได้รับผล ราษฎรอยู่ดีกินดีขึ้น ราษฎรได้กำไรไป ถ้าราษฎรมีรายได้รัฐบาลก็เก็บภาษีได้สะดวกเพื่อให้รัฐบาลได้ทำโครงการต่อไป เพื่อความก้าวหน้าของประเทศชาติ ถ้ารู้ รัก สามัคคี รู้เสียสละ คือการได้ประเทศชาติก็จะก้าวหน้า และการที่คนอยู่ดีมีสุขนั้น เป็นการนับที่เป็นมูลค่าเงินไม่ได้...”


บทความนี้เพียงไม่ต้องการให้เกิดการบิดเบือนแปรเปลี่ยนความหมายของคำว่า “ขาดทุน” ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งตน แต่ให้เป็นการขาดทุนเพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมหาชน ดังนั้น ตามความหมายนี้เราอาจขาดทุนในแง่ “ตัวเลข” แต่ประโยชน์สุขที่ได้กลับมาคือ “ผลกำไร” ที่มหาศาลอย่างเทียบกันไม่ได้


...เช่นนี้แล้วการ “ขาดทุน” ในความหมายที่ถูกต้องตามนี้จึงไม่ใช่ “การขาดทุนที่แท้จริง” ที่พิจารณาความคุ้มค่าตามตัวเลขมูลค่าการลงทุน หรือคำนึงถึงตัวเลขหรือเงินที่ใช้จ่ายออกไป แต่เป็นการขาดทุนเพื่อ “คืนความสุขแก่ประชาชน” ตามกุศโลบายของรัฐบาลอย่างแท้จริง