ประชุมอย่างไรไม่ให้เสียเปล่า

มืออาชีพวันนี้ มีน้อยรายที่ไม่เบื่อหน่ายการประชุม หากท่านผู้อ่านเคยรู้สึกทั้งลึกๆ และตื้นๆ ว่า จะประชุมอะไรกันนักกันหนา
..มีปัญหาก็ใช่ว่าจะกล้าพูดกัน
..ประชุมสั้นๆ กันไม่เป็นหรือไง
..เห็นนั่งกันเต็มห้อง เพราะต่างต้องมาตามหน้าที่ แต่รู้ดีว่าเป็นไม้ประดับ นั่งหลับได้...
มีอาการเอือมเช่นนี้ ไม่ต้องกังวล คนอื่นก็เป็นค่ะ
จากการสำรวจของหลากหลายองค์กรเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการประชุม อาทิ คณะบริหารธุรกิจดังของมหาวิทยาลัย Stanford, Microsoft Office Survey, MCI Conferencing ฯลฯ
ต่างฟันธงตรงกันว่า
การประชุมพัฒนาได้แบบแทบไม่มีที่สิ้นสุด
..73% ของผู้เข้าประชุมสารภาพว่า เคยเอางานอื่นใดไปนั่งทำในการประชุม (เหมือนเราเลย)
..91% บอกว่าตอนอยู่ในห้อง มีอาการเหม่อลอย คอยแค่พยักหน้าเป็นระยะๆ จะได้ดูคล้ายๆ ตั้งใจประชุม (มุขนี้เราก็ทำบ่อย)
..95% บอกว่าบางครั้งขาดประชุม หรือนั่งประชุมไม่ต่อเนื่อง เพราะมีเรื่องสำคัญ และเร่งด่วนกว่า (เรื่องแบบนี้ น้องพี่ไทยก็ไม่แปลกใจ...ขนาดการประชุมของผู้ทรงเกียรติระดับชาติ เขายังขาดการประชุมเป็นของธรรมดา แต่ไม่เป็นไรไง เพราะมีเพื่อนเสียบบัตรแทนให้ครับผม)
จากการสำรวจในปีที่ผ่านมาขององค์กรวิจัยแรงงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่า องค์กรทั้งปวงในสหรัฐอเมริกา สูญเสียทรัพยากรกับการประชุมที่ไม่มีประสิทธิภาพ ตีเป็นเงินรวมแล้วมูลค่าประมาณ 40 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี!
สรุปว่า ปัญหาหนักใจขององค์กรส่วนใหญ่ คือ การประชุมที่ไร้ประสิทธิภาพ
ถ้าเราประชุมอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ จะถือเป็นวิธีง่ายๆ ในการประหยัดทรัพยากร แถมยังได้งาน ได้มุมมอง ได้ของดีๆ ที่การประชุมมีให้สารพัด
เพราะไม่ว่าอย่างไร การประชุมก็ยังเป็นเครื่องมือสำคัญของการทำงานร่วมกันในองค์กร เนื่องจากทีมทำงานต้องมีเวทีเพื่อหารือ เพื่อสื่อสาร เพื่อสรุปร่วมกันให้ได้งานต่อไป
จากการวิจัยมากมายที่คลี่ให้เห็นประเด็นปัญหาของการประชุม หนึ่งสิ่งที่ทุกที่มีอุปสรรคคล้ายกัน คือ ประชุมแล้วประชุมเล่า ก็ยังต้องเอาเรื่องเก่าๆ มาคุยกัน เพราะงานไม่เดิน
ผู้เชี่ยวชาญด้านการประชุม คุณ Paul Axtell ได้เขียนหนังสือ Meetings Matter ซึ่งออกใหม่เมื่อต้นปีนี้
อาจารย์แนะนำ วิธีง่ายๆ เพื่อรับมือกับอาการงานไม่เดินหลังจากหารือกันแล้วในที่ประชุม คือ
“จบให้เป็น”
การประชุมจำนวนไม่น้อย จบอย่างเลื่อนลอย
เมื่อประชุมครั้งต่อไป จึงต้องคุยเวียนวน บ่นกันเรื่องเก่า
ประชุมกันครั้งที่แล้ว ก็เหมือนจะเข้าใจ..คล้ายๆ จะเห็นเป็นทางเดียวกัน
..แต่ประเด็น คือ ยังจับไม่มั่น คั้นไม่สะเด็ด
ดังนั้น หนึ่งในทักษะของผู้นำการประชุม คือ
การสรุปให้ชัดเจนว่าที่ประชุมตัดสินใจทำอะไรกัน
เปรียบเสมือนทักษะของผู้ให้บริการในห้องอาหารที่มีระบบดี เช่น MK สุกี้
เมื่อลูกค้าสั่งจบ น้องมีหน้าที่ทบทวนความเข้าใจ จะได้ไม่พลาด
“ขออนุญาตทวนรายการอาหารนะคะ...”
ง่ายๆ ตรงไปตรงมาเช่นนั้น
การประชุมก็เช่นกัน หากพี่ในที่ประชุมปิดการประชุมว่า
“เอาว่าเราจะช่วยๆ กันนะ เพื่อภารกิจสำคัญนี้”
ไม่ต้องแปลกใจ หากใครๆ เข้าใจตรงกันว่า ก็ “ช่วยๆ กัน” เรื่องนี้คงไม่ใช่ของ “ฉัน” เพราะก็ “ช่วยๆ กัน” อยู่แล้ว
ตัวอย่างการสรุปจบแบบสวยในกรณีนี้ เพื่อให้มีผลในการปฏิบัติอย่างชัดเจนขึ้น
“ขอบคุณมากที่พวกเราจะช่วยกันทำให้ภารกิจสำคัญนี้สำเร็จลุล่วง"
จากการที่เราหารือกัน ผมขอสรุปอีกครั้งดังนี้ครับ
1. คุณสมชายฝ่ายขาย รับที่จะรวบรวมสรุปปัญหาของลูกค้า ส่งให้คุณสมหวัง ฝ่ายผลิต และคุณสมหญิง ฝ่ายบริการหลังการขาย ภายในสัปดาห์หน้า
2. คุณสมชายจะกรุณาเรียกประชุมทั้ง 3 ฝ่าย เพื่อหารือ สรุปปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหาของลูกค้าร่วมกัน และนำเสนอในที่ประชุมเดือนหน้า วันที่ 17 เมษายนต่อไป
มีท่านใดเห็นเป็นอื่นไหมครับ......
หากไม่มี ขอขอบคุณทุกท่านอีกครั้งครับ”
การสรุปประเด็นที่ตกลงกันในที่ประชุม โดยที่มีภารกิจชัดเจนว่าต้องทำอะไร ในกำหนดเวลาใด
และที่สำคัญ
มีชื่อ “เจ้าภาพ” ผู้รับผิดชอบ
ถือเป็นวิธีที่สร้างความเข้าใจ ความชัดเจน และความรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้อง
ยิ่งจดบันทึกการประชุมว่า ใคร ต้องทำอะไร ภายในเมื่อใด แล้วส่งให้ผู้เข้าประชุมอย่างรวดเร็ว ภายใน 1-2 วัน
งานยิ่งมีสิทธิ์เดินได้ตามที่เคาะไว้อย่างน่าประหลาดใจ เพราะทั้งชัด และติดตามง่าย ทำให้เบี้ยวยาก
ล่าสุด ดิฉันได้มีโอกาสจัดสัมมนาเรื่องการประชุมอย่างมีประสิทธิภาพให้มืออาชีพหลายองค์กร
เมื่อคุยเรื่อง “จบให้เป็น” ผู้เข้าสัมมนามักขอคำปรึกษาคล้ายกัน
“อยากให้หัวหน้าหนูเข้าสัมมนาบ้างจัง การประชุมจะได้ไม่เป็นเรื่องกลุ้มใจ อย่างน้อยให้สรุปเป็น ไม่เห็นยาก”
คำตอบคือ
หัวหน้าไม่สรุป ก็ไม่เป็นไร
เราในฐานะผู้ปฏิบัติ ก็พอสร้างความกระจ่าง สร้างความเข้าใจในเรื่องนี้ได้เนียนๆ
“หนูขออนุญาตทบทวนความเข้าใจของหนู จะได้ตรงกับพี่ๆ ในเรื่องนี้ได้ไหมคะ
พี่สมชายจะกรุณาสรุปปัญหาของลูกค้า ให้ฝ่ายผลิต พี่สมหวัง และฝ่ายหนู ฝ่ายบริการลูกค้าหลังการขาย ภายในสัปดาห์หน้า
จากนั้นพี่สมชายจะเรียกประชุม 3 ฝ่าย เพื่อสรุปปัญหาและแนวทางการแก้ไขร่วมกัน เพื่อนำเสนอในการประชุมทีมครั้งต่อไปในวันที่ 17 เดือนเมษายน
"หนูเข้าใจถูกไหมคะ”
จบ สรุปได้ดี มีสกุล สมเป็นมืออาชีพอย่างยิ่ง
หากไม่ช่วยกัน แล้วใครจะช่วยเรา