“ซูเปอร์บอร์ดการศึกษา” : สังคมเพรียกหาซูเปอร์แมน

นายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชาบอกว่าจะตั้ง “super board” เพื่อกำกับดูแลเรื่องการศึกษาของชาติ โดยจะนั่งหัวโต๊ะเป็นประธานสั่งการเอง
ท่านบอกว่าได้คุยกับรัฐมนตรีศึกษาแล้ว ยืนยันว่าไม่ใช่เป็นการก้าวก่ายหน้าที่งานการของรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง แต่นายกฯต้องการเข้ามาช่วย เพราะต้องการให้ได้ผลเร็วขึ้น เพราะหน่วยงานในกระทรวงฯ และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ยังเจอกับข้อจำกัดและกฎเกณฑ์ที่ทำให้งานด้านการศึกษาไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร
นายกฯพูดถึงปัญหาขนาดของห้องเรียน ความเป็นธรรม หลักสูตร และวิชาหน้าที่พลเมือง ประวัติศาสตร์ ประชาธิปไตย ความรักชาติ และให้กระบวนการเรียนรู้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์และมีคุณภาพ
เมื่อต้องตั้ง “super board” ที่ไหน ก็แปลว่าที่นั่นมีปัญหาที่กลไกปกติทำงานไม่ได้ หรือทำได้แต่ไม่คล่องตัวเพียงพอ หรือไม่มีอำนาจสั่งการให้เกิดประสิทธิภาพได้เท่าที่ควร เหมือนอย่างที่เกิดกับรัฐวิสาหกิจทั้งหลาย
ประเด็นอยู่ที่ว่าการปฏิรูปการศึกษาที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นงานที่กระทรวงฯ หรือ สปช. หรือคณะกรรมการมากมายหลายคณะนั้นทำไปถึงไหน มีแผนการอะไร ประเมินหรือยังว่าที่ทำมาประสบความสำเร็จหรือไม่อย่างไร และมีแผนระยะกลางระยะยาวอย่างไร
เพราะคำถามแรกที่เกิดเมื่อได้ยินนายกฯประกาศทางโทรทัศน์คืนวันศุกร์ก่อนว่าท่านจะตั้ง “ซูเปอร์บอร์ดการศึกษา” และจะเป็นประธานเองก็คืออำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการใหม่และใหญ่กว่าชุดนี้จะอยู่ที่ไหน และจะทำอะไรที่กระทรวง หรือ สปช. ทำไม่ได้
การปฏิรูปการศึกษาของชาติเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมากกว่าเรื่องอื่น ๆ อะไรทั้งหมด แต่ที่ผลสัมฤทธิ์ของความพยายามยกระดับและคุณภาพการศึกษาของไทยยังต่ำ ก็เพราะความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวงที่ว่าการศึกษาของชาติขึ้นอยู่กับกระทรวงศึกษาเท่านั้น
ความจริง การศึกษาของประเทศจะพัฒนาก้าวหน้าไปได้จะต้องเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายของสังคมและรัฐต้องระดมสรรพกำลังเข้ามา โดยต้องไม่มีการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง และเอกชนกับผู้ปกครองต้องมีบทบาทอย่างคึกคัก อีกทั้งจะต้องมีการประเมินผลคุณภาพของการศึกษาทุกระดับอย่างต่อเนื่องและมีแผนปรับปรุงตลอดเวลา
ความจริง ประเทศไทยเราไม่ได้ขาดข้อมูลหรือคนที่มีความรู้ความสามารถทางด้านการศึกษาแต่อย่างใด แต่ที่ผ่านมากลไกรัฐขาดความคล่องตัว และนักการเมืองกับข้าราชการที่เกี่ยวข้องใช้ “อำนาจ” ในตำแหน่งหน้าที่ในการทำงานมากกว่าการใช้ “ความถ่อมตน” ในการแสวงหาความร่วมมือจากทุกฝ่ายในสังคม
การสร้างคุณภาพการศึกษาไม่ได้อยู่ที่คณะกรรมการทั้งหลายที่ตั้งโดยคำสั่งการเมืองหรือระบบราชการ หากแต่อยู่ที่ทุกครอบครัวที่จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ “ยกเครื่อง” ระบบการศึกษาอย่างแท้จริง
นายกฯไม่ได้บอกว่า “ซูเปอร์บอร์ดการศึกษา” ที่ว่านี้จะมีหน้าตาอย่างไร และจะแบ่งหน้าที่งานการกับกระทรวงฯและ สปช. อย่างไร แต่หากจะได้ผลจริง “บอร์ดในสถานการณ์พิเศษ” อย่างนี้ก็จะต้องสามารถกล้าคิดและทำอะไรนอกกรอบที่จะสามารถลงมือมาแก้ไขทุกประเด็นของการศึกษาไทยอย่างชัดเจน และวาง master plan ห้าปีสิบปีเพื่อสร้างคนไทยสำหรับยุคดิจิทัลที่สอดคล้องกับความเป็นสังคมไทยอย่างเป็นระบบ ให้การเรียนรู้เป็นประสบการณ์ที่สร้างความสุข, ให้การแข่งขันเป็นไปอย่างกัลยาณมิตรและให้เด็กไทยโตขึ้นเข้าใจคำว่า “ประชาธิปไตย เสรีภาพ หน้าที่และความรับผิดชอบ” อย่างถ่องแท้มากกว่าที่เป็นอยู่
เข้าใจได้ว่าคำว่า Super Board ไม่ได้หมายถึง Superman หากแต่ย่อมาจาก Supervisory Board อันหมายถึงคณะกรรมการที่มา “กำกับดูแล” ให้เกิดผลงานเป็นที่ประจักษ์
แต่ในความคาดหวังของคนไทยนั้น อะไร ๆ ที่ “ซูเปอร์” ก็ต้องมีผลผลิตอย่าง “ซูเปอร์” ด้วย