เศรษฐกิจสร้างคุณค่า พัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน (1)

เศรษฐกิจสร้างคุณค่า พัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน (1)

ท่านผู้อ่านครับ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พึ่งพิงภาคการส่งออกเป็นหลัก

จะเห็นได้จากสัดส่วนมูลค่าการส่งออกต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมที่สูงกว่า 70% ในทางตรงกันข้ามภาคการส่งออกของไทยกลับมีอัตราการเติบโตที่ถดถอยมาตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งอาจอธิบายได้ว่าเป็นผลจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ดี ในภาวะปัจจุบันที่มีแนวโน้มการแข่งขันที่เข้มข้นยิ่งขึ้น จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่ใกล้เข้ามา ถึงเวลาแล้วครับที่ควรจะปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของเรา เพื่อสร้างความเข้มแข็งและลดความอ่อนไหวตามภาวะเศรษฐกิจโลก

ปัจจุบันสินค้าที่ไทยส่งออกหลักๆ ประกอบไปด้วย ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์สำเร็จหรือการรับจ้างผลิตสินค้าให้กับตราสินค้าดังๆของโลก หรือ OEM (Original Equipment Manufacturer) ซึ่งต้องเผชิญการแข่งขันอย่างหนักจากตลาดที่ค่าแรงถูกกว่า เพื่อความอยู่รอด ประเทศไทยจะต้องเร่งวางรากฐานเพื่อเปลี่ยนจากเศรษฐกิจฐานการผลิต(Production-based Economy) สู่การเป็นเศรษฐกิจที่ก้าวนำโดยเพิ่มคุณค่าสินค้าและบริการ(Value-driven Economy)

Value-driven Economy คือเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นคุณค่าของสินค้า เป็นปัจจัยกำหนดราคา ผู้บริโภคยินดีจะจ่ายแพงกว่าเพื่อให้ได้สินค้าที่ถูกใจและมีคุณค่า ใช้ประโยชน์ได้มากกว่า

โอกาสที่ไทยจะพัฒนาเป็น Value-Driven Economy ได้นั้น จะต้องสร้างคุณค่าจากความสามารถที่มีอยู่ซึ่งผมเห็นว่า ประเทศเรามีศักยภาพที่จะพัฒนาไปสู่ Value-Driven Economy ได้ไม่ยาก ด้วยการสร้างฐานเศรษฐกิจ 4 มิติ ด้วยกันครับ ได้แก่ (1) เศรษฐกิจฐานความเชื่อมโยง (2)เศรษฐกิจฐานดิจิทัล (3) เศรษฐกิจฐานความรู้ และ (4) เศรษฐกิจฐานความคิดสร้างสรรค์

ในส่วนของมิติที่ 1 เศรษฐกิจฐานความเชื่อมโยง (Connectivity-based Economy) การที่ประเทศไทยมีที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางของภูมิภาค ทำให้ไทยมีโอกาสในการเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ภูมิภาคที่มีผู้บริโภคถึง 600 ล้านคน และเศรษฐกิจมีขนาดใหญ่อันดับ 7 ของโลก

โดยการวางตัวเป็นจุดศูนย์กลางการเชื่อมต่อของภูมิภาค ประเทศไทยจะต้องสร้างมีโครงสร้างพื้นฐานทางการขนส่งและการคมนาคม ให้เชื่อมโยงทั้งภูมิภาคเพราะไทยอยู่ในที่ตั้งเป็นศูนย์กลาง ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งทางราง ทางบก และทางเรือ และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เอื้ออำนวยทำธุรกิจสะดวก เพื่อสร้างโอกาสในการวางตนเองเป็นศูนย์กลางทางการขนส่ง (Logistics Hub) ศูนย์กลางการค้าระดับสากล(International Trading Center) ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของนานาประเทศ(International Headquarter) สร้างนิคมอุตสาหกรรมด้านโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรมชายแดน เพื่อให้นักลงทุนเข้าถึงแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SpecialEconomic Zone) ที่มีความพร้อมรองรับนักลงทุน การพัฒนาเป็นศูนย์การประชุมและแสดงสินค้าในระดับสากล(Meeting Incentives, Conferencing, Exhibitions หรือ MICE) และการเป็นศูนย์กลางในการค้าขาย (Trading Hub)ตลอดจนเร่งพัฒนาอุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ เพื่อรองรับการใช้พื้นที่เป็นสำนักงานและพื้นที่อยู่อาศัยทางแนวราบและแนวตั้ง

มิติที่ 2 สร้างให้ประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจฐานดิจิทัล (Digital-based Economy) ซึ่งต้องอาศัยการพัฒนาโครงข่ายอินเทอร์เน็ตและ ICT ที่มีประสิทธิภาพ และความรู้ความสามารถทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการพัฒนา software ซึ่งจะสร้างโอกาสในการส่งเสริมให้เกิดช่องทางต่างๆมากมาย เช่น การระดมทุนโดยผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมผ่านระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ (Crowd Funding Portal) การซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (Internet Trading and Brokerage) การพัฒนาแอพพลิเคชันเชิงสร้างสรรค์ (Innovative Applications) และ การพัฒนาศูนย์กลางการทำธุรกิจผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก(World Class E-market Places)

สำหรับมิติที่ 3 การสร้างประเทศไทยบนเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-based Economy) คือการเสริมสร้างความรู้ ความเชี่ยวชาญบางด้านที่ไทยมีศักยภาพและมีความจำเป็น เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ไทยมีฐานและมีความได้เปรียบ โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ การวิจัยและพัฒนา โดยต้องส่งเสริมนิคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(Science and Technology Park) ซึ่งจะเป็นแหล่งบ่มเพาะนักประดิษฐ์ นักวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม

การพัฒนาด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) เทคโนโลยีการอาหาร(Food Technology) ที่ช่วยพัฒนาการเกษตรหรือนำผลผลิตการเกษตรไปต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่า และการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรม (Innovation Hub) ด้านที่ไทยมีศักยภาพของภูมิภาคในที่สุด โดยในส่วนของ Knowledge-based Economy นี้ ต้องพัฒนายกระดับความสามารถ เมื่อเรามีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ผนวกกับโครงสร้างพื้นฐานด้านการเดินทางที่สะดวก ในส่วนของ Connectivity-based Economyและการบริการที่ดีเยี่ยมของไทย ก็จะช่วยส่งเสริมโอกาสของประเทศในการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ได้เช่นกัน

ในส่วนของมิติที่ 4 สร้างประเทศไทยโดยมุ่งสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creativity-based Economy) ซึ่งเป็นความสามารถที่เป็นจุดเด่นของคนไทยอยู่แล้ว อันจะเห็นได้จากผลงานของคนไทยที่ได้สร้างชื่อเสียงระดับโลกมากมาย โดยอาศัยความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นการทำการ์ตูนแอนิเมชัน ภาพยนตร์ การออกแบบสินค้าแฟชั่นและผลิตภัณฑ์ ซึ่งควรได้รับการสนับสนุนให้ต่อยอดขึ้นไปอีก เช่น การพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางของตลาดสื่อดิจิทัล (Digital Marketing Hub) การพัฒนาศูนย์กลางการออกแบบสินค้าอุตสาหกรรม(Industrial Product Design Center) การพัฒนาอุตสาหกรรมการออกแบบแฟชั่น (Fashion Design Industry) การพัฒนาตลาดให้สินค้า OTOP และสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีความโดดเด่นเป็นต้น

มาถึงตรงนี้ คงจะพอเห็นภาพกันนะครับว่ามีโอกาสมากมายที่จะเปลี่ยนประเทศไทยไปสู่Value-driven Economy ได้ แต่ต้องทุ่มเททำงานหนักอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การตระหนักถึงประโยชน์ที่ประเทศของเราจะได้รับและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานของรัฐ ผู้มีพันธกิจในการส่งเสริมการพัฒนาของประเทศ ได้เล็งเห็นถึงความท้าทายและโอกาสของประเทศไทยดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้จึงได้ผลักดันและสนับสนุนให้ตลาดทุนเป็นกลไกสำคัญ ในการเสริมสร้างให้ประเทศไทยก้าวสู่เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยคุณค่า หรือเรียกเศรษฐกิจสร้างคุณค่า Value-driven Economy อย่างภาคภูมิ


โดยในตอนหน้า ผมจะเล่าให้ฟังต่อถึงแผนยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต. ที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจสร้างคุณค่าครับ สำหรับวันนี้ ผมขอถือโอกาสสวัสดีปีใหม่แก่ท่านผู้อ่านทุกท่าน และขออาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย โปรดอำนวยพรแด่ท่านและครอบครัว ให้ประสบแต่ความสุข ความเจริญ มีสุขภาพดีตลอดปี 2558 และตลอดไปครับ