แนวโน้มโลก 2050 ตอนที่ 3 : สังคมโลก...สังคมผู้สูงอายุ

แนวโน้มโลก 2050 ตอนที่ 3 : สังคมโลก...สังคมผู้สูงอายุ

ข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ พบว่าในปี 2047 จะเป็นครั้งแรกของโลกที่จำนวนประชากรอายุ 60 ปี มีมากกว่าประชากรเด็ก

บทความก่อนหน้านี้ ผมได้กล่าวถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของโลกในปี 2050 ไปแล้วว่าจะมีทิศทางในอนาคตเป็นอย่างไร ประเทศใดบ้างที่จะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจต่อไป และประเทศไทยควรปรับตัวอย่างไรให้สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของโลกในอนาคต

ทว่า ยังมีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกด้านหนึ่ง คือ การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างทางสังคม เนื่องจากว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ ผมขอนำเสนอแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางสังคมสำคัญที่จะเกิดขึ้นในปี 2050 ดังต่อไปนี้

ลักษณะโครงสร้างทางสังคมในอีก 40 ปีข้างหน้า จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นสังคมแห่งผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ หรือกล่าวได้ว่า สังคมโลกในอนาคตจะเป็นสังคมที่ผู้สูงอายุครอบครองก็เป็นได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรของโลก ที่คนเกิดน้อยลงและอายุยืนมากขึ้น ทำให้ประชากรทั่วโลกจะมีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้นอย่างน้อย 9 ปี และประชากรทั่วโลกที่มีอายุมากกว่า 65 ปี จะมีจำนวน 2 พันกว่าล้านคน คิดเป็นสัดส่วนได้ 1 ใน 5 หรือร้อยละ 20 ของประชากรทั้งโลก ซึ่งพบได้ในเกือบทุกประเทศแถบยุโรป โดยเฉพาะประเทศอิตาลี เยอรมัน อังกฤษ และสแกนดิเนเวีย รวมไปถึงประเทศญี่ปุ่น ที่เป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ตั้งแต่ปี 2010 และจากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ พบว่า ในปี 2047 จะเป็นครั้งแรกของโลกที่จำนวนประชากรอายุ 60 ปี จะมีมากกว่าจำนวนประชากรเด็ก นอกจากนี้ จากการคาดการณ์จำนวนประชากรผู้สูงอายุในปี 2050 ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่จะมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุมากเป็นอันดับที่ 2 คือ รองจากประเทศสิงคโปร์ และประเทศลาว เป็นประเทศที่มีสัดส่วนของจำนวนประชากรผู้สูงอายุต่ำที่สุดในกลุ่ม

ในปี 2014 นี้ ประเทศที่มีสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุดีที่สุดจากทั้งหมด 96 ชาติ คือ ประเทศนอร์เวย์ รองลงมาเป็นแชมป์เก่าอย่างประเทศสวีเดน และประเทศอัฟกานิสถานรั้งอันดับท้ายสุด วัดด้วย The Age Watch Index ที่มีตัวชี้วัดทั้งหมด 4 ด้าน 13 ประการ เช่น อายุขัย โครงการเงินบำนาญสำหรับผู้สูงวัย ระบบขนส่งสาธารณะ และอัตราความยากจนในหมู่ประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปี เป็นต้น ซึ่งรวบรวมข้อมูลโดยองค์การไม่แสวงหากำไร Helpage International ร่วมกับกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) โดยเริ่มจัดอันดับเป็นครั้งแรกในปี 2013 และในปี 2014 นี้ ผลอันดับต่างๆ ที่ปรากฏ คือ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา และเยอรมนี ติด 5 อันดับแรกของประเทศที่มีสวัสดิการคุ้มครองผู้สูงวัยดีเยี่ยมที่สุด ขณะที่ประเทศสหรัฐฯ ครองอันดับ 8 ตามมาด้วยญี่ปุ่นอันดับ 9 ส่วนจีนอยู่ที่อันดับ 48 รัสเซียอันดับ 65 และอินเดียอันดับที่ 69

สำหรับประเทศไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรเช่นเดียวกัน ทำให้ในปัจจุบันมีจำนวนประชากรสูงอายุเป็นจำนวนมากเช่นกัน คือ ประมาณร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด และในปี 2050 จะมีผู้สูงอายุถึงประมาณ 25% ของประชากรทั้งหมด จากการจัดอันดับเมื่อปี 2013 ประเทศไทยได้อันดับที่ 42 ในขณะที่ปี 2014 ได้อันดับดีขึ้น คือ อยู่ที่อันดับ 36 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง แต่ว่าดีที่สุดในกลุ่ม 6 ประเทศ ASEAN ที่รับการสำรวจ ประเทศไทยมีคะแนนดีที่สุดในด้านสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อผู้สูงอายุ โดยอยู่ในอันดับที่ 12 แต่ทว่า สถานการณ์รักษาพยาบาลกลับอยู่ในอันดับปานกลาง คือ อันดับที่ 41 ส่วนในด้านความมั่นคงทางการเงิน อยู่อันดับที่ 58 และด้านการจ้างงานกับการศึกษาอยู่อันดับที่ 73

จากผลการสำรวจ ประเทศที่มีการจัดการด้านผู้สูงอายุดีที่สุด ล้วนเป็นประเทศพัฒนาแล้วทั้งสิ้น ในขณะที่ในกลุ่ม 5 ประเทศ BRICS ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้นั้น แม้ว่าจะมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจจนเติบโตอย่างรวดเร็วตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทว่าการรับมือกับสังคมผู้สูงอายุยังไม่มีการเตรียมความพร้อมเท่าที่ควร ซึ่งก็ไม่ต่างจากกลุ่ม ASEAN เท่าใดนัก คือ ประเทศฟิลิปปินส์ อยู่อันดับ 44 ประเทศเวียดนามอันดับที่ 45 ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์ไม่ได้อยู่ผลสำรวจ เพราะปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้สูงอายุ โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและเป็นเรื่องเชิงสังคมที่ละเอียดอ่อนบนค่าใช้จ่ายการดูแลที่สูง

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นด้านสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อผู้สูงอายุ ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศเป้าหมายเพื่อการพักผ่อนและการท่องเที่ยวระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่น ยุโรป หรือออสเตรเลีย นอกจากนี้ มีการให้บริการที่ดีและมีความพร้อมในเรื่องการอำนวยความสะดวกด้านสุขภาพ สถานพยาบาล โรงแรม ร้านอาหารต่างๆ สำหรับนักท่องเที่ยว ก่อให้เกิดเป็นโอกาสของประเทศไทยในการสร้างธุรกิจหรืออุตสาหกรรมใหม่

ทิศทางในอนาคตสำหรับสังคมไทย คือ ลักษณะทางสังคมต้องปรับเปลี่ยนเป็นสังคมที่เอื้อเฟื้อ คำนึงถึง และให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุมากขึ้น มีการอำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุไทยโดยเฉพาะ ทั้งสินค้าและบริการ รวมไปถึงจะมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุโดยตรงมากยิ่งขึ้น เช่น นโยบายเรื่องเงินบำนาญในประเด็นของวิธีการจ่ายเงินและบทบาทของเงินบำนาญในการช่วยเหลือผู้สูงวัยที่ยังสามารถเคลื่อนไหวและพึ่งพาตนเองได้ เป็นต้น

ประเทศไทยในปี 2050 กับสังคมผู้สูงอายุ เป็นสิ่งที่ประเทศต้องเผชิญและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คำถามสำคัญในวันนี้ คือ ประเทศมีการเตรียมความพร้อม เพื่อรับรองการเปลี่ยนแปลงนี้มากน้อยเพียงใด ประเทศไทยควรเตรียมความพร้อมทั้งด้านทรัพยากรทุน ทรัพยากรมนุษย์ ระบบรองรับเรื่องสุขภาพ การอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ รวมถึงความปลอดภัยในที่อยู่อาศัย อาหาร และการเดินทางให้เป็นไปอย่างครบวงจร รวมไปถึงควรมีการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรในประเทศทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชนให้เท่าเทียมและก้าวทันประเทศอื่นๆ เพื่อก้าวไปสู่การมีบทบาทสำคัญในระดับโลกมากขึ้น