ทีวีดิจิทัล-ก้าวข้ามจอดำ "หัวจักร"เศรษฐกิจดิจิทัล

ทีวีดิจิทัล-ก้าวข้ามจอดำ "หัวจักร"เศรษฐกิจดิจิทัล

พลันคำว่า "เศรษฐกิจดิจิทัล" (Digital Economy) ปรากฏขึ้นในการเดินหน้านโยบายของรัฐบาล

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้มองเห็นความสับสนอลหม่านในการกำกับดูแลกิจการวิทยุ โทรทัศน์ โทรคมนาคมแห่งชาติ น่าจะกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ของการขับเคลื่อนประเทศไทย ไปสู่เศรษฐกิจใหม่แบบดิจิทัลนำหน้า

ไม่อยากให้เกิดภาวะอาลาดินถูตะเกียงให้ "ยักษ์" พวยพุ่งออกมาเพื่อมา "จัดการ" ความยุ่งเหยิงของอุตสาหกรรมนี้ที่เป็นหนึ่งใน "หัวจักร" ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ยังไม่ค่อยขยับไปถึงไหน

ดังเช่นการบิดเป้าหมายประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 27 ให้เป็นประโยชน์กับตัวเองที่มีฟรีทีวีช่องอลาล็อกบางช่อง ช่างกล้าบอกว่า มีสถานะเสมือนพระราชบัญญัติให้การคุ้มครองฟรีทีวีแบบอนาล็อกภาคพื้นดิน สามารถออกอากาศในระบบโทรทัศน์ ส่งผ่านดาวเทียมได้โดยอัตโนมัติ โดยไม่คำนึงถึงหลักเกณฑ์ประกาศของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ(กสทช.) ที่พยายามสร้าง "สนามแข่งขันที่เท่าเทียม" (Level Playing Field)

อาจารย์โกศล เพร็ชสุวรรณ แบ่งเศรษฐกิจดิจิทัลไว้ 6-7 ด้าน เช่น ธุรกิจด้านโทรคมนาคม, ธุรกิจด้านวิทยุ โทรทัศน์, ธุรกิจด้านไอที, ธุรกิจด้าน Digital Content และ ธุรกิจ E-Commerce

เชื่อหรือไม่ว่าประเทศไทยมีการจัดตั้งหน่วยงานราชการ, รัฐวิสาหกิจ, องค์การมหาชนที่มีหน้าที่ และความรับผิดชอบเศรษฐกิจดิจิทัลในทุกๆ ด้านอยู่แล้ว

ลองขานชื่อแล้วจะไม่เชื่อว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการจัดตั้งหน่วยงานที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น กระทรวงไอซีที, โครงการรัฐบาลอิเล็คทรอนิกส์.เนคเทค, สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA), สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA), คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บริษัท ไอเน็ต จำกัด (มหาชน), บริษัท TOT จำกัด(มหาชน), บริษัท CAT จำกัด (มหาชน), กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี, พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ ฯลฯ

แต่ต่างฝ่ายต่างทำงานแยกจากกัน และไม่ขึ้นต่อกันแบบไซโลที่ขอบเขตงานไม่เกี่ยวข้องกัน ทั้งที่เกี่ยวกันอย่างแยกไม่ออก ขอจำกัดวงพูดเฉพาะด้านวิทยุ โทรทัศน์และโทรคมนาคม เพื่อก้าวข้ามปัญหา "ช่อง 3 จอดำ" ที่เป็นเพียงปัญหาเล็กๆ ในช่วงระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากฟรีทีวีระบบอนาล็อกไปสู่ฟรีทีวีระบบดิจิทัล

หากมองเช่นนี้อาการดื้อดึงของกลุ่มบริษัทบีอีซีเวิร์ล หรือ ช่อง 3 เป็นเพียงการดิ้นรนครั้งสุดท้ายของกลุ่มธุรกิจที่คุ้นเคยกับธุรกิจอนาล็อก ที่มาจากระบบสัมปทานที่อิงแอบกับระบบอุปถัมภ์อำนาจนิยม

เพียงแค่ระยะเวลาเท่านั้น อีกแค่ 3-4 ปีข้างหน้า ภายในปี 2561 ตามแผนแม่บทกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ได้กำหนดห้วงเวลาสิ้นสุดระบบฟรีทีวีอนาล็อกที่มีอายุมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ

ภาพของช่อง 3 กับช่อง 7 ที่เคยครอบครองส่วนแบ่ง "คนดู (EYEBALL) รวมกันมากกว่า 70-80% ของคนไทยและกึ่งผูกขาดเงินโฆษณารวมกันมากกว่า 70% ของวงโฆษณาในอุตสาหกรรมโทรทัศน์จะค่อยๆ กลายเป็นอดีตในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เมื่อสนามการแข่งขันเท่าเทียมกันมากขึ้น การแข่งขันจะไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกันมากนัก

อุตสาหกรรมโทรทัศน์เป็นอุตสาหกรรมเดียว ที่จะชี้ขาดกันด้วยกรรมการตัดสินที่เป็นคนดูทั้งประเทศ แต่ละช่องทีวีจะได้ส่วนแบ่ง "คนดู-รายได้" มาจากการตัดสินใจของคนดูที่พึงพอใจ "เนื้อหา" ของแต่ละช่องรายการเท่านั้น

"เนื้อหา" จะเป็นดัชนีวัด "เศรษฐกิจดิจิทัล" ในภาควิทยุ-โทรทัศน์ เนื้อหามาจาก "ความคิดสร้างสรรค์" ของทรัพยากรมนุษย์ หรือ Peopleware ที่ยังเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด ของการเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัลที่มีความไม่พร้อมในทุกๆด้าน

กสทช. ที่เป็นหน่วยงานกำกับและดูแลกิจการวิทยุ โทรทัศน์และโทรคมนาคมที่ทำได้เพียงแค่การก่อสร้าง" โครงสร้างพื้นฐาน" เพื่อเป็น "สื่อ" นำ "ข้อมูล-เนื้อหา" ไปถึงบริโภค ซึ่งยังไม่มีหน่วยงานใดมายกระดับ "เนื้อหา" ให้ได้คุณภาพในระดับสินค้าส่งออก ดังเช่นประเทศเกาหลีใต้ที่ส่งออกคอนเทนท์เป็นสินค้าวัฒนธรรม

ภาคโทรคมนาคม คือ การประมูลใบอนุญาตโทรศัพท์ 3G ที่ได้ผู้เล่นหน้าเดิม 3 ราย กับผู้เล่นเก่าในสายโทรคมนาคมที่ยังอยู่บนโครงข่ายแบบอนาล็อก ไร้ประสิทธิภาพในการสื่อสาร-ส่งผ่านข้อมูลขนาดใหญ่

ภาคโทรทัศน์คือการประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 24 ช่อง ที่ได้ผู้เล่นหน้าใหม่ 14 บริษัท กับผู้เล่นหน้าเก่า 3 บริษัท ที่ยังยักแย่ยักยันกับระบบออกอากาศแบบอนาล็อกที่กำหนดวันสิ้นสุดไว้แล้วในปี 2561 และการวางโครงข่ายทีวีดิจิทัลทั่วประเทศที่มีแผนให้เสร็จสิ้นภายใน 4 ปี

ภาควิทยุกระจายเสียง กำลังอยู่ระหว่างการรอผลการทดลองออกอากาศ "วิทยุดิจิทัล" กับผู้เล่นหน้าเก่าอีกหลายพันสถานีวิทยุ ที่ยังเป็นการใช้คลื่นแบบอนาล็อก เสียงรบกวนตีกันยุ่งเหยิง

กระทรวงไอซีที เคยมีความพยายามจัดสัมมนาระดับชาติ เพื่อระดมสมองผู้ที่เกี่ยวข้องกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทีวีดิจิทัล และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ยังเคยจัดทำรายงานผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์โครงการศึกษาวิจัยเรื่อง "แนวทางการจัดทำนโยบายการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบโทรทัศน์ดิจิทัลสำหรับประเทศไทย"

แต่ กสทช. ดำรงตนเป็น "องค์กรอิสระ" ที่ไม่ได้ขึ้นต่อกระทรวงไอซีทีมีกฎหมายรองรับเป็นการเฉพาะ ความพยายามของกระทรวงไอซีทีกับเนคเทคทำได้แค่ "จัดสัมมนา" ที่ไม่ได้รับการแยแสจาก กสทช.

กสทช.จึงเป็นหน่วยงาน "หัวหอก" เศรษฐกิจดิจิทัล ในภาควิทยุ โทรทัศน์และโทรคมนาคม ที่ทำหน้าที่แบบเบ็ดเสร็จ คือ เขียนแผน-ทำแผนให้เป็นจริง-กำกับดูแล ความรับผิด-ความรับชอบอยู่ภายใต้หน่วยงานเดียวที่ไม่แน่ใจว่า ขีดความสามารถของบุคลากรในหน่วยงานอิสระแบบนี้จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ไปได้ถูกทิศถูกทางหรือไม่

แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเรียกร้องให้ กสทช. ไปขึ้นอยู่กับกระทรวงไอซีทีแต่อย่างใด การเกิดขึ้นของกระทรวงไอซีทีในสมัยรัฐบาล "ทักษิณ ชินวัตร" อย่างรีบเร่งขาดการวางแผนอย่างรัดกุม ทำให้กระทรวงไอซีทีมีผลงานหลักไล่จับเว็บโป๊เสียมากกว่าจะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ด้านไอซีทีของประเทศ

จึงเห็นแค่แผนแม่บทของ กสทช. ที่ "เก่ง" ทำให้การเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัล 24 ช่อง กับการได้เงินประมูล 50,000 ล้านบาท แต่ไม่ได้ "คิดต่อ" ไปว่าจะนำเงินก้อนใหญ่ขาดนี้ไป "ต่อยอด" ให้ทีวีดิจิทัล 24 ช่อง เอกชน, ทีวีสาธารณะ 12 ช่อง และ ทีวีชุมชนอีก 12 ช่อง ใน 39 พื้นที่ เพื่อทำให้การจัดสรรคลื่นความถี่สาธารณะด้วยการประมูลครั้งนี้ นำไปสู่การใช้ประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง ทั้งในเชิงข้อมูลข่าวสาร, ความบันเทิง, การศึกษาและสาธารณสุข

ช่วงที่ผ่านมา กสท. ทำได้ดีที่สุด คือ ขอแค่แวะข้างทางหรือเดินเข้าซอย แล้วขอเปลี่ยนกรอบคิดจากการนำเงินประมูลเพื่อแปลงเป็นคูปองแลกกล่องทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน (DVB-T2) ไปสู่กล่องทีวีดาวเทียม (DVB-S2) ที่มีช่องทีวีดิจิทัลตามกฎ Must Carry ที่เป็นเพียงแค่ "ช่องทีวีดิจิทัลจำแลง" บนโครงข่ายดาวเทียม

แล้วทำให้เกิดปัญหาทะเลาะเบาะแว้ง ในแวดวงโทรทัศน์อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน กว่าข้อโต้แย้งที่ไม่ได้แก่นสารใดๆ จะได้ข้อยุติกลับมาเริ่มต้นในจุดเดิมได้ทำร้ายผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่แบกภาระเงินประมูลสูงลิ่วนานอีกหลายเดือนกว่าจะเริ่มเดินหน้าได้

ประชาชนชาวไทยแทบไม่รู้เลยว่า "ทีวีดิจิทัล" มีคุณลักษณะพิเศษมากกว่า "ทีวีอนาล็อก" มากแค่ไหน จึงไม่แปลกที่ช่อง 3 ครอบครอง" คลื่นความถี่สาธารณะในแบบอนาล็อกมากว่า 40 ปี สามารถครองใจให้ผู้คนเรียกร้องไม่ให้ "จอดำ" ช่อง 3 ทั้งๆ ที่ไม่เดินตามกติกา หรือเพื่อผลักไสให้รีบๆ เลิกระบบอนาล็อกเสียที ทั้งๆ ที่มีระบบทีวีดิจิทัลเป็นทางเลือกที่มองเห็นภาพชัดๆ แล้วถึง 24 ช่องและกำลังจะมาอีกถึง 24 ช่อง

ทีวีดิจิทัลเหนือกว่าทีวีอนาล็อก คือสามารถทำให้การใช้คลื่นความถี่คุ้มค่ามากขึ้น เช่น เพิ่มช่องรายการจาก 1 คลื่นความถี่ทำได้แค่ 1 ช่องรายการเป็น 4-6 ช่องรายการที่มีความคมชัดมากกว่าปกติแบบ HD

การเกิดขึ้นของระบบทีวีดิจิทัล ทำให้เกิดอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และอุตสาหกรรมโทรทัศน์รุ่นใหม่ที่มีจอภาพคมชัดในระดับ HD และจะก้าวไปสู่ความคมชัดเป็น 4 เท่าของ HD, ระบบอินเตอร์แอคทีฟ, ระบบ E-Commerce, กล่องรับสัญญาณภาคพื้นดินที่มีฟังก์ชั่นใช้งานหลากหลาย ฯลฯ

ทีวีดิจิทัลจึงเป็นเสมือนหัวรถจักรของการสร้าง "เศรษฐกิจดิจิทัล" ที่จะทำให้เกิดอุตสาหกรรมที่เป็นฮาร์ดแวร์และอุตสาหกรรมที่เป็นซอฟต์แวร์ กับธุรกิจบริการด้านเนื้อหาที่สร้างสรรค์ในรูปแบบใหม่ๆ หวังอย่างยิ่งว่ากรอบแนวคิดกระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัลที่รัฐบาล "ประยุทธ์ จันทร์โอชา" จะลงมาช่วยกำกับ "หางเสือ" ของ กสทช. ไม่ให้หลงทางไปมากกว่านี้ได้