ไฮเปอร์ลูป : ปฏิรูปคมนาคมไทยครั้งใหญ่

ไฮเปอร์ลูป : ปฏิรูปคมนาคมไทยครั้งใหญ่

ไฮเปอร์ลูป (hyperloop) ชื่อนี้คนไทยหลายคนคงรู้จักแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่รู้จักดีนัก

นี่คือแนวคิดให้การคมนาคมแบบใหม่ที่ "อีลอน มัสก์ (Elon Musk)" เศรษฐีนักลงทุนชาวอเมริกันได้คิดขึ้น จะทำให้สามารถวิ่งได้เร็วได้สูงสุดถึง 1,150 กม.ต่อชม. ภายในท่อที่ควบคุมความดัน ประหยัดเวลาและพลังงานกว่าการเดินทางแบบอื่นๆ

แล้วยังไงละ.... คือ ผมคิดว่ามันจะดีกว่าไหม หากประเทศไทยจะปฏิรูปไปใช้ ไฮเปอร์ลูป เสียเลยซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ามากๆ แทนที่จะปฏิรูปรถไฟความเร็วต่ำ ไปสู่ รถไฟความเร็วปานกลาง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีตามหลังญี่ปุ่น 100 ปี มาดูข้อดีของ "ไฮเปอร์ลูป" ที่ผมอาจแปลเป็นไทยได้ว่า "ท่อยิ่งยวด"

1. เร็วกว่า : การเดินทางในท่อที่เกือบสุญญากาศ ทำให้แรงเสียดทานลดลงมาก จึงสามารถทำความเร็วได้สูงสุดถึง 1,150 กม.ต่อชม. ซึ่งเร็วกว่าเครื่องบินที่ 900 กม.ต่อ ชม. และ เร็วกว่าสุดยอดของระบบรางของญี่ปุ่นที่ใช้พลังงานแม่เหล็กไฟฟ้ายกรถไฟให้ลอยอยู่เหนือราง หรือที่เรียกว่า Maglev ที่ความเร็วเกือบ 600 กม.ต่อชม.ถึง 2 เท่า และ เร็วกว่ารถไฟความเร็วสูงของจีนที่วิ่งราว 300 กม.ต่อชม.ถึง 4 เท่าตัว

และ แน่นอนวิ่งเร็วกว่า รถไฟความเร็วปานกลางตามแผนที่วางไว้ 150 กม.ต่อ ชม.ถึง 8 เท่าตัว

2. ถูกกว่า : เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่ ประยุกต์มาจาก "ท่อส่งเอกสาร" จึงไม่ต้องมีการวางรางเหล็ก ระบบสัญญาณ และ สายไฟฟ้าเลย ต้นทุนการก่อสร้างมีการประเมินว่าน่าจะลดลงได้ครึ่งหนึ่ง จาก 600 ล้านบาทต่อ กม. ของรถไฟความเร็วสูง เหลือเพียง 300 ล้านบาทต่อกม. เท่านั้นเอง

3. ประหยัดกว่า : มีการวางแผงโซลาร์เซลล์ไปด้านบนท่อ ดังนั้น การเดินทางนี้ไม่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวนมากเหมือนรถไฟความเร็วสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ค่าก่อสร้างก็ถูกดังนั้น มีการประเมินว่า ค่าโดยสารจะอยู่ที่ราว 1 บาทต่อ กม. หรือพอๆ กับรถทัวร์ในปัจจุบันนั่นเอง ซึ่งต่ำกว่า ค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงที่ประเมินกันไว้ถึง 2.5 เท่า

แคปซูลของไฮเปอร์ลูป จะบรรจุผู้โดยสารได้ 28 คน และ อาจออกได้ทุกๆ 2 นาที จึงขนส่งผู้คนและสินค้าได้จำนวนมาก โดยแทบไม่มีต้นทุนพลังงาน เป็นการเปลี่ยนจาก "ระบบราง" ไปสู่ "ระบบท่อ"