อารมณ์ ความรู้สึก ความหวัง กับการเงิน

อารมณ์ ความรู้สึก ความหวัง กับการเงิน

สวัสดีครับ วันนี้ผมเปิดประเด็นดูแล้วสับสนไปหน่อยนะครับ

เพราะบ่อยครั้งที่ได้ถูกถามคำถาม หรือลองถามตัวเองในเรื่องหลาย ๆ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเงิน โดยเฉพาะทางด้านตลาดเงินตลาด ทุน ไม่ว่าจะเป็นอัตราแลกเปลี่ยนจะไปทางไหน เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรในปีนี้ ทองจะขึ้นหรือลง ของจะขายได้มั้ยและไปขายที่ไหนดี

หากเรามองดูภาพรวมถึงปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเรื่องต่าง ๆ นั้น โดยทั่วไปจะมีสิ่งที่เกี่ยวข้องหลัก ๆ เพียง 2 เรื่อง คือ ปัจจัยพื้นฐาน และ ปัจจัยจิตวิทยา โดยปัจจัยทั้งสองนี้เป็นสิ่งที่รวบรวม กันของปัจจัยย่อย ๆ ต่าง ๆ ซึ่งปัจจัยพื้นฐานจะเป็นปัจจัยที่มองเห็นและดำเนินการอยู่ในเวลานั้น ๆ เช่น ส่งออกนำเข้ามีปริมาณมากหรือน้อย คนเดินทางระหว่างประเทศในอาเซียน GDP และเงินเฟ้อ มีอยู่ที่ระดับเท่าไหร่ และอัตราการเพิ่มหรือลดอยู่ที่ระดับไหน โดยปัจจัยพื้นฐานนี้เป็นปัจจัย ที่เราทำความเข้าใจได้ไม่ยาก

อีกด้านหนึ่งเป็นปัจจัยด้านจิตวิทยา ซึ่งเป็นด้านที่หลายคนไม่ได้คิดหรือกล่าวถึง แต่มีการนำเอาผลของความเข้าใจด้านจิตวิทยานี้มาใช้กันอย่างแพร่หลายโดยไม่รู้ตัว ซึ่งหากผมจะสรุปในการประเมิน สิ่งที่เกิดขึ้นมาหลายสิบปี การอ่านความเข้าใจของจิตของตลาด และคนที่อยู่ในตลาดได้นั้น จะทำให้คนที่เข้าใจสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีกว่า หรือ สามารถลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นมากกว่าคนอื่น ๆ

เครื่องมือง่ายๆ ที่เรามักจะใช้ในการพยากรณ์อัตราแลกเปลี่ยนในอนาคต (นอกเหนือปัจจัยพื้นฐาน) คือ การใช้กราฟ ซึ่งอาจจะเป็นกราฟเส้น กราฟแท่งแล้วนำเอาการคำนวณมาเฉลี่ยหาค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average) อาจจะเป็น 7, 15, 200 วัน แล้วแต่จะดู ซึ่งการดูกราฟนี้เป็นการแปลงความ รู้สึกของตลาดที่มีต่อราคาสินค้าอ้างอิงนั้น ๆ ในช่วงเวลาต่าง ๆ

บ่อยครั้งมีการบอกถึงแนวรับ หรือไม่ก็แนวต้าน มีทั้งแนวต้านชั่วคราว และแนวต้านหลัก ซึ่งจริง ๆ แล้วการมองแนวรับหรือแนวต้านนี้เป็นการบอกถึงจุดที่คนที่เกี่ยวข้องรับไม่ได้ที่จะถือครองสินค้า นั้น ๆ เช่นหากค่าเงินวันนี้อยู่ที่ราคา 32 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีแนวรับช่วงสั้นอยู่ที่ 31.80 และแนวต้านอยู่ที่ 32.25 โดยทั่วไปวิธีการอ่านคือ เงินดอลลาร์คงซื้อขายอยู่ในช่วงแนว 2 แนวนี้ โดยเป็นแนวที่รับได้ทั้งคนที่ต้องการซื้อ หรือขายดอลลาร์ในระยะเวลาช่วงสั้น ๆ นี้

แต่หากเงิน ดอลลาร์มีการอ่อนค่าลงใกล้ระดับ 31.80 ก็จะมีความเข้าใจได้ 2 มุม คือ คนแรกจะเข้าไปซื้อดอลลาร์ที่ระดับแนวรับ เพราะคิดว่าค่าเงินหรือสินค้านี้ คงไม่เสียมูลค่าลงไปต่ำกว่านี้ ส่วนอีกคนอาจจะรอที่จะซื้อหลังจากที่ค่าเงินหรือสินค้านี้มีราคาต่ำกว่า 31.80 ในทางกลับกันในด้านแนวต้านก็จะมีความเข้าใจได้ทั้ง 2 กรณีเหมือนกัน

ในตลาดเงินนั้น ความเข้าใจถึงจิตของการคาดหวังเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งจากตัวอย่างนี้จะเห็นว่าการ นำเอาการเปลี่ยนแปลงด้านราคามาแปลงลง ทำให้เราเข้าใจได้ง่ายขึ้น และตั้งสมมติฐานของความเข้าใจมาประกอบ ก็จะทำให้เราเอาชนะความคาดหวังของคนอื่น ๆ ได้

นอกจากความเข้าใจด้านความรู้สึกและอารมณ์ ที่หากเราเข้าใจมากขึ้นและสามารถทำให้เราได้เปรียบ ในการบริหารจัดการความเสี่ยงแล้วนั้น การนำเอาความเข้าใจด้านความรู้สึกหรืออารมณ์มาประกอบ การบริหารจัดเรื่องต่างๆนั้นก็สำคัญไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น ราคาหุ้น ราคาสินค้า ความรู้สึกต่อคุณภาพของสินค้าและบริการ (Branding) การให้ราคาหรือมูลค่าที่สามารถจ่ายในการรับบริการ หรือ ผลิตภัณฑ์ นั้นทำให้ Product or Service Positioning สามารถดำเนินการได้ต่างกับคู่แข่ง

อีกด้านหนึ่งที่เรามักจะเห็นเป็นข่าวกันอยู่บ่อยครั้ง คือ ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนักลงทุนใน หลักทรัพย์ที่มีอยู่ในตลาดหลาย ๆ ตลาดไม่ว่าจะเป็นตลาดที่พัฒนาแล้ว หรือตลาดที่ยังเริ่มต้นพัฒนา ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการดำเนินการที่มีการปิดบังข้อมูล หรือตบแต่งข้อมูล ที่ทำให้ข้อมูลตัวเลขหลายๆตัวดีเกิดจริง และด้วยอารมณ์ของพวกพาไป ด้วยเป็นผลให้การมองดูข้อมูลที่เป็นจริงนั้นไม่ได้มีการดูอย่างละเอียดพอ เช่นบางบริษัทมีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ และต้องมีการประกาศคุ้มครองหรือล้มละลาย เพราะข้อมูลที่มีอยู่ไม่เป็นจริง

โดยภาพที่เกิดขึ้นนั้น อารมณ์ ความรู้สึก และความหวัง มีผลต่อการเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมของตลาดเงินและตลาดทุนไม่น้อย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงและการเล่นกับอารมณ์ โดยผู้ที่อยู่ในตลาดต่างๆนี้มีอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากเราเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่เกี่ยวข้อง เราคงต้องเป็นหนึ่งในผู้ที่มีความเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น คือ

เข้าใจอารมณ์ของตลาด ไม่ง่ายครับแต่ต้องเข้าใจ หากเราอยู่ตลาดเงิน คนอื่น ๆ ดูกราฟ และดูแนวรับแนวต้าน เราคงไม่ดูไม่ได้ เพราะอย่างน้อยเรารู้ว่าคนส่วนใหญ่คิดอย่างไร ซื้อแถวไหน ขายแถวไหน แล้วราคาไหนเป็นราคาที่คนมักจะดูและระวัง เราคงไม่ต้องการเป็นคนที่ซื้อแพงและขายถูกนะครับ การเข้าใจอารมณ์ของตลาดนั้น รวมถึงการดำเนินการอื่น ๆ นอกเหนือจากการดูกราฟ ซึ่งอาจเป็นการสุ่มการทำแบบสอบถาม การทำความเข้าใจสถิติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วง

คิดตาม และคิดต่อว่าความคาดหวังเป็นอย่างไรเมื่อเราเข้าใจอารมณ์ของตลาดหรือลูกค้าแล้วนั้น คงต้องแปลงความเข้าใจเป็นผลที่จะเกิดขึ้น และถามตัวเองว่าเราจะทำอย่างไร หากเราเป็นผู้ส่งออก เราควรขายดอลลาร์เมื่อไหร่ดี หรือเราควรบริหารความเสี่ยงที่ระดับไหนดี หรือเราควรลงทุนในหลักทรัพย์นี้ดีมั้ย ซึ่งความคาดหวังของสิ่งที่จะเกิดขึ้นทำให้เกิดผล 2 ด้าน คือ ด้านของการทำ กำไร และด้านของการบริหารความเสี่ยง ซึ่งรวมถึงหากเรื่องต่าง ๆ ที่เราคิดนั้นไม่ได้เป็นไปตาม ที่เราคาดหวังนั้นเราต้องดำเนินการอย่างไร หากเราเป็นนักลงทุน และเราคิดว่าการลงทุนนี้น่าจะได้ กำไร แต่การลงทุนนี้ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เราต้องกำหนดจุดที่เราจะต้องตัดขาดทุน (Stop Loss) นี้ด้วยเพื่อให้เราสามารถจัดการผลการดำเนินการได้ดีขึ้น

ใช้ผลของความเข้าใจ และความคาดหวังบวกกับปัจจัยพื้นฐานมาพัฒนาสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจการดำเนินการ การลงทุน ผลิตภัณฑ์และบริการ ซึ่งหากเราสามารถเข้าใจได้ดีขึ้นจะทำให้ การดำเนินการต่าง ๆ นี้ สามารถดำเนินการได้ โดยนำเอาปัจจัยพื้นฐานมาประกอบ จะทำให้โอกาสที่จะได้ผลดีก็จะมาก และโอกาสเสียหายจะน้อยลง

ในการเอาชนะหรือเข้าใจตลาดเงินนั้น ความเข้าใจพฤติกรรม ความรู้สึก และ อารมณ์ของตลาดเป็น เรื่องที่สำคัญเพราะพฤติกรรมของตลาดนั้น มิได้บอกถึงพฤติกรรมทางความรู้สึกและอารมณ์เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการนำเอาปัจจัยพื้นฐานมาประกอบ

นอกจากนี้ หากเราเข้าใจพฤติกรรมมากขึ้น และบริหารจัดการตนเองโดยเอาปัจจัยพื้นฐานมาประกอบมากขึ้น เราก็จะไม่เป็นผู้เสียหาย หรือ เหยื่อของตลาดได้ดังที่เราเห็นหลาย ๆ คนเป็นหรือประสบในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา