รัสเซีย กระทิงดุในแดนหมีขาว

รัสเซีย กระทิงดุในแดนหมีขาว

สวัสดีค่ะ ตอนนี้เราก็ก้าวเข้ามาเกือบครึ่งทางของปี 2557 กันแล้วนะคะ

โดยปกติในช่วงเดือนพ.ค. - มิ.ย.ของแต่ละปี จะมีการจัดงานประชุม WFE IOMA ซึ่งเป็นงานยักษ์ใหญ่ของตลาดหลักทรัพย์และตลาดอนุพันธ์ทั่วโลก ที่จะมารวมตัวกันปีละครั้ง เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และหารือกันในประเด็นร้อนๆ ที่จะเกิดขึ้นหรืออาจส่งผลต่ออุตสาหกรรมโดยรวม

โดยงานดังกล่าวจะเวียนการจัดไปตามประเทศต่างๆ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์และตลาดอนุพันธ์ในประเทศนั้นๆ ก็จะเป็นเจ้าภาพในการดูแลการจัดงาน รวมถึงการแสดงวิสัยทัศน์ของตลาด ให้กับแขกผู้เข้าประชุมแต่ละประเทศ โดยในปีนี้ ถึงคราวที่ Moscow Exchange ของประเทศรัสเซีย ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพการจัดงาน WFE IOMA 2014 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 - 28 พ.ค. 2557 ที่ผ่านมา

หากพูดถึงรัสเซีย หลายท่านอาจจะนึกถึงการเป็นประเทศผู้นำแนวคิดทางด้านการเมืองการปกครอง รวมทั้งการเป็นประเทศมหาอำนาจทางการทหารที่โดดเด่น แต่หากท่านที่ได้เคยไปสัมผัสประเทศนี้มาแล้ว อาจจะมีมุมมองอีกด้านที่รู้สึกว่าประเทศนี้มีความประณีตละเอียดอ่อน รวมทั้งมีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยของเรามายาวนาน

โดยมีการสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งมีการเดินทางเพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกันตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากในอดีตนั้น รัสเซียปกครองโดยมีจักรพรรดิเป็นประมุข หรือที่หลายท่านๆ อาจจะเคยได้ยินเรื่องของพระเจ้าซาร์ หรือ ซาร์นิโคลัส ซึ่งเป็นกษัตริย์พระองค์สุดท้ายก่อนที่รัสเซียจะเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 1917

ดังนั้น รัสเซียจึงมีร่องรอยทางวัฒนธรรมและศิลปะที่ประณีตงดงามหลงเหลืออยู่มาก โดยเฉพาะในเมืองหลวงของประเทศหรือ Moscow อาทิ พระราชวังเครมลิน จัตุรัสแดง และมหาวิหารเซนต์บาซิล ที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของเมือง นอกจากนี้ Moscow ยังเป็นเมืองศูนย์กลางทางด้านการเงินอีกด้วย โดยเฉพาะ Moscow Exchange ซึ่งตั้งอยู่อีกฝั่งถนนตรงข้ามกับพระราชวังเครมลิน ก็นับว่าเป็นตลาดที่มีการเติบโตติดอันดับโลก ในช่วงปีที่ผ่านมา

Moscow Exchange เป็นตลาดหลักทรัพย์ที่เกิดจากการรวมตัวกันของตลาด MICEX (Moscow Interbank Currency Exposure) และตลาด RTS (Russian Trading System) โดยทั้งสองตลาดมีการซื้อขายหลักทรัพย์และมีดัชนีหลักทรัพย์เป็นของตนเอง ขณะที่ตลาด RTS ยังจัดให้มีการซื้อขายอนุพันธ์ประเภทต่างๆ เป็นจำนวนมากด้วย

ดังนั้น ภายหลังจากที่ทั้งสองตลาดรวมตัวเข้าด้วยกันเป็น Moscow Exchange MICEX-RTX หรือ Moscow Exchange ในปี 2011 แล้ว ก็ส่งผลให้การซื้อขายหลักทรัพย์และอนุพันธ์ในประเทศรัสเซียมีความคึกคักและเติบโตเป็นอย่างมาก โดยในปีที่ผ่านมาการซื้อขายอนุพันธ์ใน Moscow Exchange มีปริมาณสูงถึง 1,134.5 ล้านสัญญา ซึ่งเป็นอันดับ 8 ของตลาดอนุพันธ์ทั่วโลก

อนุพันธ์ที่มีการซื้อขายในตลาด Moscow มีทั้งสัญญาฟิวเจอร์สและออปชั่น โดยการซื้อขายฟิวเจอร์สคิดเป็นสัดส่วนกว่า 95% ของปริมาณการซื้อขายทั้งหมดในตลาด และมีสินค้าอ้างอิงที่ครอบคลุมตั้งแต่สินค้าเกษตร อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย สินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงดัชนีหลักทรัพย์และหุ้นรายตัว

สัญญาที่มีปริมาณการซื้อขายสูงสุดของ Moscow Exchange ได้แก่ Currency Futures ที่มีปริมาณการซื้อขายในปี 2013 รวมกันถึง 456.4 ล้านสัญญา โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนหลากหลายสกุลให้เลือกซื้อขาย ทั้งสกุลเงินในประเทศ เช่น เงินรูเบิล (Russian Ruble) หรือเงินในภูมิภาค เช่น เงินยูโร (Euro) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สกุลเงินที่มีการซื้อขายสูงสุดของ Moscow Exchange คือ USD/RUB ซึ่งเป็นอัตราเงินรูเบิลเทียบกับดอลลาร์ โดยในปี 2013 เฉพาะการซื้อขายฟิวเจอร์สของ USD/RUB เพียงประเภทเดียวก็มีปริมาณสูงถึง 373 ล้านสัญญา

สำหรับสัญญาที่ได้รับความนิยมรองลงมาใน Moscow Exchange ได้แก่ Stock Futures ซึ่งมีการซื้อขายสูงถึง 302 ล้านสัญญา ด้วยจำนวนหุ้นอ้างอิงเพียง 18 หุ้นอ้างอิง เนื่องจาก Moscow Exchange จะคัดเลือกหุ้นอ้างอิงเฉพาะจากบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในอุตสาหกรรมกลุ่มน้ำมันปิโตรเลียม กลุ่มพลังงาน กลุ่มสื่อสาร และกลุ่มโลหะหนัก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ

นอกจากนั้น Index Futures ที่อ้างอิงกับดัชนี RTS ซึ่งเป็นดัชนีที่ประกอบด้วยหุ้นที่มีขนาดใหญ่และมีสภาพคล่องในการซื้อขาย 50 หุ้นแรกใน Moscow Exchange ก็ได้รับความนิยมในการซื้อขาย โดยปริมาณการซื้อขายตลอดทั้งปี 2013 อยู่ที่ 266 ล้านสัญญา

สำหรับสัญญาฟิวเจอร์สที่อ้างอิงกับสินค้าโภคภัณฑ์อย่าง Gold Futures, Silver Futures ตลอดจนโลหะพื้นฐาน เช่น ทองแดง หรือ Copper Futures และตัวแปรทางการเงินอื่นๆ อาทิ อัตราดอกเบี้ย ราคาสินค้าเกษตร และดัชนีหุ้นต่างประเทศ ที่ถึงแม้ในปัจจุบันอาจจะยังมีปริมาณการซื้อขายไม่มากนัก แต่ Moscow Exchange ก็ได้วางรากฐานเพื่อรองรับการซื้อขายสินค้าต่างๆ เหล่านั้น ด้วยการเพิ่มบริการที่เกี่ยวข้อง เช่น การพัฒนาบริษัทสำนักหักบัญชี

ทั้งในด้านการเข้าเป็นคู่สัญญาการซื้อขายสินค้าต่างๆ ใน Moscow Exchange หรือรายการที่เกิดนอกตลาดอย่างเช่น ธุรกรรม Over the Counter (OTC Transaction) ที่ตลาดหลักทรัพย์ต่างๆ เริ่มขยายขอบเขตของสินค้าตัวเองให้สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายมากขึ้นให้ใกล้เคียงระดับเดียวกับการตอบสนองการซื้อขายแบบ OTC Transaction

จะเห็นได้ว่า สินค้าที่มีการซื้อขายใน Moscow Exchange มีลักษณะเทียบเคียงได้กับการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์หรือตลาดอนุพันธ์ทั่วๆ ไป แต่เนื่องด้วยขนาดของตลาดและผู้ร่วมตลาดซึ่งเป็นสมาชิกของ Moscow Exchange มีเป็นจำนวนมากถึงเกือบ 700 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธนาคารสัญชาติรัสเซีย ทำให้ Moscow Exchange สามารถเข้าถึงผู้ลงทุนได้ในแนวกว้าง

นอกจากนั้น ตลาดยังสามารถขยายบริการการซื้อขายในเชิงลึก ผ่านการให้บริการเป็นศูนย์กลางสำหรับการซื้อขายสินค้าทางการเงินอื่นๆ (Spot Market) ซึ่งมีความสำคัญและเชื่อมโยงกับการพัฒนาตลาดอนุพันธ์อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ตลาดตราสารหนี้ ตลาดเงินตราต่างประเทศ ตลาดกู้เงินระหว่างสถาบัน รวมถึงตลาดซื้อคืนพันธบัตร (Repo Market) เป็นต้น

สำหรับแนวทางการพัฒนาตลาดทุนในประเทศไทย ทั้งในส่วนของตลาดหลักทรัพย์และตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้น ยังคงมุ่งเน้นงานสำคัญ 3 ด้านหลัก คือ ต่อยอด สร้างใหม่ และขยายฐาน ด้วยการเพิ่มจำนวนสินค้าในปัจจุบันให้หลากหลาย รวมทั้งสร้างสินค้าและบริการใหม่ตอบโจทย์ผู้ลงทุน พร้อมเปิดตลาดสินค้าโภคภัณฑ์และตราสารหนี้ และขยายฐานผู้ลงทุนระยะยาว ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพตลาดทุนให้สามารถเป็นที่พึ่งพิงให้กับประเทศ และเพื่อก้าวสู่การเป็นตลาดชั้นนำในภูมิภาคต่อไป