กปปส. ประกาศชัยชนะ ณ ราชดำเนิน ?

กปปส. ประกาศชัยชนะ ณ ราชดำเนิน ?

"กปปส.จะกลับมายึดพื้นที่ ราชดำเนินอีกครั้ง เพื่อประกาศชัยชนะ...แน่นอนหลายคนคงสงสัย ชัยชนะ ที่ว่านี้

จะเกิดขึ้นในปริบทใด เพราะหลายฝ่ายไม่คิดว่าหาก กปปส.เคลื่อนจาก สวนลุมพินี มายึดราชดำเนินอีกครั้งนั้น จะกดดันให้รัฐบาล ถอดใจ"

เพราะย้อนกลับไปดูการชุมนุมใหญ่ที่ราชดำเนินหลายครั้ง แม้จะมีมวลชนจำนวนมากมาย รัฐบาล"ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ยังไม่ยอมทิ้งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เพื่อเปิดช่องว่าง...ให้ กปปส.เสนอทางออก คลอดรัฐบาลเพื่อการปฏิรูป อย่างแนวทางที่ประกาศมาตลอด

ประกาศชัยชนะ..ที่กปปส.ประเมิน จึงน่าจะมาจากการ ประเมินไทม์ไลน์ องค์กรอิสระ อย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ในคดีและศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีจำนำข้าว และการโยกย้าย "ถวิล เปลี่ยนศรี" เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)

อ่านใจทั้งสององค์กรว่า.. "คำตัดสินน่าจะเกิดขึ้นก่อนกลางเดือน พ.ค."

หากใครก็ตาม ที่จับอุณภูมิการเมือง บริหารจัดการมวลชน ย่อมไม่พลาดที่จะจับกิจกรรม กลับไปสู่จุดสัญลักษณ์ ที่ประกาศ "ชัยชนะ" ได้สวยหรู ดีกว่าสวนลุมพินี ที่ดูเหมือนหลบอยู่ในพงไพร

อนุสาวรี ประชาธิปไตย ณ ราชดำเนิน...เวลาและสถานที่ จึงเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง

31 ต.ค.2556 ถือเป็นวันแรกที่ กปปส.เริ่มการชุมนุมที่สถานีรถไฟสามเสน ก่อนที่จะย้ายมายัง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 4 พ.ย. 2556 ก่อนที่จะคืนพื้นที่ ควบรวมเวที มาอยู่สวนลุมพินีในปัจจุบัน ซึ่งเท่ากับว่าถึงวันนี้ กปปส.ชุมนุมผ่านมาแล้ว 183 วัน

และต้องอย่าลืมว่า เวทีราชดำเนิน อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นั้นองค์ประกอบของภาพ ที่ถ่ายทอดผ่านหน้าจอทีวี และเป็นพื้นที่มีประวัติศาสตร์การต่อสู้ประชาธิปไตย หลายครั้ง การจะกลับไปประกาศชัยชนะในมุมของ กปปส."จึงเหมาะสมยิ่ง"

แต่หากจะถามว่าคำตัดสินออกมา...ความขัดแย้งจะ "จบ" หรือไม่?เชื่อว่าทุกฝ่ายเชื่อตรงกัน "ยาก" ขณะเดียวกันหากขั้วความขัดแย้งหลัก ไม่สามารถเจรจา ตกลงกันได้ นอกจากความขัดแย้งไม่จบแล้ว มีแนวโน้มขยายบานปลายได้ตลอดเวลา ไม่เฉพาะผลกระทบด้านประชาธิปไตย สังคมเท่านั้น ผลทางเศรษฐกิจ วันนี้สะท้อนออกมาให้เห็นแล้ว

มหาวิทยาลัยหอการค้าประเมินว่า ความขัดแย้งทางการเมืองทำให้ไทยเสียรายได้จากการส่งออกไตรมาสแรก 125,774 ล้านบาท ขณะเดียวกันประเมินต่อเนื่องไปอีก หากยืดเยื้อถึงสิ้นปี จะทำให้สูญเสียรายได้จากการส่งออก 536,263 ล้านบาท กระทบส่งออกทั้งปี 66.1%

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)มองว่า ตัวเลขจีดีพีในไตรมาสแรกของปีว่า ขยายตัวติดลบที่ 0.2% ส่วนไตรมาสที่สองประเมินว่า จะขยายตัวที่ 0.4% ไตรมาสสามอยู่ที่ 2.8% และไตรมาสสี่อยู่ที่ 7.3% โดยจีดีพี ทั้งปีจะอยู่ที่ 2.6% ภายใต้สมมติฐานหลัก คือ ปัญหาการเมืองจะคลี่คลาย และความเชื่อมั่นกลับคืนมาในช่วงไตรมาสที่สี่

ถือว่าสศค.มองในแง่ดี

แต่ในมุมมอง "ไทยพาณิชย์" มองแย่ไปกว่านั้น โดยคาดว่าปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะเหลือเพียง 1.6% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ในระดับ 2.4% เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีแนวโน้มยืดเยื้อการทบการลงทุนภาครัฐและความเชื่อมั่นภาคเอกชนตกต่ำ

"หากไม่มีรัฐบาลที่มีอำนาจในการเจรจา ต้นปีหน้าประเทศไทยจะเสียสิทธิจีเอสพี จะทำให้เม็ดเงินจะหายไปจากระบบ 0.7% ของจีดีพี โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบได้แก่อาหารทะเลแช่แข็ง เครื่องนุ่งห่มและจักรยานยนต์"

ในระยะอันสั้น อาจจะเห็นชัยชนะ...ของบางกลุ่ม แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่เห็นชัยชนะในระยะยาว !