Emerging markets vs. Developed Markets

Emerging markets vs. Developed Markets

ปลายปีที่แล้วผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือดีๆ ที่ชื่อว่า “Breakout Nations” หนังสือเล่มนี้เขียนโดย Banker ที่ชื่อว่า RUCHIR SHARMA ซึ่งเป็น Head of Emerging Markets ที่ Morgan Stanley “Breakout Nations” เป็นหนังสือที่อ่านง่าย และให้ภาพความสามารถในการแข่งขัน จุดเด่น จุดด้อย ของแต่ละประเทศในกลุ่ม Emerging Markets

จากมุมมองของผู้เขียน ผมขอแนะนำให้แก่ผู้สนใจทุกท่านครับ ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้าน Macroeconomics และ Investments แต่อย่างใด ผมคิดว่าในประเทศไทยผู้เล่นในเรื่องนี้อย่างจริงจังคือ นักเศรษฐศาสตร์ระดับชาติ และรวมถึง Guru ด้าน Marketing อย่างท่านอาจารย์ ดร. สมคิด จาตุรศรีพิทักษ์ ครับ

ก่อนที่จะเข้าประเด็นความสามารถในการแข่งขัน หรือ Competitiveness ของประเทศในกลุ่ม EM ตามหนังสือ “Breakout Nations” ผมขอสรุป indicator เบื้องต้น ที่สามารถใช้เพื่อจัดแบ่งประเทศในกลุ่ม DM vs. EM ดังนี้ครับ

ประเด็นแรก คือ Sovereign Credit Rating

อาจกล่าวได้ว่า Credit Rating ของประเทศหนึ่งๆ เป็นการพิจารณาโดยรอบด้านของความสามารถในการแข่งขันของประเทศ, นโยบายของรัฐบาล แนวโน้มและทิศทางของเงินเฟ้อ, ความสมบูรณ์ของระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (Infrastructure), ความแข็งแกร่งของระบบการเงินการธนาคาร, GDP per capita, ตัวเลข Budget deficits, ตัวเลข Debt to GDP และอื่นๆ

เราพบว่า ประเทศพัฒนาแล้ว (DM economies) หลายประเทศในยุโรปล้วนผ่านเกณฑ์เหล่านี้ และประเทศเช่น Switzerland Norway Germany และ Netherlands จึงยังคงได้รับ Sovereign Credit Rating ในระดับ “AAA” อย่างต่อเนื่องมาช้านาน หันมองแถบเอเชีย เราพบว่าประเทศที่จัดเป็น DM โดยชัดเจนคือ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และ ฮ่องกง ในขณะที่ ไต้หวัน และเกาหลี อาจจะยังคาบเกี่ยวระหว่างขอบบนของ EM และขอบล่างของ DM

ประเทศในกลุ่ม EM หรือ Emerging Markets ส่วนใหญ่จะได้รับ Credit rating ในระดับ BB จนถึง BBB อันดับความน่าเชื่อถือที่อยู่ในระดับคาบเกี่ยวกับ Investment Grade นั้น มาจากความกังวลในเรื่องของการดำเนินนโยบายของรัฐ และความแข็งแกร่งของระบบการเงินการธนาคาร และปัญหาด้านการคอร์รัปชัน กลุ่มสุดท้ายคือ Undeveloped markets คือ กลุ่มที่ยังคงต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปี ในการพัฒนา Infrastructure และระบบการเงินการธนาคาร รวมถึงตลาดเงินตลาดทุน ซึ่งรวมถึงประเทศลาว กัมพูชา

ประเด็นที่ 2 คือGDP per capita

GDP per capita เป็นประเด็นที่ต่อเนื่องจากข้อแรก ซึ่ง cut-off ระหว่าง DM กับ EM นั้น น่าจะอยู่ที่ระดับ USD20,000 per capita อย่าลืมว่าประเทศเกาหลีใต้เมื่อสิบปีก่อน อยู่ที่ระดับ USD10,000+ เท่านั้น และในปัจจุบัน GDP per capita ของเกาหลีใต้อยู่ที่ USD 35,000 ในขณะที่ของประเทศไทยอยู่ที่ USD9,500 และอาจจะไม่สามารถเติบโตได้ด้วยอัตราที่สูงดังใน 5-10ปี ที่ผ่านมา หากไม่มีการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือต่อยอดในด้าน R&D หรือ Manufacturing ดังที่เราทำได้ดีมากๆ ในอุตสาหกรรมรถยนต์และเป็นปัจจัยที่ทำให้เราถูกขนานนามว่า TIGER เมื่อหลายปีก่อน

ประเด็นที่ 3 คือ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ตลาดหุ้น ดอกเบี้ย อันเป็นผลมาจาก Fund flows

เราสังเกตได้อย่างชัดเจนว่า ประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจ DM มีความผันผวนต่ำในประเด็นนี้ กล่าวคือ ทุกตลาดมีทั้ง Breadth และ Depth สามารถรองรับความผันผวนอันมาจาก Global crisis ต่างๆ ได้เพราะตลาดที่พัฒนาแล้วจะมี product ที่หลากหลาย มีเครื่องมือเพื่อใช้ในการ Hedge ดอกเบี้ย commodities และหุ้น ได้อย่างครบถ้วน นอกจากนั้นการมีตลาดที่สมบูรณ์หมายรวมถึง การมีผู้ลงทุนหลายกลุ่มที่มี Preferred habitat (นโยบายและรูปแบบการลงทุน) ที่แตกต่างกัน ครอบคลุมถึง Yield curve ทั้งเส้นตั้งแต่ Overnight จนถึง 30 หรือ 50ปี ประเทศอินโดนีเซีย ต้องเผชิญกับประเด็นความผันผวนของค่าเงินอย่างมาก รวมถึงความเปราะบางในระบบการเงินการธนาคารหลังจาก Crisis ปี 1997 ทำให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมีความล่าช้า

ประเด็นที่ 4 คือ การพัฒนาของตลาดเงินตลาดทุน

ประเด็นนี้มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นความผันผวนในข้อ 3 ปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสำคัญคือ ความแข็งแกร่งของตลาดเงินและตลาดทุน โดยทั่วไปขนาดของตลาดดอกเบี้ยและตลาดหุ้นของประเทศ EM นั้น มีสัดส่วนที่เล็กมากเมื่อเทียบกับตลาดโลก

EM บางประเทศอาจมิได้ถูกรวมอยู่ใน Benchmark หรือ Index ชั้นนำด้วยซ้ำไป ในกรณีเช่นนี้ นักลงทุนต่างชาติที่บริหารเงินลงทุนแข่งกับ Benchmark อาจจะละเว้นการลงทุนในประเทศดังกล่าว เพื่อให้เห็นตัวอย่างชัดเจน ลองพิจารณาประเทศไทยที่ Market cap ของ SET อยู่ที่ 12.6ล้านล้านบาท หรือราว 115% ของ GDP เป็นตัวอย่างว่า เวลาที่ต่างชาติ Net sell นั้นตลาดมีความสั่นคลอนมากเพียงไร

ประเด็นที่ 5 คือ การดำเนินนโยบายของภาครัฐ

ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะสามารถส่งผลกระทบต่อเงินลงทุนของเขาได้ตลอดเวลา มาตรการเหล่านี้รวมถึง มาตรการภาษี การใช้ Capital control การดำเนินนโยบายดอกเบี้ย การควบคุมระดับเงินเฟ้อ และนโยบายการดูแลเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน อาจกล่าวได้ว่าประเด็นนี้เป็นหนึ่งในการพิจารณาของนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนทั้งในรูปของ FDI (Foreign Direct Investment) เพื่อสร้างโรงงาน หรือ Hot money (Portfolio flows) ซึ่งผลักให้ประเทศในกลุ่ม EM เป็นรองอย่างมาก เนื่องจากการดำเนินนโยบายต่างๆ (อย่างมันคงและยั่งยืน) ล้วนขึ้นกับเสถียรภาพในรัฐบาล รวมถึงระยะการหวังผลจากนโยบายต่างๆว่าเป็นระยะยาวหรือระยะสั้น

ปูพื้นเรื่อง DM กับ EM กันไปในระดับหนึ่งแล้ว บทความหน้า เรามาเข้าเรื่อง Breakout Nations ของเจ้าของหนังสือกันครับ