ปีม้า กับ สวีเปยหง

ปีม้า กับ สวีเปยหง

ปีนี้ปีม้า เราจึงเห็นรูปม้ากันเยอะ แต่มีรูปม้าอยู่รูปหนึ่งที่สะดุดตาและใช้กันมาก เขียนด้วยพู่กันและวิธีเขียนภาพแบบจีน

ลักษณะม้ากำยำ ขาม้ามีกล้ามเนื้อใหญ่แข็งแรง ท่วงท่าของม้าโจนทะยานด้วยพลังเต็มเปี่ยม ดังแสดงในรูปที่ 1 ที่จริงแล้ว ผู้ที่คุ้นเคยกับเรื่องราวจีนๆ จะพบรูปนี้บ่อยๆ แต่น้อยคนนักจะทราบว่า ผู้เขียนรูปนี้คือจิตรกรชื่อดังในยุคจีนใหม่ซึ่งเชี่ยวชาญการเขียนรูปม้าโดยเฉพาะเหนือคนอื่นใด นามว่า “สวีเปยหง” ผู้เขียนเองคุ้นเคยกับภาษาจีนดี แต่ก็ไม่เคยรู้จักจิตรกรผู้นี้จนกระทั่งปีม้าปีนี้

สวีเปยหง (徐悲鸿) (“สวี” เป็นแซ่ๆ หนึ่ง “เปย” แปลว่าเศร้า “หง” แปลว่าหงส์) เกิดเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 1895 ในปีที่ราชวงศ์ชิงลงนามสัญญาชิโมโนเซกิยอมแพ้ญี่ปุ่น ในตำบลฉี่ถิงเฉียว อำเภออี๋ซิง มณฑลเจียงซู (江苏省宜兴县屺亭桥镇)

เปยหง (ซึ่งไม่ใช่ชื่อตั้งแต่เกิด) เกิดในครอบครัวผู้คงแก่เรียน บิดาเป็นจิตรกรผู้ที่พอมีชื่อเสียงในท้องถิ่น เป็นผู้สัตย์ซื่อ เมตตากรุณา สมถะไม่หวังลาภยศ เขาเริ่มเรียนหนังสือกับบิดาตั้งแต่อายุ 6 ขวบและเริ่มหัดเขียนรูปตั้งแต่ 9 ขวบ เขาขยันและเรียนรู้อย่างรวดเร็วจนสามารถช่วยบิดาระบายสีในรูปเขียนได้ เมื่ออายุ 13 ขวบ บ้านของเขาประสบอุทกภัยทำให้ครอบครัวที่ลำบากอยู่แล้วยิ่งลำบากขึ้นไปอีก

ในปี 1911 (ซุนยัดเซนโค่นล้มราชวงศ์ชิง) และเขาอายุ 17 ปี บิดาบังคับให้เขาแต่งงานกับสาวชาวนาและให้กำเนิดบุตรในปีถัดมา เขาตั้งชื่อบุตรว่า劫生(เจี๋ยเซิง) แปลว่า “ผู้ปล้นเอาชีวิตไป” เขาเปลี่ยนชื่อของตนเป็น悲鸿เพื่อเป็นการคัดค้านด้วย ไม่นานหลังจากนั้น ทั้งภรรยาและบุตรก็เสียชีวิตด้วยโรคติดต่อ ชื่อสกุล徐悲鸿แฝงไปด้วยความเศร้าและอุดมคติที่มุ่งมั่นบรรลุเป้าหมาย แปลตามตัวว่า “หงส์อันเศร้าสร้อยค่อยๆ โผบินขึ้นสู่ท้องฟ้า” เขาเสียชีวิตเมื่ออายุ 59 ปี ในยุคจีนสมัยใหม่ จิตรกรผู้มีชื่อเสียงในระดับเดียวกับสวีเปยหง มีอีก 2 คนได้แก่任伯年(เริ่นป๋อเหนียน) ซึ่งเสียชีวิตในปีที่สวีเปยหงเกิดพอดีด้วยอายุ 56 ปี 傅抱石(ฟู่เป้าสือ) เสียชีวิตเมื่ออายุ 61 ปี

ในยุคนั้น เซี่ยงไฮ้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของจีน จึงเต็มไปด้วยสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ มากมาย สวีเปยหงได้ทราบจากหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งให้ส่งรูปเขียนเข้าประกวด เขาจึงได้ส่งไปและได้รับรางวัลที่ 2 แม้ว่ารางวัลดังกล่าวจะไม่ใช่เรื่องใหญ่โตในวงการ แต่ก็ทำให้เขามีกำลังใจเป็นอย่างมากและเกิดความคาดหวังกับการเสาะแสวงหาโอกาสในเซี่ยงไฮ้

ปี 1912 เขาอายุ 18 ปี สวีเปยหงออกจากบ้านไปเซี่ยงไฮ้เป็นครั้งแรกโดยอยากจะหาสถานที่เรียนการเขียนภาพแบบตะวันตก แต่ก็หาไม่ได้ แม้จะไม่สมหวังแต่ก็ทำให้เขาเห็นโลกอันกว้างใหญ่ในอันที่จะท่องเตลิดต่อไป ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน เขาพบโฆษณาโรงเรียนสอนการเขียนภาพแบบตะวันตกของ刘海粟(หลิวไห่ซวี่) ในเซี่ยงไฮ้ จึงได้เดินทางไปเซี่ยงไฮ้เป็นครั้งที่ 2 เพื่อการนี้ แต่ก็ต้องผิดหวัง เนื่องจากพบว่าโรงเรียนดังกล่าวไม่มีอุปกรณ์แม้แต่อย่างเดียว และเดินทางกลับบ้าน

ปี 1914 เขาอายุ 20 ปี บิดาถึงแก่กรรม เขาจึงต้องแบกภาระครอบครัวโดยการรับงานสอนวิชาเขียนรูปในโรงเรียน 3 แห่งในบริเวณใกล้เคียง วันๆ ต้องเดินทางเกือบๆ ร้อยกิโลเมตร ความตรากตรำเช่นนี้ทำให้เขารู้สึกชีวิตไร้ประโยชน์ ในฤดูใบไม้ผลิของปี 1915 เขาส่งรูปเขียนของเขาให้คนรู้จักในหมู่บ้านที่ไปอยู่มหาวิทยาลัยฝูตั้นในเซี่ยงไฮ้เพื่อฝากฝังให้กับอธิการบดีของที่นั่น รูปเขียนเป็นที่ชื่นชอบของอธิการมาก เขาจึงเดินทางไปเซี่ยงไฮ้เป็นครั้งที่ 3 เพื่อพบกับอธิการ แต่ก็ได้รับการปฏิเสธด้วยเห็นว่าเขายังอายุน้อยเกินไป คำตอบนี้เปรียบเสมือนฟ้าฝ่ากลางฤดูแล้ง เพราะว่างานสอนก็ได้ลาออกแล้วและเงินทองที่มีทั้งหมดก็ใช้จนไม่เหลือแล้ว หลังจากนั้นเพื่อนของเขาได้แนะนำงานเขียนรูปประกอบหนังสือที่โรงพิมพ์แห่งหนึ่ง แต่ก็ได้รับการปฏิเสธอีก เขาหมดอาลัยตายอยาก เดินไปที่แม่น้ำหวงผู่ของเซี่ยงไฮ้ อยากจะกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย แต่เลิกล้มความตั้งใจและเดินกลับบ้านในที่สุด

ที่หมู่บ้านของเขานั่นเอง หมอที่รู้จักกันเห็นใจเขาจึงรวบรวมเงินก้อนหนึ่งให้เขากลับไปที่เซี่ยงไฮ้อีกเป็นครั้งที่ 4 คราวนี้ได้รับการอุปการะจากคหบดีให้ไปพักและเขียนรูปที่บ่อนของเขาในเวลากลางวัน แต่อยู่ได้ไม่นาน ผู้อุปการะล้มละลาย เขาจึงต้องเร่ร่อนอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็พยายามวาดรูปม้าขึ้นรูปหนึ่งส่งไปที่พิพิธภัณฑ์ภาพเขียนของพี่น้องตระกูลเกา ปรากฏว่าเกาเจี้ยนฟู่พอใจมากยกย่องเขาว่าเขียนรูปม้าได้ดีกว่าจิตรกรรูปม้าสมัยราชวงศ์ถังเสียอีก แต่ก็ไม่ได้รับการอุปการะอีก และเงินก็หมดจนต้องนำเสื้อผ้าไปจำนำ

ในที่สุดเขาสามารถสอบเข้าเรียนสาขาภาษาฝรั่งเศสของมหาวิทยาลัยฝู่ตั้นที่เซี่ยงไฮ้ในปี 1916 ในขณะที่เขาอายุ 22 ปี โดยทำงานไปด้วยและฝึกเขียนภาพลายเส้นเองไปด้วย ปี 1917 ได้รับทุนไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยศิลปกรรมที่ญี่ปุ่น แล้วกลับมาเป็นอาจารย์ด้านจิตรกรรมที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ปี 1919 ได้รับทุนไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยศิลปกรรมแห่งชาติปารีสด้านภาพเขียนสีน้ำมันและลายเส้น ปี 1927 กลับประเทศได้ดำรงตำแหน่งต่างๆ เป็นลำดับ อาทิ หัวหน้าภาควิชาจิตรกรรม วิทยาลัยศิลปกรรมหนานกั๋วแห่งเซี่ยงไฮ้ ศาสตราจารย์ภาควิชาศิลปกรรมมหาวิทยาลัยนานกิง คณบดีวิทยาลัยศิลปกรรมมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ตามลำดับ ตั้งแต่ปี 1933 เขาได้เปิดแสดงนิทรรศการจิตรกรรมจีนในฝรั่งเศส เบลเยียม อิตาลี อังกฤษ เยอรมนี และ รัสเซีย ตั้งแต่เริ่มสงครามต่อต้านญี่ปุ่นเขาได้แสดงภาพเขียนในฮ่องกง สิงคโปร์ และ อินเดีย เพื่อระดมเงินต่อต้านญี่ปุ่น

เมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนก่อตั้งขึ้นแล้ว สวีเปยหงดำรงตำแหน่งต่างๆ อาทิ นายกสมาคมผู้ทำงานจิตรกรรมแห่งประเทศจีนและประธานสถาบันจิตรกรรมแห่งชาติ เป็นต้น อันแสดงถึงความยกย่องของผู้คนในวงการต่อฝีมือและการสั่งสมประสบการณ์ทางศิลปกรรมอันสูงส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกฝนวิธีการศิลปกรรมแบบตะวันตกจนเชี่ยวชาญและนำมาหลอมรวมกับภาพเขียนแบบจีน จนมีลักษณะพิเศษโดดเด่นอย่างยิ่ง

รูปที่ 1 มีชื่อว่า “ม้าเผ่น” เป็นรูปม้าที่สร้างชื่อเสียงให้แก่เขาเป็นรูปแรก เขียนในปี 1941 ในช่วงของสงครามระหว่างจีน-ญี่ปุ่นครั้งสำคัญที่ฉางซา ซึ่งญี่ปุ่นพยายามโหมกำลังเพื่อยึดเมืองฉางซาเพื่อควบคุมเส้นทางคมนาคมระหว่างเหนือใต้ของจีนและเผด็จศึกให้ได้ก่อนการโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์ ใจของสวีเปยหงร้อนรนต่อสถานการณ์วิกฤตของแผ่นดินแม่ ใช้สีดำที่เต็มอิ่มเขียนเส้นเค้าโครงของหัว คอ หน้าอก และ ขาของม้าที่กำยำแข็งแรง แล้วใช้พู่กันแห้งปัดเป็นผมและหางม้าที่ปลิวและตวัดอย่างแข็งแรง ทั้งหมดนี้เพื่อเป็นการแสดงถึงการให้กำลังใจต่อเพื่อนร่วมชาติในการต่อสู้อริราชศัตรูด้วยความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว

รูปที่ 2 มีชื่อว่า “ฝูงม้าเผ่น” เขียนในปี 1942 เป็นอีกรูปหนึ่งที่แสดงถึงวิธีการเขียนรูปม้าอันแสดงถึงพลังที่ต้องการสนองต่อเสียงเรียกร้องของประชาชาติ ซึ่งเป็นวิธีการที่แตกต่างจากรูปม้าสมัยแรกเริ่มของเขาที่ดูค่อนข้างเป็นอารมณ์ฝันเฟื่องลังเลและเปล่าเปลี่ยวแบบกวี

รูปที่ 3 มีชื่อว่า “จิ่วฟางเกา” (九方皋) ซึ่งเป็นชื่อคนในสมัยโบราณที่มีความสามารถในการดูลักษณะม้าที่มีฝีมือสุดยอดและเป็นตัวละครเอกในนิยายโบราณของจีน จิ่วฟางเกาดูม้าไม่สนใจดูสี หรือเพศม้า แต่สนใจดูอาการและคุณลักษณะม้า สวีเปยหงเขียนรูปจิ่วฟางเกาเปรียบม้าในปี 1931 ขณะแสดงภาพเขียนที่เบลเยียม เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้แก่ชาวจีนในยุคสงครามกลางเมืองและการสร้างชาติให้หันมาสนใจในคุณลักษณะของบุคลากร ม้าสีดำในรูป “จิ่วฟางเกา” เป็นม้าเพียงตัวเดียวในบรรดาม้าที่สวีเปยหงเขียนโดยที่มีสายบังเหียนบังคับม้าอยู่ด้วย อันเป็นการชี้ให้เห็นถึงม้าที่นำมาใช้งานได้ดีจริงๆ

ในปี 1919 สวีเปยหงแต่งงานอีกครั้งหนึ่งกับเจียงปี้เหวยและพากันไปเรียนต่อที่ปารีส ทั้งสองมีบุตรสาวหนึ่งคนชื่อ สวีจิ้งเฝ่ย (徐静斐) เนื่องจากมารดาเป็นคนอารมณ์ร้าย บุตรสาวจึงไม่ได้รับความอบอุ่นจากความอ่อนโยนของแม่ อีกทั้งยังมีความทรงจำของการทะเลาะกันอย่างไม่เลิกราตลอดเวลาของบิดามารดา สวีเปยหงป่วยหนักในปี 1944 ด้วยโรคความดันโลหิตสูงและโรคไตอักเสบ ผู้ที่นั่งเฝ้าไข้อยู่ข้างๆ ตลอดเวลาคือ เหลียวจิ้งเหวิน (廖静文) สาวน้อยเจ้าหน้าที่ห้องสมุดที่อายุน้อยกว่าเขา 28 ปี ในที่สุดเขาก็หย่ากับภรรยาคนที่สองอย่างเป็นทางการในปี 1945 และแต่งงานกับเหลียวจิ้งเหวิน ในปี 1946 โดยที่มีอายุมากกว่าลูกสาวสวีจิ้งเฝ่ยเพียง 6 ปี แต่ลูกสาวก็สนิทสนมและอยู่ด้วยกันกับภรรยาคนใหม่ของบิดาได้เป็นอย่างดี

ปี 1953 สวีเปยหงเสียชีวิต เหลียวจิ้งเหวินได้รวบรวมผลงานของสวีเปยหงกว่า 1,200 ชิ้น ภาพเขียนโบราณตั้งแต่ราชวงศ์ถังกว่า 1,000 ชิ้น หนังสือที่มีคุณค่าต่างๆ ศิลาจารึก และ เอกสารล้ำค่ากว่าหนึ่งหมื่นชิ้น มอบให้เป็นสมบัติของสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งๆ ที่ภาพเขียนจำนวนมากของสวีเปยหงได้เขียนระบุให้เป็นของจิ้งเหวินโดยเฉพาะ แต่เหลียวจิ้งเหวินกลับเห็นว่า ความทุ่มเทของสวีเปยหงล้วนแล้วแต่มุ่งมั่นด้วยความรักที่มีต่อประเทศชาติและประชาชนทั้งสิ้น จึงไม่ควรเก็บของพวกนี้ไว้เป็นสมบัติส่วนตัว เหลียวจิ้งเหวินมีบุตรชายกับบุตรสาวกับสวีเปยหงอย่างละหนึ่งคน

ปี 1953 รัฐบาลเปิดให้บ้านของสวีเปยหงใกล้กับสถานีรถไฟปักกิ่งเป็นอนุสรณ์สถานและสถานที่แสดงผลงานของสวีเปยหง ต่อมาได้ย้ายไปที่ชิงเจียโข่วเนื่องจากการขยายสถานีรถไฟปักกิ่ง เหลียวจิ้งเหวินก็ยังคงเป็นผู้ดูแลรักษาและซ่อมแซมผลงานที่แสดงทั้งหมดของสวีเปยหง ปัจจุบันอายุ 80 ปี