ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน - ควรจะคงไว้หรือไม่

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน - ควรจะคงไว้หรือไม่

จากกรณีที่สถานการณ์บ้านเมืองเริ่มคุกรุ่นตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้เมื่อวันที่ 21 มกราคม นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

ที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ (ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน) ซึ่งประกาศดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก. ฉุกเฉิน)

เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวข้างต้น นายกรัฐมนตรีได้ใช้อำนาจตามมาตรา 11 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ออกข้อกำหนดต่างๆ รวม 12 ข้อ (ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน) ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ผู้อ่านคงคุ้นเคยกัน เช่น ให้มีอำนาจเรียกบุคคลมารายงานตัวหรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานใดที่เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้มีอำนาจออกคำสั่งยึด หรืออายัดวัตถุที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้หรือจะใช้เพื่อการกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ตลอดจนมีอำนาจสั่งการให้คนต่างด้าวออกไปจากประเทศในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นผู้สนับสนุนการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินโดยให้นำกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองมาใช้บังคับ เป็นต้น

หลังจากนั้น ท่านผู้อ่านคงพอจะทราบข่าวกันแล้วว่า เมื่อวันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาในคดีที่แกนนำ กปปส. (โจทก์) ยื่นฟ้อง นายกรัฐมนตรี กับพวก รวม 3 คน (จำเลย) โดยสรุปได้ว่า การออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และข้อกำหนดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน แม้ว่าฝ่ายบริหารจะมีอำนาจดำเนินการได้แต่ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายก็ต้องดำเนินการไปด้วยความเป็นธรรม เสมอภาค การดำเนินการใดๆ ของฝ่ายบริหารจะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เมื่อปรากฏว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยไว้แล้วว่า การชุมนุมของโจทก์และผู้ชุมนุมเป็นไปโดยสงบปราศจากอาวุธแล้ว โจทก์และผู้ชุมนุมก็ย่อมได้รับการคุ้มครอง ดังนั้น ศาลแพ่งจึงมีคำพิพากษา ห้ามจำเลยทั้งสามนำประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงมาใช้บังคับเพื่อจะออกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน โดยให้ข้อบังคับตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และข้อกำหนดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินดังกล่าวไม่มีผลบังคับต่อโจทก์และประชาชน นับตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม (ซึ่งเป็นวันที่ประกาศใช้) และไม่ให้จำเลยทั้งสามกระทำการรวม 9 ข้อ ซึ่งรวมถึง ห้ามใช้กำลังและหรืออาวุธเข้าสลายการชุมนุมของโจทก์และประชาชนที่ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นต้น

จากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนจึงขอเสนอมุมมองหรือผลกระทบทางกฎหมายที่มีผลเกี่ยวเนื่องจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และเหตุการณ์การที่เกิดขึ้นก่อนที่ศาลแพ่งจะมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว ดังนี้

ตาม มาตรา 17 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ได้คุ้มครองพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ที่จะไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับ หรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมายหากการกระทำนั้นเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น

ท่านผู้อ่านอาจจะมีข้อสงสัยว่า ถ้าอย่างนั้นการปฏิบัติหน้าที่หรือการกระทำทุกอย่างของพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตลอดจนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน แล้วก็จะไม่ต้องรับผิดใดๆ ทั้งสิ้นหรือไม่?

คำตอบคือ ไม่ยกเว้นความผิดทุกกรณี ทั้งนี้เนื่องจากตามมาตรา 17 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ และข้อ 12 ของข้อกำหนดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้มาตรการความจำเป็นและเหมาะสม โดยระมัดระวังมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ

ดังนั้น โดยผลสืบเนื่องจากการที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และการออกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และคำพิพากษาของศาลแพ่งดังกล่าว ผู้เขียนมีความเห็นว่า หน่วยงานของรัฐ และบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้ของข้อกำหนดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน สามารถดำเนินการป้องกันรักษาสิทธิของตนตามกฎหมาย ดังนี้

(1) โดยผลของคำพิพากษาศาลแพ่งดังกล่าว จำเลยทั้งสามสามารถยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแพ่ง และขอทุเลาการบังคับคดีได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

(2) บุคคล หรือประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากการใช้บังคับของข้อกำหนดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เช่น ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการเข้าสลายการชุมนุม หรือทายาทของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว สามารถใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ซึ่งมีหลักสำคัญอาทิเช่น (ก) หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ แต่ว่าจะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ (ข) ถ้าการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่มิใช่การปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดเป็นการเฉพาะตัว ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องเจ้าหน้าที่ได้โดยตรง หรือ (ค) หากหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่ หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

นอกจากนี้ โดยผลของคำพิพากษาของศาลแพ่งดังกล่าว ทำให้พิจารณาได้ในอีกแง่มุมหนึ่งว่า แม้ว่าศาลไม่ได้มีคำสั่งให้เพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ผลของการห้ามใช้ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ถึง 9 ข้อ อาจจะทำให้เห็นว่า ท้ายที่สุดแล้วประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินย่อมไม่อาจใช้บังคับเป็นรูปธรรมได้

ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศแล้ว สมควรที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะพิจารณายกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวให้กลับมาเหมือนเดิม จึงขอฝากไปยังท่านผู้เกี่ยวข้องช่วยกันคิดและพิจารณาเรื่องนี้สักนิดนะคะ

พบกันใหม่ในโอกาสหน้าค่ะ

*********************************************

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่