โจทย์ของสื่อภายใต้ความเกลียดชัง

โจทย์ของสื่อภายใต้ความเกลียดชัง

สิ้นเสียงนายกฯยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภาฯ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่าน เหล่ามวลมหาชนจากทุกสารทิศทั้งในกรุงเทพมหานครและบางพื้นที่ในต่างจังหวัด

ก็หาได้หยุดยั้งการแสดงออกทางการเมืองไม่ โดยการออกมาบนท้องถนนของคนเหล่านั้น หลักๆ มีอุดมการณ์ร่วมกันคือ การต่อต้านการคอร์รัปชันที่แฝงมาพร้อมกับธุรกิจการเมืองในยุคปัจจุบัน อันมีธงชาติและนกหวีดเป็นอุปกรณ์เชิงสัญญะของการประท้วง

หลายๆ คนเข้าร่วมเนื่องจากไม่พอใจการออก พ.ร.บ. นิรโทษกรรมเหมาเข่ง ที่เอาคนเสื้อแดงในคุกเป็นตัวประกันเพื่อแลกกับการพ้นผิดของพี่ชายนายกฯ ในขณะที่บางคนไม่พอใจกับเครือข่ายธุรกิจการเมืองของตระกูลชินวัตร ในขณะที่อีกหลายๆ คนออกมาด้วยเป้าหมายไม่ให้คุณทักษิณได้กลับมาเมืองไทยอย่างเท่ๆ

แน่นอนว่า ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน การแบ่งขั้วระหว่างซีกที่ต่อต้านและซีกที่สนับสนุนรัฐบาลมีความชัดเจนและลงลึกไปในเกือบทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มข้าราชการ นักวิชาการในมหาวิทยาลัย นักธุรกิจ รวมถึงสื่อมวลชน

สำหรับนักวิชาชีพสื่อมวลชนแต่ละคนที่ต้องลงพื้นที่ทำข่าวม็อบนั้นต่างตระหนักทราบดีว่า การรายงานข่าวท่ามกลางอคติที่รุนแรงของผู้คนในสังคมไทยนี้นับเป็นอะไรที่สุ่มเสี่ยง จะทำตัวเนียนๆ เพื่อเลี่ยงประเด็นไม่ให้ถูกด่านั้นดูจะยากเต็มกลืน โดยเฉพาะในกลุ่มของสื่อมวลชนที่ไม่ได้สังกัดสีหรือขับเคลื่อนโดยเงินของกลุ่มการเมือง ซึ่งนอกจากจะต้องต่อสู้กับอคติของผู้ชมผู้ฟังแล้ว ยังต้องแสวงหาหลักฐานและข้อมูลมายืนยันข่าวสารของตนอย่างเอาจริงเอาจัง เพื่อแข่งกับบรรดาภาพตัดต่อหรือข่าวดราม่าที่ผลิตออกมาจากสื่อโฆษณาชวนเชื่ออีกด้วย

ท่ามกลางวิกฤตบ้านเมือง ที่พรรคการเมืองหลักๆ ทั้งสองพรรคมีช่องสถานีเป็นของตนเองเพื่อใช้ให้เป็นเครื่องมือของการโฆษณาชวนเชื่อนั้นกลับจะยิ่งทำให้การแตกร้าวและแบ่งฝักแบ่งฝ่ายมีความชัดเจนขึ้น เนื่องด้วยการส่งสารภายใต้เจตนารมณ์ทางการเมืองเหล่านั้นสามารถประกอบสร้างขึ้นเป็น Hate speech หรือการสื่อสารที่มุ่งสร้างความเกลียดชังได้ไม่ยากนัก ทั้งนี้ องค์ประกอบในการสร้าง Hates speech ที่สามารถกระตุ้นเร้าและยกระดับให้เกิดความรุนแรงทางกายภาพได้นั้น ต้องพิจารณาจาก 6 ตัวแปร ได้แก่

1) Previous violence : คือสภาพสังคมที่เคยมีความรุนแรงระหว่างกลุ่มคู่กรณีมาแต่เก่าก่อนย่อมเป็นสังคมที่สุ่มเสี่ยงกับการยกระดับความเกลียดชังให้เป็นความรุนแรงที่ต่างฝ่ายต่างต้องการเอาคืนมากขึ้น

2) Limited information : ความคิดทางเลือก อุดมการณ์กลาง ๆ ระหว่างสองขั้วความขัดแย้งถูกปิดกั้นให้เหลือเพียงสองทางเลือก โดยตลาดความคิดและข้อมูลข่าวสารที่คนสามารถเลือกที่จะเชื่อได้อย่างหลากหลายถูกเขี่ยทิ้งและป้ายสีให้เป็นฝักฝ่าย

3) Influential speakers : แต่ละฝ่ายต่างมีผู้ส่งสารที่มีความน่าเชื่อถือและสามารถจูงใจให้ผู้รับสารปฏิบัติตามได้ โดยบรรดาผู้ส่งสารเหล่านี้อาจไม่จำเป็นต้องตัวแสดงที่เฉพาะเจาะจงในทางการเมืองแต่อย่างใด หากสามารถเป็นได้ทุกสาขาอาชีพที่มีความน่าเชื่อถือหรือเป็นบุคคลสาธารณะซึ่งเป็นที่รู้จักในกลุ่มมวลชนอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็น นักวิชาการ ดารา นักร้อง หรือศิลปิน ต่าง ๆ

4) Rhetorical speakers : ผู้ส่งสารมีเจตจำนงในทางการเมืองและมีอิทธิพลต่อความคิดของผู้รับสาร ซึ่งสามารถเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนมวลมหาชนให้มาร่วมอุดมการณ์ได้ไม่ยาก โดยแกนนำเหล่านี้จะมีศักยภาพในการดึงผู้คน เชิญแม่ยก และเรียกแขกได้อยู่มากโข ซึ่งหลาย ๆ คนเข้าข่ายนักปราศรัยแบบ Demagouge ที่มีศักยภาพในการใช้ภาษา วาทศิลป์ในการโน้มน้าวและจูงใจมหาชนได้

5) Audience’s understanding : ผู้รับสารมีเจตนารมณ์ที่จะเชื่อตามผู้นำหรือผู้ส่งสารที่เป็นแกนนำอยู่แล้ว โดยผู้รับสารอยู่ในภาวะที่เข้าใจได้ถึงเจตจำนงในการยกระดับการแบ่งขั้วทางการเมืองให้เป็นความรุนแรงได้ โดยหากมีองค์ประกอบของผู้รับสารที่ตอบสนองต่อการกระตุ้นเร้าของแกนนำแล้ว สถานการณ์ย่อมอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงที่จะยกระดับไปสู่ความรุนแรง

6) Audience’s capacity : ผู้รับสารในม็อบเหล่านั้นมีศักยภาพเพียงพอที่จะใช้ความรุนแรงและก่ออาชญากรรมกับคนแปลกหน้าที่อยู่กลุ่มตรงข้ามกับฝ่ายตนได้

โดยหากวิเคราะห์ทั้ง 6 ปัจจัยในข้างต้นก็สามารถเทียบเคียงกับสภาวะการเมืองไทยในปัจจุบันได้อยู่หลายข้อ โดยหวังใจอยู่ว่า ในส่วนของผู้รับสารเองคงพอที่จะรู้เท่าทันแกนนำ ไม่ "อิน" ไปกับสถานการณ์จนกลายเป็นสร้างศักยภาพให้กับตนเองทำลายล้างคนชาติเดียวกันเพียงเพราะความคิดเห็นทางการเมืองที่ต่างกัน

จากบทวิเคราะห์ข้างต้นจะเห็นได้ว่า สื่อมวลชนที่ไม่สังกัดกลุ่มการเมือง ซึ่งทำหน้าที่รายงานข่าวสารตามจรรยาบรรณวิชาชีพนี้เอง คือตัวแสดงสำคัญในการกอบกู้วิกฤตสถานการณ์ให้ผู้คนได้เสพเนื้อหาสื่อที่มีทางเลือกมากกว่าสองเสื้อสี ภายใต้ภารกิจที่ต้องทำให้ตลาดข้อมูลข่าวสารมีความสมบูรณ์และสมดุลด้วยข้อเท็จจริงมากกว่าเนื้อหาเชิงอารมณ์ หากแต่ด้วยปรากฏการณ์ที่ผ่านมา กลับพบเห็นอาการนิ่งเฉยของสื่อฟรีทีวี ที่ลอยตัวอยู่เหนือการเมือง และเซนเซอร์ตัวเองจากข่าวม็อบอย่างไม่สมศักดิ์ศรีของการเป็น "สุนัขเฝ้าบ้าน" (Watch dog) ที่สังคมได้มอบหมาย

ภารกิจของการเป็นสื่อที่ให้ข้อมูลข่าวสาร สร้างข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุเป็นผลจึงควรเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์หลักในการปฏิรูปประเทศไทย ภายใต้โจทย์ที่ว่าด้วย "การลดดราม่า และติดอาวุธทางปัญญาให้กับคนไทย"