เมื่อตลาดและกลไกราคาไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

เมื่อตลาดและกลไกราคาไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

ปรากฏการณ์สำคัญของยุคเสรีนิยมใหม่ก็คือการเข้ามามีบทบาทของตลาดและกลไกราคา

แม้ว่า เอาเข้าจริงๆ แล้ว บทบาทของตลาดและกลไกราคาไม่ได้เพิ่งมาเริ่มปรากฏให้เห็นในทศวรรษที่ 1980 ในยุคของแทตเชอร์กับเรแกน หากแต่นักเศรษฐศาสตร์เรียนรู้บทบาทของตลาดและกลไกราคามาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18-19 ในยุคของ อดัม สมิธ บิดาของเศรษฐศาสตร์ผู้กล่าวถึงกลไกการทำงานของมือที่มองไม่เห็น และให้ความเชื่อมั่นว่ามันจะเป็นกลไกที่นำมาซึ่งประสิทธิภาพและดุลยภาพ การทำงานของกลไกตลาดเกิดควบคู่ไปกับการพิจารณาถึงธรรมชาติของมนุษย์ แบบที่เรียกว่า มนุษย์เศรษฐกิจ ที่ต่างก็ตัดสินใจกระทำการต่างๆ บนพื้นฐานของประโยชน์ส่วนตนด้วยการชั่งน้ำหนักระหว่างต้นทุนและผลประโยชน์อยู่ตลอดเวลา

หากอิทธิพลของมนุษย์เศรษฐกิจและการทำงานของกลไกราคาที่เพิ่งเริ่มลงหลักปักฐานในยุคต้นต้องต่อกรเพื่อแย่งชิงพื้นที่กับคำอธิบายรูปแบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ศีลธรรม ศาสนา ประเพณี ความเชื่อ ฯลฯ อยู่เป็นเวลานับร้อยปีนับตั้งแต่ยุคเศรษฐศาสตร์คลาสสิก การก้าวขึ้นมามีบทบาทของตลาดและการให้เหตุผลด้วยแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ดังกล่าวนี้ คาร์ล โปลันยี กล่าวว่าก่อให้เกิดเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่เรียกว่าเป็น the great transformation ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เมื่อพลังของตลาดไม่ได้ถูกควบคุมให้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของพลังอื่นๆ ในสังคมเช่นที่ดำเนินมาในอดีต แต่พลังของตลาดกลับมีอำนาจหลักที่เข้าครอบงำและควบคุมทุกๆ พื้นที่ของมนุษย์และสังคม

เมื่อล่วงมาถึงยุคเสรีนิยมใหม่ ข้อสันนิษฐานและความกังวลใจของโปลันยีก็กลับกลายเป็นภาพที่แจ่มชัดขึ้นมาเมื่อตลาดพร้อมๆ ไปกับแนวคิดมนุษย์เศรษฐกิจได้แทรกซึมเข้าไปในทุกอณูของชีวิตมนุษย์ไม่ว่าจะเป็น การเลือกตั้ง การกำหนดนโยบาย การรักษาสภาพแวดล้อม ไปจนถึงประเด็นที่เป็นเรื่องส่วนตัวที่สุดอย่างการแต่งงาน การแบ่งงานกันทำในบ้าน การหย่าร้าง การมีบุตร ฯลฯ จนนักคิดหลายคนได้กล่าวถึง ความเป็นจักรวรรดินิยมของแนวคิดเศรษฐศาสตร์ที่แผ่อำนาจเข้ายึดครองอาณาบริเวณอื่นๆ ของชีวิตมนุษย์และสังคมอย่างรวดเร็วจนยากจะกล่าวได้ว่ามีพื้นที่ใดบ้างที่เงาร่างของอรรถาธิบายทางเศรษฐศาสตร์เอื้อมมือไปไม่ถึง

แม้ว่าจะมีความวิตกกังวลและการวิพากษ์ถึงความเป็นจักรวรรดินิยมของเศรษฐศาสตร์มาต่อเนื่องยาวนาน แต่อิทธิพลของคำอรรถาธิบายว่าด้วยมนุษย์เศรษฐกิจและกลไกตลาดก็ยังได้คงตีกินพื้นที่อื่นๆ ไปเรื่อยๆ จนเมื่อไม่นานนี้ ข้อถกเถียงของอาจารย์ทางปรัชญาการเมืองจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ไมเคิล แซนเดล ได้ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงอย่างครึกโครม ผ่านหนังสือ 2 เล่มของเขาคือ Justice : What’s the Right Thing to Do? และ What Money Can’t Buy

การท้าทายของแซนเดลต่ออำนาจและอิทธิพลของตลาดและสมมติฐานเรื่องมนุษย์เศรษฐกิจเริ่มต้นตั้งแต่การนำเสนอว่าใน market economy นั้น ตลาดเป็นแค่เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการจัดการกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ แต่สำหรับ market society นั้น วิถีชีวิตของมนุษย์และสังคมกลับถูกตลาดคืบคลานเข้าไปกลืนกิน ตลาดจึงเป็นทั้งเป้าหมายและเครื่องมือไปพร้อมๆ กัน นั่นคือ เขากระตุ้นให้เราต้องฉุกคิดว่า ในปัจจุบันมนุษย์เรากับตลาดสัมพันธ์กันในรูปแบบใดกันแน่ และสิ่งใดเป็นเครื่องมือและสิ่งใดเป็นเป้าหมาย

กลไกราคานั้นไม่สามารถนำไปใช้ได้กับทุกอย่าง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่สามารถถูกทำให้กลายเป็นสินค้า แม้ว่าในปัจจุบันที่เกือบทุกสิ่งทุกอย่างได้ถูกทำให้เป็นสินค้า และเงินเป็นแรงจูงใจในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การซื้อ/ขายอวัยวะของมนุษย์ การซื้อ/ขาย พื้นที่โฆษณาบนร่างกายของมนุษย์ การซื้อ/ขายบริการมดลูกในการอุ้มท้อง การใช้ร่างกายของมนุษย์เป็นหนูทดลองยา การรับจ้างออกไปรบเป็นทหารรับจ้าง การจ่ายเงินจูงใจให้เด็กอ่านหนังสือ เรียนให้ได้คะแนนดี

ตลาดหรือกลไกราคานั้นไม่ได้มีความเป็นกลางอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์เชื่อกัน อย่างน้อย การดำเนินงานของมันก็สะท้อนและตอกย้ำให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันในสังคมผ่านการมีหรือไม่มีอำนาจซื้อของผู้คนที่มีความแตกต่างกัน เพราะมันกีดกันผู้คนที่มีอำนาจซื้อน้อย ในขณะเดียวกันก็เอื้อที่จะทำให้ฝ่ายที่มีอำนาจซื้อสูงกว่าเข้าถึงสินค้าที่ตนต้องการได้อย่างง่ายดาย ยิ่งไปกว่านั้น ตลาดและราคายังลดระดับคุณค่าของสิ่งของหรือการกระทำนั้นๆ ลง ถ้าสิ่งของหรือการกระทำนั้นมีคุณค่าอื่นอยู่เหนือกว่า เช่น การเป็นทหารเกณฑ์เป็นการให้คุณค่ากับการทำหน้าที่ของพลเมืองแต่ไม่ใช่การซื้อขายทางธุรกิจ แต่เรากลับลดคุณค่าของสิ่งนั้นลงเป็นเพียงแต่การซื้อขายทางธุรกิจ ด้วยเหตุนี้ มูลค่าจึงเข้าแย่งชิงพื้นที่ของมิติทางด้านคุณค่าอื่นๆ ในสังคม

การพิจารณาของแซนเดลนั้นมีรากหยั่งลึกไปถึงข้อถกเถียงในเชิงปรัชญาการเมืองและศีลธรรมไล่เรียงตั้งแต่ข้อถกเถียงเรื่องการให้ความสำคัญกับเป้าหมายโดยไม่สนใจกับวิธีการของพวกที่พิจารณาแต่ผลของการกระทำกับพวกที่ให้ความสำคัญกับความถูกต้องชอบธรรมของวิธีการเป็นสำคัญ ข้อถกเถียงเรื่องการแสวงหาความสุขและหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด การให้ความสำคัญกับความสุขของคนจำนวนมากที่สุดตามแนวคิดของพวกประโยชน์นิยมอย่างเบนแธม การให้ความสำคัญกับมิติเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณของความสุขของมิลล์ กับการให้ความสำคัญกับกฎศีลธรรม (เหตุผล) โดยตัวของมันเองว่าเป็นสิ่งที่ดีและถูกต้องของค้านท์ การให้ความสำคัญกับสิทธิส่วนบุคคลและกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลของพวกเสรีนิยมยุคใหม่กับแนวคิดเสรีนิยมที่ตั้งอยู่บนฐานของสิทธิตามธรรมชาติและสัญญาประชาคมของล็อก ทฤษฎีความยุติธรรมของรอลส์

ความแตกต่างของรากฐานของปรัชญาศีลธรรมและการเมืองเหล่านี้ล้วนแต่มีอิทธิพลและส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของมนุษย์และการก่อร่างของสถาบันและการดำเนินการต่างๆ ทางสังคมรวมถึงการอธิบายและสร้างข้อถกเถียงในเรื่องของธรรมชาติของมนุษย์และการทำงานของกลไกตลาด ข้อถกเถียงของแซนเดลจึงกระตุ้นให้นักเศรษฐศาสตร์ต้องฉุกคิด ทบทวน และสืบค้นถึงรากเหง้าของมายาคติของแนวคิดหลักของเศรษฐศาสตร์เพื่อส่องสะท้อนให้เห็นว่า

ตลาดและกลไกราคาไม่ใช่คำตอบสุดท้าย คุณค่าและมูลค่านั้นไม่ใช่สิ่งเดียวกัน และมนุษย์เป็นมากกว่ามนุษย์เศรษฐกิจ