บ้านแพ้วโมเดล

บ้านแพ้วโมเดล

ผู้เขียนเคยได้ยินชื่อโรงพยาบาลบ้านแพ้วครั้งแรกในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจ ได้ยินว่าเป็นโรงพยาบาลของรัฐที่แปรรูปไปเป็นองค์การมหาชนเป็นแห่งแรก

ตอนนั้นผู้เขียนก็ยังมีความประหลาดใจอยู่เหมือนกันว่าทำไมโรงพยาบาลอำเภอเล็กๆ ถึงสามารถแปรไปเป็นองค์การมหาชนได้ จากนั้นเป็นต้นมานับเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว ปรากฏว่าโรงพยาบาลที่สามารถกลายเป็นองค์การมหาชนก็ยังคงมีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย จึงน่าสนใจว่ารูปแบบการบริหารจัดการบริการสาธารณสุขในรูปแบบนี้เป็นยังไง ส่งผลดีผลเสียต่อประชาชนอย่างไร และทำไมถึงไม่เกิดองค์การรูปแบบนี้ในประเทศไทยอีก?


นับเป็นโอกาสดีที่ได้พบกับบุคคลท่านหนึ่ง ซึ่งเรื่องราวของท่านสามารถใช้เป็นแรงบันดาลใจได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่สังคมเรากำลังเสื่อมทรุด ผู้คนค้นหาความหวัง โหยหาอัศวินม้าขาวที่จะมากอบกู้วิกฤติศรัทธา จริยธรรม ตลอดจนการแสวงหาความเท่าเท่าเทียมในสังคม จึงถือเป็นโอกาสดีที่ผู้เขียนได้พบคุณหมอวิฑิต อรรถเวชกุล อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) และอดีตผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ท่านคือเจ้าของ “บ้านแพ้วโมเดล” เมื่อได้รับฟังเรื่องเล่าและแรงบันดาลใจของท่าน สามารถเป็นสิ่งจรรโลงใจของเราให้เชื่อมั่นในความดีงามและการมุ่งมั่นในการทำความดีได้อย่างวิเศษ


ระยะเวลากว่า 3 ชั่วโมงที่คุณหมอวิฑิตได้เล่าเรื่องราว ตั้งแต่ท่านจบการศึกษาเป็นนายแพทย์ หอบหิ้วอุดมการณ์เดินทางไปเป็นแพทย์ชนบทที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งการเป็นแพทย์ชนบทในทัศนะของท่านนั้นไม่ใช่เพียงเป็นหมอที่เดินทางไปรักษาคนป่วยในพื้นที่ห่างไกลเท่านั้น แต่คือการไปใช้ชีวิตในชนบท ซึ่งมากไปกว่าการใช้วิชาชีพแพทย์ การอยู่กับชาวบ้าน เข้าใจบริบท วิถีชุมชน และที่สำคัญคือความจริงใจในการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอาจเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าการใช้ความสามารถในการรักษาพยาบาลเสียอีก


คุณหมอวิฑิตได้เล่าถึงวิธีการของท่านในการเข้าถึงชาวบ้าน โดยอาศัยทักษะการเล่นดนตรี ซึ่งท่านได้เข้าไปชักชวนชาวบ้านตั้งวงดนตรีแล้วฝึกซ้อมกันในช่วงเย็นแทนการตั้งวงดื่มสุราหรือเล่นการพนัน เมื่อใช้วิธีการเล่นดนตรีจึงได้ดึงความสนใจของวัยรุ่น และข้าราชการส่วนหนึ่ง ที่นอกเหนือจะสร้างความบันเทิงของกลุ่มแล้ว ยังสร้างรายได้อีกด้วยโดยการออกตระเวนไปรับจ้างเล่นดนตรีในที่ต่างๆ ตามแต่จะมีโอกาส


จุดเริ่มต้นของบ้านแพ้วโมเดลคือการที่คุณหมอวิฑิตต้องย้ายตามวาระ มาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร โรงพยาบาลอำเภอแห่งหนึ่งซึ่งขาดแคลนทุกสิ่งทุกอย่าง ถึงแม้ว่าจะอยู่ใกล้โรงพยาบาลระดับจังหวัดหลายแห่งและอยู่ไม่ไกลจากส่วนกลางคือกรุงเทพฯมากนัก แต่สถานพยาบาลเล็กๆ แห่งนี้ก็ไม่มีชาวบ้านนิยมมาใช้บริการกันเท่าไหร่ คุณหมอวิฑิตเล่าว่าท่านมาทำงานครั้งแรกมีคนไข้เข้ามาใช้บริการโรงพยาบาลอำเภอแห่งนี้เฉลี่ยแล้วไม่เกิน 5 เตียงเท่านั้น เพราะนอกจากจะขาดแคลนทั้งสถานที่และอุปกรณ์แล้ว คนทำงานทั้งหมอและพยาบาลก็ไม่มีจิตใจต่อการทำงานอันใด ส่วนชาวบ้านในพื้นที่ก็เลือกที่จะเดินทางไปใช้บริการที่โรงพยาบาลอื่นที่ไกลออกไปไม่มากเท่าใด ไม่ว่าจะเป็นที่ไร่ขิง นครปฐม หรือที่บ้างโป่ง ราชบุรี เป็นต้น


ทันทีที่คุณหมอวิฑิตย้ายมาบ้านแพ้วก็ได้สอบถามทีมงานถึงความตั้งใจว่าต้องการจะสร้างโรงพยาบาลบ้านแพ้วหรือจะดำรงอยู่แบบวันๆ กันต่อไป ซึ่งคำตอบของแพทย์และพยาบาลก็คือต้องการจะร่วมสร้างโรงพยาบาลแห่งนี้ แต่คุณหมอก็ตระหนักดีถึงข้อจำกัดทั้งเรื่องของเงินงบประมาณและกำลังคนที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ก็เพราะโรงพยาบาลแห่งนี้เป็นเพียงโรงพยาบาลขนาดเล็ก ชาวบ้านก็มาใช้บริการกันไม่มาก เมื่อองค์กรขาดแคลนทรัพยากรก็ขาดผู้เข้ารับบริการจึงไม่ได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐ และองค์กรแบบนี้ก็ต้องรอวันแห้งเหี่ยวตาย คุณหมอวิฑิตจึงเริ่มต้นด้วยการปวารณาตนเองว่าจะทุ่มเทในการให้บริการสุขภาพในโรงพยาบาลบ้านแพ้วแห่งนี้ที่เดียวเท่านั้น โดยไม่ยอมไปเปิดคลินิกให้บริการเพื่อเก็บผลประโยชน์ของตัวเองอย่างเด็ดขาด


เพราะสิ้นหวังต่อการพัฒนาโดยรับการสนับสนุนจากภาครัฐ ท่านจึงคิดว่าจำเป็นต้องไปหาการสนับสนุนจากที่อื่น ซึ่งก็คือผู้ที่ใช้บริการโรงพยาบาล หรือชาวบ้านในพื้นที่เอง แต่นั่นก็ย่อมเป็นเรื่องที่ยากลำบากมากอยู่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวคุณหมอเองก็เป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ใหม่ ไม่คุ้นเคยกับคนในพื้นที่ และแน่นอนที่สุดย่อมจะยังไม่ได้รับความไว้วางใจ แต่คุณหมอและทีมงานก็ได้ผนึกกำลังในการให้บริการชาวบ้านอย่างเต็มที่ แต่ก็แน่นอนว่านั่นก็ยังไม่ใช่เรื่องที่ง่ายอยู่ดี เพราะใครเล่าที่อยากจะมาใช้บริการของโรงพยาบาลเล็กๆ ที่ขาดแคลนทุกอย่างแห่งนี้


ดังนั้น คุณหมอจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีการสื่อสารไปสู่ชาวบ้าน และการสื่อสารที่ทรงพลังที่สุดก็น่าจะเป็นการส่งสารแบบปากต่อปากของชาวบ้านกันเอง การยึดมั่นต่อการให้บริการแก่ชาวบ้านอย่างเต็มที่ รักษาคนไข้อย่างเต็มกำลังความสามารถโดยไม่ผลักไสคนไข้ไปให้โรงพยาบาลศูนย์โดยที่ไม่จำเป็น หลายกรณีที่ประสบผลสัมฤทธิ์เพราะการทำหน้าที่อย่างทุ่มเทของแพทย์และพยาบาล จึงสามารถรักษาชีวิตคนไข้ไว้ได้ จึงได้กลายเป็นเคสต่อเคสและปากต่อปาก โรงพยาบาลบ้านแพ้วก็ค่อยๆ ได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านมากขึ้นทีละน้อยและคุณหมอวิฑิตเองก็ค่อยๆ ได้รับความเชื่อถือจากชุมชนบ้านแพ้วแห่งนี้


ข้อสังเกตที่หมอวิฑิตเล็งเห็นเมื่อย้ายมาที่บ้านแพ้วก็คือ ชาวบ้านในแถบนั้นน่าจะมีฐานะที่อยู่ในระดับดีพอใช้ได้ทีเดียว ท่านสังเกตเห็นบรรดาวัดวาอารามในแถบนั้นมักมีการสร้างอุโบสถกันใหญ่โตมโหฬาร ชาวบ้านคงจะนิยมทำบุญกันมาก คุณหมอได้เล็งเห็นถึงโอกาสจะรณรงค์ให้ชาวบ้านหันมาให้ความสนใจในเรื่องสุขภาพ ซึ่งการช่วยเหลือชีวิตคนก็ถือเป็นการทำบุญกุศลอันยิ่งใหญ่เช่นกัน การทำบุญกับโรงพยาบาลนั้น ผลบุญที่ได้ก็ยังอาจจะส่งต่อกับผู้บริจาคเองหรือคนในครอบครัว ตลอดจนญาติมิตร ซึ่งสามารถเห็นผลประจักษ์ในชาติภพนี้ไม่ต้องรอไปพิสูจน์ในโลกหลังความตาย


และการชักจูงผู้คนแน่นอนว่าต้องอาศัยความช่วยเหลือจากคนซึ่งมีบารมีในพื้นที่ มีทั้งท่านสมภาร ผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชน ครั้งหนึ่งคุณหมอก็แปลกใจเหมือนกันว่าใครๆ ก็แนะนำให้ไปพบกับเจ้าของร้านขายแว่นตาในอำเภอ ปรากฏว่าท่านเจ้าของร้านแว่นตานั้นถือเป็นมือประสานสิบทิศประจำชุมชนเลยทีเดียว และด้วยความช่วยเหลือของคนเหล่านี้นี่เอง ที่ทำให้โรงพยาบาลอำเภอบ้านแพ้วค่อยๆ ได้รับบริจาคปัจจัยสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เริ่มต้นด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ชิ้นเล็ก ๆ ต่อเนื่องไปจนกระทั่งถึงอาคารสถานพยาบาลอันทันสมัย


อย่างไรก็ตาม การที่บ้านแพ้วจะเป็นโมเดลได้ ย่อมไม่ใช่เพียงแค่การประชาสัมพันธ์ขอรับเงินบริจาคเท่านั้น แต่คุณหมอวิฑิตเป็นผู้เล็งการณ์ไกล ท่านหาโอกาสไปช่วยงานคุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ในเรื่องหลักประกันสุขภาพทั่วหน้า ซึ่งต่อมาก็ได้ถูกขนานนามเป็น 30 บาทรักษาทุกโรคของพรรคไทยรักไทย ที่คนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่าอดีตนายกฯทักษิณเป็นผู้คิด แต่การที่คุณหมอวิฑิตอาสาเข้าไปช่วยงานคุณหมอสงวนที่กระทรวงสาธารณสุขโดยไม่มีค่าตอบแทนนั้น ก็เพราะท่านถือว่าเป็นโอกาสที่จะเรียนรู้ของตัวเอง คุณหมอวิฑิตเล็งเห็นความสำคัญของหลักประกันสุขภาพทั่วหน้าซึ่งเป็นงานที่คุณหมอสงวนได้ทุ่มเทจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิตท่าน และแสวงหาโอกาสในการพัฒนาของระบบสาธารณสุขของประเทศ


การที่โรงพยาบาลอำเภอบ้านแพ้วสามารถออกนอกระบบราชการเป็นองค์การมหาชนเป็นแห่งแรกและจนกระทั่งบัดนี้ก็ยังคงเป็นแห่งเดียวในประเทศไทยได้นั้น ต้องยอมรับว่าเป็นเพราะความสามารถของคุณหมอวิฑิตด้วยและโชคด้วยส่วนหนึ่ง เพราะรูปแบบการบริหารจัดการสาธารณสุขของประเทศไทยนี้เป็นระบบรวมศูนย์อำนาจมาแต่ไหนแต่ไร การกำกับควบคุมและบงการมาจากส่วนกลาง และแน่นอนว่าไม่มีใครในระบบรวมศูนย์อำนาจแบบนี้ ที่อยากจะเสียสภาวะการควบคุมบงการไป แต่การที่โรงพยาบาลระดับอำเภออย่างบ้านแพ้วสามารถมาเข้ามาประกวดท่ามกลางโรงพยาบาลใหญ่ๆ ระดับจังหวัด


สำหรับการคัดเลือกให้เป็นโรงพยาบาลนอกระบบราชการหรือเป็นองค์การมหาชน ตามข้อกำหนดขององค์กรการเงินระหว่างประเทศเสนอให้มีองค์การมหาชนในระบบสาธารณสุขอย่างน้อย 1 แห่ง เป็นข้อแม้สำคัญสำหรับการพิจารณาปล่อยเงินกู้ให้กับประเทศไทยในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจหลังปี พ.ศ.2540 การที่รัฐบาลเลือกโรงพยาบาลบ้านแพ้วให้ออกนอกระบบราชการนั้น จึงเป็นความจำเป็นของรัฐบาลที่ต้องการเงินกู้เพื่อแก้วิกฤติประเทศ และเป็นความสมัครใจของคุณหมอวิฑิตเองในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาล ผู้ที่ต่อสู้มายาวนานเพื่อพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาลด้วยตัวเอง ซ้ำยังมองว่าระบบราชการเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาเสียด้วย


เมื่อโรงพยาบาลบ้านแพ้วได้กลายเป็นองค์การมหาชนแล้ว สิ่งที่ยากเสียยิ่งกว่าการผลักดันบ้านแพ้วให้ออกนอกระบบก็คือการทำให้บ้านแพ้วสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ต้องของบประมาณแผ่นดินและที่สำคัญมากที่สุดก็คือต้องไม่ไปขูดรีดเลือดเนื้อคนไข้หรือผู้ป่วยของโรงพยาบาลด้วย ประเด็นนี้ท้าทายความสามารถของคุณหมอวิฑิตและทีมงานบ้านแพ้ว ที่มุ่งหมายจะให้บริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและชาวบ้านทั่วๆ ไปสามารถเข้าถึงได้ แล้วก็นับเป็นโชคดีที่คุณหมอวิฑิตซึ่งเคยไปช่วยงานคุณหมอสงวนและมีประสบการณ์กับโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จึงเล็งเห็นโอกาสในการนำบ้านแพ้วแผ่ขยายบริการด้านสุขภาพ


ท่านเริ่มต้นด้วยการจับประเด็นสุขภาพที่ดูเหมือนเป็นปัญหาใหญ่สำหรับบุคคล แต่ทางการแพทย์แล้วสามารถบริหารจัดการเพื่อแก้ไขได้โดยไม่ยาก ท่านจึงบุกเบิกเรื่องการผ่ารักษาโรคตาต้อกระจก ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับคนทั่วๆ ไปและอาจจะเป็นกันเกือบทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนย่างเข้าสู่วัยชรา คุณหมอวิฑิตริเริ่มโครงการนี้ด้วยจักษุแพทย์ของโรงพยาบาลบ้านแพ้วเพียง 3 ท่าน และมีเพียงท่านเดียวเท่านั้นที่มีความชำนาญด้านการผ่าตัดตาต้อกระจก ดังนั้นท่านจึงสนับสนุนให้มีการฝึกฝนบุคลากรที่มีอยู่จนเกิดความชำนาญ


ความจริงแล้วการผ่าตัดตาต้อกระจกนี้ เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติการในห้องผ่าตัด เพียงใช้จักษุแพทย์ที่ชำนาญ กับเครื่องมือขนาดย่อม และก็ใช้เวลาไม่นานนัก ผลที่ได้จากคนที่มองเกือบจะไม่เห็นกลับมองเห็นเป็นเรื่องที่มีความยิ่งใหญ่ สามารถพลิกฟื้นชีวิตของคนคนหนึ่งเลยทีเดียว ในสมัยการบุกเบิกของบ้านแพ้วนั้นการผ่าตัดตาต้อนี้ใช้เวลา 1 ชั่วโมงต่อคน แต่ต่อมามีการจัดฝึกฝีมือเพิ่มทักษะจนสามารถทำได้เร็วถึง 10 นาทีต่อคน ปฏิบัติการนี้สามารถทำได้อย่างรวดเร็วเป็นจำนวนมาก จึงสร้างรายได้จากโครงการหลักประกันสุขภาพฯให้แก่โรงพยาบาลบ้านแพ้วได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ สมัยแรก สปสช. จ่ายให้ 4,900 บาทต่อคน และต่อมาเพิ่มให้เป็น 9,000 บาทต่อคน ปีแรกบ้านแพ้วผ่าตัดช่วยให้คนมองเห็นได้ถึง 12,000 ราย และปีต่อมาสามารถทำเพิ่มได้ถึง 14,000 รายทีเดียว


น่าแปลกที่มีผู้ป่วยโรคนี้เป็นจำนวนมากทั่วทั้งประเทศ และมีแนวโน้มจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับสัดส่วนผู้สูงอายุของประเทศนั่นเอง แต่โรงพยาบาลท้องถิ่นอื่นๆ ทั่วประเทศกลับไม่สามารถให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างทันการณ์ สิ่งที่เกิดขึ้นกับทีมงานบ้านแพ้วในขณะที่ออกตระเวนผ่าตัดตาต้อนี้ก็คือ มักไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลไม่ว่าจะไปที่ไหน ล้วนไม่สามารถใช้พื้นที่ของโรงพยาบาลส่วนตำบลนั้นสำหรับกิจกรรมผ่าตัดได้เลย อาจจะเป็นเพราะดูเหมือนว่าทีมบ้านแพ้วมาแย่งรักษาคนไข้ในท้องที่ (ข้ามถิ่น) ทั้งๆ ที่โรคตาต้อกระจกนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้เกือบทุกคนและมีจำนวนมากขึ้นอย่างไม่สิ้นสุด อาจจะเปรียบได้กับเกลือที่ไม่มีวันหมดไปจากน้ำทะเล


ด้วยข้อจำกัดดังกล่าวทางโรงพยาบาลบ้านแพ้วจึงได้จัดซื้อรถผ่าตัดเคลื่อนที่ ซึ่งสามารถขนอุปกรณ์ บุคลากร และยังสามารถใช้เป็นสถานประกอบการผ่าตัดได้อีกด้วย นอกเหนือจากเรื่องการรักษาโรคตาต้อกระจกแล้ว คุณหมอวิฑิตยังแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการทำสิ่งที่เป็นไปได้ยากให้เกิดขึ้นได้เสมอ อย่างเช่นที่ท่านเล่าว่ามีตัวแทนจำหน่าย เครื่องซีทีสแกน ซึ่งเป็นอุปกรณ์ราคาแพงมาก มักจะมีใช้แต่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่หรือโรงพยาบาลเอกชนเท่านั้น ได้มาเสนอขายเครื่องนี้ให้แก่โรงพยาบาลบ้านแพ้ว และถึงแม้ว่าทางโรงพยาบาลจะพอมีฐานะดีขึ้นแล้วก็ตาม แต่การทุ่มทุนซื้อเครื่องที่มีราคาแพงมากเช่นนี้กลับดูไม่สมเหตุผลเท่าใดนัก ท่านจึงเสนอรูปแบบการเช่าซื้อเครื่องนี้ในแบบเดียวกับที่บริษัทขายเครื่องถ่ายเอกสารโดยทั่วไปชอบเสนอ โดยได้นำเครื่องนี้ไปติดตั้งในตึกแถวภายนอกโรงพยาบาลเพื่อบริหารจัดการให้เกิดความคุ้มทุนและคุ้มค่า วิธีจัดการ ด้วยการเปิดให้เช่าบริการเครื่องซีทีสแกนนี้แก่โรงพยาบาลศูนย์อื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียงได้เข้ามาใช้ด้วย ซึ่งถือเป็นการลดต้นทุนและเพื่อให้เกิดอรรถประโยชน์มากที่สุดแก่ผู้ป่วย


ปัจจุบันโรงพยาบาลบ้านแพ้วแห่งนี้ก็มีการพัฒนาไปมาก มีอาคารสถานที่อันสวยงาม มีอุปกรณ์ทางการแพทย์อันทันสมัยและครบครัน มีรถผ่าตัด มีความร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำอย่างโรงพยาบาลพร้อมมิตรในกรุงเทพฯ มีการให้บริการชาวบ้านที่นั่งกันอยู่แน่นขนัดในโรงพยาบาลทุกๆ วัน ด้วยมาตรฐานที่ดีในราคาที่เข้าถึงได้ และที่สำคัญก็คือเป็นที่ซึ่งรวบรวมแรงศรัทธาอย่างมากมายของคนในพื้นที่บ้านแพ้วเอง เพราะเมื่อผู้เขียนได้มีโอกาสเดินดูโดยรอบโรงพยาบาลก็สังเกตเห็นรายชื่อผู้บริจาคทรัพย์ในการสร้างสิ่งต่างๆ ภายในโรงพยาบาลแห่งนี้มากมายหลายชื่อหลายครอบครัว เห็นแล้วรู้สึกได้ถึงความทรงพลังและเกิดความตื้นตันใจยิ่งนัก แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยง่ายเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหมอชนบทธรรมดาๆ คนหนึ่งเท่านั้น สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากการวางรากฐานโดยคุณหมอวิฑิตและการทุ่มเททำงานอย่างหนักของท่านมาตลอดกว่าทศวรรษ


บ้านแพ้วโมเดลที่กล่าวถึงนี้ จึงไม่ใช่แค่การออกนอกระบบราชการของโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าย่อมไม่ใช่สูตรสำเร็จของเรื่องประสิทธิภาพและคุณภาพของการให้บริการสาธารณสุข ความโดดเด่นของบ้านแพ้วโมเดลจึงไม่ใช่การเป็นโรงพยาบาลที่เป็นองค์การมหาชนแรกและหนึ่งเดียวของประเทศไทย แต่บ้านแพ้วโมเดลคือตัวอย่างของระบบการยึดถือเรื่องคุณงามความดี การสร้างความดีโดยไม่หวังผลแก่ตนเองหรือพวกพ้องเป็นหลัก ตลอดจนการหมั่นสร้างคุณความดีอย่างไม่วอกแวก และผลจากศรัทธาในเรื่องการประกอบกรรมดีนั้นย่อมต้องส่งผลดี ซึ่งอาจจะเป็นโมเดลที่หาชมได้ยากโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสังคมไทยในยุคสมัยนี้ หลังจากวางรากฐานบ้านแพ้วอย่างมั่นคงแล้ว ในปี พ.ศ.2550 คุณหมอวิฑิตก็ได้ย้ายไปเป็นผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมซึ่งท่านก็ได้สร้างสรรค์ผลงานไว้มากพอสมควรที่นั่นตลอดเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นในเรื่องคุณภาพของยาและการทำให้ประชาชนทุกระดับสามารถเข้าถึงยาที่มีคุณภาพ


และเมื่อเร็วๆ นี้เราก็คงได้ยินข่าวร้ายเกี่ยวกับคุณหมอวิฑิตจากสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ที่ท่านได้ถูกบอร์ดองค์การเภสัชกรรมสั่งปลดโดยข้อหาที่ยังมีความคลุมเครือ ซึ่งท่านก็คงจะต้องต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ตัวเองต่อไป