จากกรณีคราบน้ำมันรั่วในอ่าวไทย ย้อนไป BP Oil Spill อ่าวเม็กซิโก

จากกรณีคราบน้ำมันรั่วในอ่าวไทย ย้อนไป BP Oil Spill อ่าวเม็กซิโก

เหตุการณ์คราบน้ำมันดิบรั่วในอ่าวไทย ที่กลายเป็น “กรณีศึกษา” การบริหารวิกฤติความเข้าใจ

ของสาธารณชนที่สำคัญ...ทำให้ผมย้อนนึกถึงเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วครั้งใหญ่ที่สุดในสหรัฐเมื่อสามปีก่อน ที่อ่าวเม็กซิโก ซึ่งยังเป็นที่โจษขานกันถึงทุกวันนี้

อุบัติเหตุครั้งนั้น รู้จักกันดีในชื่อ BP (British Petroleum) Oil Spill ซึ่งสร้างความเสียหายครั้งใหญ่หลวง และตามมาด้วยการตั้งคณะกรรมการสอบสวนระดับชาติ กฎหมายป้องกันสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างเข้มข้น และการตื่นตัวของภาคประชาคมในการป้องกันเหตุร้ายแรงเช่นนี้ จนถึงวันนี้

สามปีผ่านมาแล้ว แต่ยังมีการเจอคราบน้ำมันเป็นแถบๆ ในหลายจุดของฝั่งมิสซิสซิปปี และนอกฝั่งเมืองลุยเซียนา ภาพความน่ากลัวยังหลอกหลอนคนอเมริกันไม่น้อย

เหตุระเบิดเกิดวันที่ 20 เมษายน 2010 ที่แท่นขุดน้ำมัน มีผู้เสียชีวิต 11 ราย และบาดเจ็บอย่างน้อย 17 ราย น้ำมันดิบที่รั่วลงทะเลประมาณกันที่ 200 ล้านแกลลอน หรือประมาณ 700 ล้านลิตร

และการรั่วไหลยาวนานถึง 87 วันเต็มๆ

ถ้าเทียบกับน้ำมันดิบที่รั่วลงในอ่าวไทยครั้งนี้ ประมาณ 50,000 ลิตร เหตุการณ์ครั้งนั้นก็หนักหนากว่ามาก...เพราะถูกจารึกเป็นเหตุน้ำมันรั่วที่ใหญ่โตและรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในโลก

แต่แม้ว่าปริมาณของน้ำมันดิบที่รั่วลงทะเลในไทยคราวนี้ จะน้อยกว่าของกรณีอ่าวเม็กซิโกมากมายหลายสิบเท่า แต่ความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตและการท่องเที่ยวก็ย่อมจะกว้างไกล และต้องมีมาตรการป้องกันในอนาคตอย่างจริงจังอยู่ดี

ชายฝั่งของเมืองสหรัฐ ที่ถูกคราบน้ำมันกระทบอย่างแรง ยาวถึง 16,000 ไมล์ รวมถึง เทกซัส, ลุยเซียนา, มิสซิสซิปปี, แอละแบมา และ ฟลอริดา ซึ่งล้วนแต่เป็นรัฐสำคัญๆ ทั้งสิ้น

สัตว์น้ำ ไม่ว่าจะเป็นนก เต่าทะเล และสัตว์น้ำอื่นๆ กว่า 8,000 ตัว เสียชีวิต เพราะมลพิษที่เกิดจากคราบน้ำมัน ไม่นับความเสียหายต่อนิเวศวิทยาในแถบนั้นอย่างหนัก และยาวนาน

ล่วงเลยมาแล้วกว่า 3 ปี ก็ยังมีร่องรอยของมลพิษที่ยังไม่หมดร่องรอยไปเสียเลยทีเดียว

บริษัท BP ต้องใช้เงินเกือบ 40,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 1.2 ล้านล้านบาท ในการเยียวยาผู้เสียหายและชดเชยผู้ฟ้องร้องอย่างกว้างขวาง

ไม่นับที่ต้องควักกระเป๋าอีก 16,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 480,000 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนสำหรับทำน้ำสะอาดตามกฎหมาย Clean Water Act ที่รัฐสภาสหรัฐออกมาเพื่อแก้ปัญหาที่ตามมาสำหรับชุมชนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงด้วย

แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว การประเมินตัวเลขค่าเสียหายต่อธรรมชาติ การประมง นิเวศวิทยา และ การท่องเที่ยวนั้น ไม่อาจจะทำให้แม่นยำได้จริง เพราะ “ค่า” ของธรรมชาติที่สูญหายไปนั้น ไม่อาจจะตีเป็นตัวเลขได้ อีกทั้งยังไม่อาจจะเรียกฟื้นคืนสู่ภาวะปกติเหมือนก่อนเกิดเหตุได้อีก

บทเรียนสำคัญจากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วลงทะเลหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ก็คือ การเพิ่มความระมัดระวังในการปฏิบัติการของเรือบรรทุกน้ำมัน และปฏิบัติการฐานขุดน้ำมันตลอดไปจนถึงการขนถ่ายน้ำมัน

และเมื่อเกิดแล้วจะทำอย่างไรให้รวดเร็วทันเหตุการณ์เพื่อควบคุมความเสียหาย อีกทั้งยังต้องแจ้งข้อมูลอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา อย่างรวดเร็ว โดยไม่พยายามปกปิดข้อเท็จจริง ที่สาธารณชนจะต้องรับทราบทุกระยะ

ยิ่งในโลกแห่ง Social Media ที่สื่อสารกันอย่างรวดเร็ว และมีความเห็นหลากหลายร้อนแรงนั้น ผู้รับผิดชอบต่ออุบัติเหตุเช่นนี้ จะต้องเปิดกว้างและรับฟังความเห็นของประชาชน โดยปราศจากเงื่อนไข

คำว่า “เอาอยู่” จึงไม่ใช่แค่ทำลายคราบน้ำมันบนผิวน้ำทะเลเท่านั้น หากแต่ยังต้องหมายถึง การฟื้นฟูธรรมชาติในบริเวณใกล้เคียงอย่างกว้างขวาง อย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน...อีกด้วย