คุณค่า(ทางจิตใจ) VS ราคา

คุณค่า(ทางจิตใจ) VS ราคา

ในแวดวงของนักลงทุนแบบ Value Invesment คำสองคำที่พูดถึงอยู่เสมอคือ Value กับ Price หรือ คุณค่า กับ ราคา

"คุณค่า" คือสิ่งที่จะได้จากการถือทรัพย์สินนั้น ซึ่งในเรื่องของหลักทรัพย์ที่เป็นหุ้น คือ ปันผลที่เราจะได้ตลอดอายุของการลงทุน หรือตลอดไป ส่วน "ราคา" คือสิ่งที่ต้องจ่ายในการซื้อทรัพย์สินดังกล่าว หน้าที่หลักของเราก็คือ ประเมินดูว่าคุณค่าหรือมูลค่าของหุ้นตัวนั้นควรจะเป็นเท่าไรโดยหาจาก "มูลค่าปัจจุบัน" ของปันผลที่จะได้รับในอนาคตทั้งหมด นำมาเทียบกับราคา หากมูลค่าสูงกว่าราคาก็ซื้อ แต่ถ้ามูลค่าต่ำกว่าราคา ก็ขาย เพราะเชื่อในระยะยาว ราคาจะวิ่งเข้าไปหามูลค่าที่แท้จริงเสมอ

เรื่องการลงทุนในหุ้น มูลค่า หรือคุณค่าของหุ้นมีเพียง หรือควรจะมีเพียงอย่างเดียว คือ ปันผลที่จะได้รับเป็นเงินสด คุณค่าอย่างอื่นที่ไม่ใช่ตัวเงิน และไม่สามารถนำมาคำนวณเป็นตัวเงิน เช่น ชื่อเสียงหรือความรู้สึกทางจิตใจ จะไม่นำมาคิด

แต่ในโลกที่กว้างออกไป "คุณค่า" ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องของเงิน คุณค่าด้าน "จิตใจ" ก็มีอยู่มากพอที่จะทำให้คนยอมจ่าย "ราคา" เพื่อได้มันมา หรือถ้าจะพูดอีกแบบหนึ่งคือ คนแต่ละคนจะประเมินดู "คุณค่าด้านจิตใจ" ที่เขาจะได้รับทั้งหมด แล้วนำมาเทียบกับ "ราคาหรือเม็ดเงิน" ที่เขาต้องจ่าย ถ้าคุณค่าสูงกว่า เขาจะ "ซื้อ" แต่ถ้าไม่ เขาอาจขายถ้าขายได้ ประเด็นที่สำคัญที่สุดที่ทำให้คุณค่าทางจิตใจ แตกต่างจากคุณค่าที่เป็นเม็ดเงิน คือ คุณค่าทางจิตใจ เป็นเรื่องเฉพาะตัวของแต่ละคน ของสิ่งเดียวกันสำหรับคนหนึ่ง อาจมีคุณค่ามาก แต่สำหรับอีกคนหนึ่งอาจไม่มีค่าอะไรเลย ลองมาดูกันว่าใน "ตลาด" ที่ขาย "คุณค่าทางจิตใจ" ของไทยนั้นมีอะไรบ้างที่น่าสนใจ

ในเมืองไทยที่สังคมยังค่อนข้างติดยึดกับระบบ "ศักดินา" ที่แบ่งคนเป็น "ชนชั้น" ตามฐานันดรต่างๆ ทำให้ยศถาบรรดาศักดิ์และตำแหน่งเป็นสิ่งที่คนต่างก็แสวงหา คนมักจะยกย่องเชิดชูคนที่มีฐานะ และตำแหน่งที่เป็นทางการสูงโดยที่ไม่ใคร่สนใจว่าคนๆ จะมีความรู้ความสามารถ หรือมีคุณธรรมจริงๆ หรือไม่ ดังนั้น คนที่มีปัญญา มีความรู้ความสามารถ หรือเพียงแต่มีเงินจึงต้องการ "หัวโขน" มาประดับด้วย หัวโขนหรือตำแหน่งที่เป็น "ทางการ" จึงเป็นสิ่งที่มีค่า เป็น Value สำหรับคนหลายๆ คน และพวกเขาจึงยินดีที่จะจ่ายเงินซื้อเป็น "ราคา" ที่หลากหลายขึ้นอยู่กับ "หัวโขน" แต่ละแบบ และนี่เป็นที่มาของการ "ขายปริญญา" ของ "มหาวิทยาลัย" ที่ไม่ได้มีมาตรฐาน หรือไม่ก็เป็นปริญญากิตติมศักดิ์ที่มอบให้แต่ผู้รับต้อง "จ่ายเงิน"

ในอดีตเคยมีกรณี "เครื่องราช" ที่ต้องจ่ายเงินให้กับคนที่จัดการทำเรื่องหลอกลวงว่า มีการบริจาคเงินให้กับวัด เพื่อเสนอขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้กับคนที่ต้องการได้เครื่องประดับนี้ โดยที่ตนไม่สมควรได้

อาหารเสริมเป็นธุรกิจที่ใหญ่มาก ผู้ผลิตมีตั้งแต่บริษัทระดับโลกไปยันกิจการครอบครัวขนาดเล็กที่ไม่มีการค้นคว้าวิจัยอะไรเลย "คุณค่า" ของอาหารเสริมจำนวนมากที่จะมีต่อร่างกาย ยังมีข้อสงสัยอยู่มาก หมอหรือนักวิชาการจำนวนมากที่ผมรู้จัก หรือได้อ่านบทความ บอกว่าอาหารเสริมส่วนใหญ่นั้น ไม่มีประโยชน์อะไรเลยนอกจากความรู้สึกทางใจที่ว่ามันช่วยให้สุขภาพดีขึ้น คนจำนวนมากรวมทั้งผมต่างก็ดูว่ามีอาหารเสริมหลายอย่างที่ผมซื้อเพราะมัน "คุ้มค่า" คนจำนวนมากคิดว่าคุณค่าของมันเหนือกว่าราคาที่จ่าย

คุณค่าที่ว่านี้ ก็คือ การมีสุขภาพที่ดีขึ้นสำหรับเขานั้น คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายมาก สำหรับผม ผมไม่ได้เชื่อมากนักว่า อาหารเสริมที่ผมกิน จะช่วยให้สุขภาพผมดีมากมายอะไร เงินที่ผมจ่ายก็น้อยนิด เมื่อเทียบกับทรัพย์สินที่ผมมี เทียบแล้ว Value เหนือ Price และนี่เป็นเหตุผลที่อาหารเสริมนั้นเป็นธุรกิจที่เติบโตมาก

การพยากรณ์เหตุการณ์ในอนาคตเป็นธุรกิจที่ใหญ่โตไม่น้อยไปกว่าอาหารเสริม ไล่ตั้งแต่การดูหมอและการผูกดวงชะตาต่างๆ การวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิค ไปจนถึงการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจของนักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลาย นี่ก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่ง ที่นักวิชาการมีการศึกษา และพบว่าการคาดการณ์ดังกล่าว ไม่มีความถูกต้องแม่นยำพอ ที่จะมีประโยชน์ในการตัดสินใจอะไรเลย แต่คนจำนวนมาก ก็ยังยอมจ่ายเงินไปเพื่อซื้อการคาดการณ์เหล่านั้น พวกเขาเห็น "คุณค่า" ของมัน

คนบางคนเชื่อว่า การคาดการณ์ มีความถูกต้อง และจะทำให้สามารถนำไป "ทำเงิน" และคุ้มค่ากับราคาที่จ่าย คนบางคนได้ "คุณค่าทางจิตใจ" นั่นก็คือ ทำให้เขารู้สึกสบายใจที่มีคนมาช่วย "รับภาระทางใจ" ต่อการตัดสินใจของเขา กรณีที่เกิดความผิดพลาดเขา ก็สามารถอ้างได้ว่า เขาตัดสินใจโดยได้ใช้ข้อมูล และความเห็นของคนที่เชี่ยวชาญในการพยากรณ์อนาคตอย่างรอบคอบแล้ว

Value หรือคุณค่าของ "ที่ปรึกษา" ทางธุรกิจ บ่อยครั้งไม่ได้มีคุณค่าที่ทำให้ธุรกิจดำเนินงานได้ดีขึ้น คุ้มค่ากับค่าที่ปรึกษาที่สูงลิ่ว เจ้าของ หรือผู้บริหารสูงสุดของบริษัท หรือหน่วยงานนั้น ส่วนใหญ่จะรู้ดีกว่าที่ปรึกษา ที่เป็นคนนอก และเพิ่งเข้ามาศึกษาการทำงานของบริษัทจากการสอบถามพนักงานภายในบริษัทเอง แต่ประเด็นอาจจะไม่ได้อยู่ตรงนั้น ประเด็นอาจจะอยู่ที่ว่าคุณค่าของที่ปรึกษาในสายตาของคนจ้างซึ่งเป็นผู้บริหารอาจจะอยู่ที่ว่า ที่ปรึกษาเป็นผู้ที่จะบอกให้แต่ละหน่วยงานในบริษัททำตามเนื่องจากพวกเขาเป็น "ผู้เชี่ยวชาญคนนอก" ที่ไม่มี "การเมืองในบริษัท" ที่ทำให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ง่ายกว่า นอกจากนั้น หากเกิดมีอะไรผิดพลาด ผู้บริหารก็ยังมีข้ออ้างว่าที่ปรึกษาได้แนะนำไว้ไม่ใช่ความผิดของฝ่ายบริหารทั้งหมด

ตลาดพระเครื่องน่าจะเป็นตลาดที่ "คุณค่าทางด้านจิตใจ" มีบทบาทสำคัญในทรัพย์สินที่มีตัวตนและเปลี่ยนมือได้ "คุณค่า" ของพระเครื่องแต่ละรุ่นนั้นเปลี่ยนแปลงไปได้ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น ถ้าเกิดอุบัติเหตุแล้วคนที่ห้อยพระเครื่องบางองค์รอดปลอดภัยอย่าง "มหัศจรรย์" คุณค่าในสายตาของคนเล่นพระเครื่องในพระรุ่น อาจจะสูงขึ้นมากและทำให้ "ราคา" ค่าเช่าพระองค์นั้นวิ่งสูงขึ้นด้วย แต่ถ้าถามว่าพระเครื่องรุ่นนั้นช่วยให้ "แคล้วคลาด" ได้จริงหรือเปล่า? คงไม่มีใครตอบได้จริงๆ

Value ของบริษัทจัดการกองทุนรวมหรือผู้บริหารกองทุนรวมนั้น ในต่างประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกามีการศึกษากันมากและพบว่า ผู้จัดการกองทุนรวมส่วนใหญ่มีคุณค่าในแง่ของการเลือกหุ้น ที่ถูกต้องน้อย ไม่คุ้มค่ากับค่าบริหารกองทุนที่คิดค่อนข้างสูงอาจจะ 3-4% ต่อปีของสินทรัพย์สุทธิ คนจำนวนมาก ก็ยังใช้บริการยอมจ่ายค่าบริหารกองทุนในอัตราสูงแทนที่จะซื้อกองทุนอิงดัชนี ที่ไม่ต้องเลือกหุ้น และคิดค่าบริหารกองทุนต่ำกว่ามาก

เหตุผลนั้น อาจจะเป็นเพราะคนยังเชื่อว่ามีกองทุนรวมที่มีฝีมือ หรือคุณค่าสูงในการเลือกหุ้นเพราะพวกเขาเห็นว่า กองทุนนั้นมีผลงานที่ดีเด่นในช่วงเร็วๆ นี้ ความหวังที่จะได้กำไรดีๆ และการ "ยกความรับผิดชอบ" ให้กับบริษัทจัดการการลงทุนที่ "มีผลงานโดดเด่น" ทำให้พวกเขายอมจ่าย "ราคา" ที่อาจจะสูงกว่าคุณค่าที่แท้จริงของ บลจ. นั้น

ที่เขียนมาทั้งหมด ประเด็นสำคัญที่สุดที่ผมต้องการจะบอกก็คือ ในฐานะของ VI เราจะต้องเป็น "ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับ VALUE" หรือคุณค่าของสิ่งต่างๆ เมื่อเทียบกับ ราคา ที่เราจะจ่าย และเราต้องเข้าใจด้วยว่า Value มีหลายรูปแบบ และในสายตาของแต่ละคน อาจจะไม่เท่ากัน ถ้ามันไม่ใช่ Value ที่เป็นเม็ดเงิน ความเข้าใจเหล่านี้จะทำให้เราใช้เงินได้คุ้มค่าขึ้น ทั้งทางด้านของการลงทุน และในด้านการใช้จ่ายอย่างอื่นของชีวิต