นวัตกรรมสังคม คืออะไร เพื่ออะไร

นวัตกรรมสังคม คืออะไร เพื่ออะไร

นวัตกรรมสังคม (Social Innovation) คือ การคิดค้นและทำอะไรใหม่ในทางสังคม เป็นคำที่ใช้ทั้งในความหมายทั่วไป

และในความหมายเฉพาะที่หมายถึง วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม คณะหนึ่งในมหาวิทยาลัยรังสิต ที่ก่อตั้งมา 10 ปีแล้ว มีการสอน การเรียน การวิจัย และผลิตบัณฑิตสาขาผู้นำทางสังคม ธุรกิจ และการเมือง ทั้งระดับปริญญาตรี โท เอก และบัณฑิตปริญญาโทสาขาจีนในระบบเศรษฐกิจโลก ออกไปหลายรุ่น รวมแล้วหลายร้อยคน

คำว่านวัตกรรม คนมักนึกถึงการคิดหรือประดิษฐ์อะไรใหม่ๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่การจะแก้ไขปัญหาและพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมของประเทศได้อย่างแท้จริง ขึ้นอยู่กับการจัดองค์กรและการบริหารจัดการทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมอยู่มาก ดังนั้น คำว่านวัตกรรมสังคม จึงสำคัญไม่น้อยไปกว่านวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แม้จะเป็นเรื่องยากกว่าที่จะมองให้เห็นได้ว่าการคิดค้นหรือประดิษฐ์อะไรใหม่ๆ ทางสังคมคืออะไร แต่การหาทางทำให้คนในองค์กร ฉลาด คิดสร้างสรรค์ มีจิตสำนึก เป็นคนที่มีคุณภาพมากขึ้น เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างไม่ต้องสงสัย

อาจารย์ในมหาวิทยาลัยรังสิตกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อาจารย์ชลธิรา สัตยาวัฒนา ผม รวมทั้งที่ปรึกษาภายนอก เช่น ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ได้จัดตั้งวิทยาลัยนวัตกรรมสังคมขึ้น ในปี พ.ศ. 2545 เพื่อสร้างหลักสูตรที่จะช่วยหาคำตอบให้กับปัญหาการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของประเทศ

ในช่วงนั้นประเทศไทยเพิ่งผ่านปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำปี 2540 มา รวมทั้งยังมีปัญหาด้านการเมืองและสังคมอยู่มาก เรามองว่าปัญหาวิกฤตของประเทศไม่ใช่เรื่องปัญหาทางเทคนิค ในการบริหารจัดการทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่จะต้องปฏิรูปเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นระบบองค์รวมด้วย ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องการการมองใหม่ การคิดค้นหาคำตอบใหม่ๆ ที่กว้างขวางและลึกซึ้งมากกว่า การมองวิธีการมองและแก้ไขปัญหาแบบแยกเป็นส่วนๆ และใช้วิธีการแก้ไขปัญหาในเชิงเทคนิค เหมือนกับการซ่อมแซมเครื่องจักรชำรุด เป็นเรื่องๆ ไป

ปัญหาหนึ่งของระบบการศึกษาไทยคือ การจัดการเรียนการสอนจัดแบบแยกเป็นส่วนๆ ตามวิชาเฉพาะทาง เหมือนกับการแบ่งงานกันทำในโรงงานอุตสาหกรรม และก็การสอนในแนวท่องจำและฝึกทักษะองค์ความรู้ในสาขาเฉพาะทาง อย่างไม่ค่อยมีการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ บูรณาการ ปัญหามิติด้านต่างๆ เข้าด้วยกัน อย่างเห็นภาพใหญ่ทั้งหมด ทำให้ประเทศไทยผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ทางวิชาการ วิชาชีพเฉพาะทางได้จำนวนหนึ่ง แต่ไม่ได้ผลิตปัญญาชนที่ควรรู้ทั้งเรื่องวิชาชีพเฉพาะทางและมองภาพใหญ่ในเรื่องชีวิตและสังคม เช่น เรื่องประวัติศาสตร์ ปรัชญา เศรษฐกิจการเมือง ฯลฯ ที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ด้วยในขณะเดียวกัน

วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ที่เริ่มจากการมีอาจารย์ชลธิรา สัตยาวัฒนา เป็นรักษาการคณบดี ได้เสนอหลักสูตรแรก คือ หลักสูตรปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ (PPE) ระดับปริญญาตรี เป็นการศึกษาสังคมศาสตร์แบบบูรณาการ ที่มหาวิทยาลัยเช่น แคมบริดจ์ ออกซฟอร์ด ก็เปิดมานานแล้ว เพื่อให้บัณฑิตมีความรู้รอบด้านที่จำเป็นในการเป็นผู้ปกครอง และเป็นผู้นำด้านต่างๆ หลักสูตรภาษาไทยที่ทางวิทยาลัยนวัตกรรมสังคมเปิด (ตามหลังหลักสูตรนานาชาติ) นั้น ปีแรกมีผู้สมัครมาเรียนเพียงราว 7 คน เพราะเราเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งผู้เรียนต้องออกค่าหน่วยกิตเองทั้งหมด พวกเขาจึงนิยมเรียนวิชาชีพที่จะจบไปแล้วมีงานทำมากกว่า

เราได้ผลิตหลักสูตรปริญญาโทจีนในระบบเศรษฐกิจโลก และเพิ่มหลักสูตรปริญญาตรีสาขาผู้นำทางธุรกิจ สังคม และการเมือง หลักสูตรผู้นำฯ นั้น ปรับปรุงมาจากหลักสูตรปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ และหลักสูตรผู้นำฯ ในต่างประเทศ โดยมองเรื่องเศรษฐศาสตร์ การเมือง สังคม ธุรกิจ ในเชิงวิชาการประยุกต์มากกว่าวิชาการแบบคลาสสิก และเพิ่มวิชาการด้านบริหารจัดการ จิตวิทยาและพัฒนาตนเอง ปัญหาการพัฒนาประเทศ ที่คนจะเป็นผู้นำต่อไปควรรู้ ช่วงนี้ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ได้แต่งตั้งให้ผมเป็นคณบดี เราได้รับอาจารย์เพิ่มขึ้น รวมทั้งได้โอนอาจารย์ด้านสังคมศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ ซึ่งสอนวิชาพื้นฐานให้นักศึกษาทุกคณะมาอยู่ในวิทยาลัยนวัตกรรมสังคมด้วย เพื่อทำให้วิชาด้านสังคมศาสตร์พัฒนาไปด้วยกัน

หลักสูตรผู้นำทางธุรกิจ สังคม และการเมือง รับนักศึกษาได้เพิ่มขึ้นเป็น 40-50 คน จนถึง 70-80 คน ในปีต่อๆ มา และมาแทนที่หลักสูตรปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ คนที่สนใจหลักสูตรผู้นำฯ ส่วนหนึ่งคือพ่อแม่ที่แนะนำลูกมา ส่วนหนึ่งเป็นนักเรียนที่สนใจเรื่องปัญหาการเมืองสังคม มีนักเรียนม.6 ที่คะแนนดีเข้าข่ายขอทุนมหาวิทยาลัยได้เข้ามาเรียนปีละ 1-2 คน เราพยายามสอนให้นักศึกษาอ่านหนังสือ คิด วิเคราะห์ เข้าร่วมกิจกรรม สอบแบบอัตนัย และฝึกภาคปฏิบัติเพิ่มขึ้น รวมทั้งส่งเสริมให้พวกเขาเข้าไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองสังคมของประเทศด้วย เราคิดว่าทั้งหลักสูตรและวิธีการเรียนการสอน คือนวัตกรรมทางสังคมประเภทหนึ่งในสังคมไทย ซึ่งมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มักเน้นหลักสูตรวิชาชีพเฉพาะทางและเน้นการบรรยายท่องจำไปสอบ

ปีต่อๆ มาเราเปิดหลักสูตรปริญญาโท และปริญญาเอก สาขาผู้นำทางธุรกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งได้รับความสนใจจากนักธุรกิจ พนักงานบริษัท นักกิจกรรมทางการเมือง สังคม ข้าราชการ คนทำงานสื่อมวลชน ฯลฯ มากพอสมควร เพราะเป็นหลักสูตรใหม่แบบพหุวิทยาการที่ต่างไปจากหลักสูตรเฉพาะทาง และเป็นหลักสูตรแบบปีเดียวจบได้ ถ้าขยันเขียนวิทยานิพนธ์ (หรืองานค้นคว้าอิสระ) เนื่องจากคนที่มาเรียนปริญญาโท-เอก ส่วนใหญ่มีประสบการณ์การทำงานมาแล้ว และมาจากหลากหลายวงการ การเรียนการสอนเป็นแบบสัมมนาแลกเปลี่ยนที่ทั้งผู้สอนและผู้เรียนได้เรียนรู้จากกันและกันด้วย และทำให้มีการวิจัยเขียนวิทยานิพนธ์เพิ่มพูนองค์ความรู้ด้านนี้ออกมาจำนวนหนึ่ง

ในปีการศึกษา 2556 นี้ เราได้ปรับหลักสูตรปริญญาโท จีนในระบบเศรษฐกิจโลก เป็นจีนและอาเซียนในระบบเศรษฐกิจโลก โดยเน้นเรื่องเศรษฐกิจการเมืองสมัยใหม่มากขึ้น และทำหลักสูตรให้กะทัดรัด นักศึกษามีโอกาสเรียนจบได้เร็วขึ้น และได้เปิดหลักสูตรปริญญาตรีสาขาใหม่ ชื่อ การบริหารการพัฒนาสังคม เป็นการผนวกวิชาแนวพัฒนาสังคม สังคมวิทยา สังคมสงเคราะห์ การบริหารจัดการองค์กร ฯลฯ เข้าด้วยกัน เรื่องการบริหารจัดการทางสังคมเป็นเรื่องที่ประเทศไทยยังให้ความสำคัญน้อย และเราต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมพัฒนาสังคมไทยให้เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และพัฒนาได้อย่างยั่งยืนเท่าที่เราจะทำได้