NFT ตามกฎหมายไทยคืออะไร? (ตอนที่1)

NFT ตามกฎหมายไทยคืออะไร? (ตอนที่1)

NFT หรือ Non-fungible token เป็นสินทรัพย์ทางดิจิทัลชนิดหนึ่งที่สร้างด้วยระบบบล็อกเชน NFT กำลังมาแรง มีผู้คนนิยมออกเพื่อแทนค่าสิ่งของต่าง ๆ และซื้อขายกัน ใคร ๆ ก็พูดถึง NFT ก็เลยทำให้น่าสนใจที่จะมาดูว่า ตามกฎหมายไทยแล้ว NFT จะมีสถานะอย่างไร

NFT กับฐานะทางกฎหมาย ตามกฎหมายคือ พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำกับดูแลเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล มีคำศัพท์อยู่ 3 คำที่เราต้องเกี่ยวข้องคือ “สินทรัพย์ดิจิทัล” หมายความว่า “คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล”

“คริปโทเคอร์เรนซี” หมายความว่า “หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์โดยมีความประสงค์ที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล และให้หมายความรวมถึงหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกําหนด” ตัวอย่างของ “คริปโทเคอร์เรนซี” ที่เรารู้จักกันดีก็คือ พวกเหรียญหรือเงินดิจิทัลสกุลต่าง ๆ เช่น Bitcoin

“โทเคนดิจิทัล” หมายความว่า “หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

(1) กําหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ

(2) กําหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ ตามที่กําหนดในข้อตกลงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ และให้หมายความรวมถึงหน่วยแสดงสิทธิอื่นตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกําหนด”

 

NFT ไม่ได้เป็น “คริปโทเคอร์เรนซี” เพราะไม่ได้ถูกใช้เป็นเงินตราในการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนอะไร แต่ NFT จะเป็นโทเคนดิจิทัลหรือไม่ก็ต้องมาดูว่า โดยลักษณะของ NFT เข้าคำนิยามที่กฎหมายให้ไว้หรือไม่

NFT ถูกสร้างขึ้นมาด้วยระบบบล็อกเชน มีลักษณะเฉพาะไม่อาจใช้โทเคนอื่นอันเป็นประเภท และชนิดเดียวกันแทนกันได้ (non-Fungible) ซึ่งมักจะออกโดยเชื่อมโยงกับของสะสมเช่น งานจิตรกรรม หรือประติมากรรม งานศิลปะดิจิทัล (digital art) โดยในตัว NFT จะระบุถึงกรรมสิทธิของผู้เป็นเจ้าของเอาไว้

NFT จึงแตกต่างจากโทเคนประเภทที่ใช้โทเคนอื่นอันเป็นประเภท และชนิดเดียวกันแทนกันได้ (Fungible) เพื่อความเข้าใจง่ายจะขอยกตัวอย่างเป็น “คริปโทเคอร์เรนซี” เช่น Bitcoin กล่าวคือ ถ้ามีคนทำ Bitcoin ของเราหายไป ผู้ที่ทำหายก็สามารถหา Bitcoin จากที่อื่นมาใช้คืนแทนได้ แต่ NFT จะเป็นของเฉพาะเช่น สมมุติว่าเป็น NFT ที่ออกให้กับรูปโมนาลิซ่า ถ้า NFT หายไปก็จะเอา NFT อื่นมาแทนไม่ได้

สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ให้คำอธิบายว่า สินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้การกำกับดูแลไว้ 3 ประเภทคือ

(1) คริปโทเคอร์เรนซีเป็นเหรียญดิจิทัล ที่ใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยกัน

(2) โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (investment token) เป็นเหรียญดิจิทัลที่ให้สิทธิในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ

(3) โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (utility token) เป็นเหรียญดิจิทัลที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง โดยแบ่งเป็น utility token พร้อมใช้ และ utility token ไม่พร้อมใช้

คำว่า “utility token พร้อมใช้” คือ ผู้ถือเหรียญสามารถใช้สิทธิแลกสินค้าหรือใช้บริการได้ทันที ตั้งแต่วันที่เสนอขายครั้งแรก ส่วนคำว่า “utility token ไม่พร้อมใช้” คือ ผู้ถือเหรียญจะยังไม่สามารถใช้สิทธิแลกหรือใช้ประโยชน์สินค้าหรือบริการนั้นได้ในวันเสนอขาย แต่ต้องรอใช้สิทธิในอนาคต 

โดยในขณะนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. จะกำกับดูแลเฉพาะการออกเสนอขาย “investment token” และ “utility token ไม่พร้อมใช้” ดังนั้น หากมีการเสนอขาย investment token หรือ utility token ไม่พร้อมใช้ ผู้ออกต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. โดยเปิดเผยข้อมูลตามที่กำหนด และต้องเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต เท่านั้น แต่หาก NFT นั้นเป็น “utility token พร้อมใช้” ก็จะไม่อยู่ในความหมายของ “โทเคนดิจิทัล” ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต.