ให้น้ำหนักหุ้นไทย แนะกลุ่มทนทานต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ให้น้ำหนักหุ้นไทย แนะกลุ่มทนทานต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย

มาดูกันเลยครับว่าเดือนที่แล้วเป็นยังไง ก็เหมือนกับที่ผมพูดในบทความคราวก่อนก็คือ นักลงทุนจะกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งรู้สึกว่า เริ่มกังวลต่อภาพเศรษฐกิจ เนื่องจากเงินเฟ้อที่สูงมากทำให้เป็นอุปสรรคต่อการบริโภค และการลงทุน

พูดง่ายๆ คือสถานการณ์แบบนี้ไม่น่าลงทุนและเริ่มกังวลต่อความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจ ถดถอย ความกังวลในเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นสูงมากทำให้ภาวะการลงทุนมีแนวโน้มไม่สู้ดีนัก สะท้อนจากตลาดหุ้นที่ปรับตัวลงในช่วงครึ่งเดือนแรก แต่หลังจากที่ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั้งฝั่งของไทยและสหรัฐฯออกมาแล้ว

แม้ว่าตัวเลขจริงจะสูงกว่าคาด แต่นักลงทุน ก็ มองข้ามประเด็นดังกล่าวและเชื่อว่าตัวเลขเงินเฟ้อนี้เตรียมใกล้จะผ่านจุดสูงสุดในระยะสั้น เมื่อมาประกอบกับการทยอยประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ของบริษัทต่างๆที่ออกมา ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นที่น่าพอใจทำให้ตลาดหุ้นในช่วงครึ่งเดือนหลังเริ่มปรับตัวรีบาวด์ขึ้นมาได้บ้าง

ปัจจัยสำคัญอื่นๆที่เกิดขึ้น ได้แก่ เงินบาทที่ยังคงเดินหน้าอ่อนค่าทำจุดต่ำสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง จากการแข็งค่าขึ้นของเงินสหรัฐ และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยแท้จริงของไทย ที่ต่ำกว่าประเทศอื่นโดยเปรียบเทียบ ทำให้ไม่สามารถจับทิศทางของนักลงทุนต่างชาติได้ ส่วนในเชิงของนโยบายการเงินนั้น

ในเดือนนี้เราได้เห็นธนาคารกลางยุโรปตัดสินใจ ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายทีเดียวถึงร้อละ 0.5 และยังมีการออกเครื่องมือใหม่ที่เรียกว่า Transmission Protection Instrument หรือ TPI ซึ่งเป็นวงเงินไว้ช่วยเข้าซื้อสินทรัพย์ของประเทศที่มีหนี้สาธารณะสูงเช่น อิตาลี ส่วนทางฝั่งของ Fed สุดท้ายแล้วมีมติตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.75% แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่ สร้างความประหลาดใจให้กับนักลงทุนแต่อย่างใด

ในเดือนส.ค.ภาวะการลงทุนโดยรวม ผมมองว่า ความผันผวนน่าจะลดลงและอาจจะเป็นช่วงเวลาที่นักวิเคราะห์เริ่มทำการปรับประมาณการของปีหน้า รวมทั้งตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญๆ จะทยอยออกมา ดังนั้นในภาพการลงทุนอาจจะเป็นช่วงเวลาที่สงบนิ่งเพื่อรอดูทิศทางการลงทุนรอบใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะมากระทบภาวะการลงทุนได้ ได้แก่ การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) เพียงระดับ ร้อยละ 0.25 อาจทำให้มีแรงขายเกิดขึ้นในฝั่งของเงินบาทอีกครั้ง

 ความกังวลทางด้านเศรษฐกิจถดถอย โดยเฉพาะในฝั่งสหรัฐฯที่เริ่มสะท้อนเข้ามาในราคาสินทรัพย์ผ่านการปรับตัวลงของ ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว หากมีจำนวนนักลงทุนที่เชื่อในประเด็นดังกล่าวมากขึ้น จะทำให้เห็นการย้ายเงินออกจากสินทรัพย์เสี่ยงเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัย เช่น พันธบัตรรัฐบาลมากขึ้น และส่งผลลบไปยังตลาดหุ้น

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ สุดท้ายแรงกดดันเงินเฟ้อของไทยที่อยู่สูง อาจจะเริ่มแพร่กระจายไปยังภาคส่วนต่างๆมากขึ้น หลังจากเงินบาททรงตัวอ่อนค่าอยู่เป็นเวลานานจนทำให้ราคาสินค้าในประเทศปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าราคาโภคภัณฑ์ในตลาดโลกอาจจะปรับลงมาบ้างก็ตาม

อย่างไรก็ดี พอร์ตการลงทุน ผมยังแนะนำให้กระจายการลงทุนในหุ้น ร้อยละ40-50 โดยแบ่งเป็น ไทย จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ทั้งนี้ ควรเน้นตลาดหุ้นไทย ส่วนตราสารหนี้คงต้องเป็นตราสารหนี้ระยะสั้นร้อยละ 35 อีก ร้อยละ15 ลงในตราสารหนี้ระยะยาว REITs และทอง ในสัดส่วนเท่าๆกัน

การถือครองหุ้นในช่วงนี้ โดยเฉพาะหุ้นไทย ผมให้น้ำหนักที่หุ้นในกลุ่ม ที่สามารถทนทานต่อภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวได้ เช่น กลุ่มการแพทย์ กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้า กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคภายในประเทศ

อย่างไรก็ตามการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวควรลงทุนอย่างเหมาะสม เนื่องจากมองว่า โอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีเมื่อเศรษฐกิจถดถอยก็ดูมีเหตุผลที่ดี แต่การเคลื่อนไหวที่ผันผวนของตลาดตราสารหนี้ จะมีผลกับตราสารหนี้ระยะยาวมากที่สุด และอาจจะทำให้พอร์ตการลงทุนมีความผันผวนมากเกินจำเป็น ดังนั้น สัดส่วนที่เหมาะสมคือไม่ควรเกินร้อยละ 5