แนวโน้ม Valuation และผลประกอบการของตลาดหุ้นไทย

แนวโน้ม Valuation และผลประกอบการของตลาดหุ้นไทย

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ดัชนี SET Index ปรับตัวลงมากว่า 100 จุดที่ 1,568 จุด หรือ ลดลง 6% จากเดือนก่อน  สะท้อนถึง Sentiment ตลาดในเชิงลบ

จากการคาดการณ์การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของกนง. ในการประชุมครั้งถัดไปเพื่อลดปัญหาเงินเฟ้อซึ่งในเดือนมิ.ย.ปรับตัวสูงขึ้นเป็น 7.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน(สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์)

ส่งผลให้ความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคมีแนวโน้มลดลง ประกอบกับความกังวลภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มถดถอย (Recession) ในระยะถัดไปที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่สหรัฐฯเริ่มมีสัญญาณของ Recession จากการคาดการณ์ของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเป็น Inverted Yield Curve

ถึงแม้ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงระยะของการฟื้นตัว ภาครัฐบาลเริ่มทะยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่างๆตั้งแต่ต้นปี ผลประกอบการของบริษัทต่างๆมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นเทียบกับปีที่แล้ว หลังจากไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ตลาดกำลังเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลการประกาศผลประกอบการอีกครั้ง สำหรับกลุ่มธนาคารที่ประกาศงบไตรมาส 2 ออกมาแล้ว พบว่ากำไรเติบโตค่อนข้างมาก เนื่องจากการเติบโตของสินเชื่อและการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญลดลงจากปีที่แล้ว

 อีกทั้งอัตราส่วน NPL ยังคงอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวล ในครึ่งปีหลังหากอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้กำไรรวมของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังคงเติบโตได้ดีจาก Net Interest Margin ที่สูงขึ้น นอกจากนี้กลุ่มสถาบันการเงินอื่นๆอาทิ เช่น กลุ่มธุรกิจบัตรเครดิต กลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อและกลุ่มสินเชื่อรายย่อย ก็ยังคงมีแนวโน้มเติบโตดีจากการบริโภคจับจ่ายใช้สอยที่ปรับตัวสูงขึ้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กำลังเข้าสู่ระดับปกติ ในเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมานี้

 ประเทศไทยได้เปิดประเทศเต็มรูปแบบ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ เติบโต 47% จากเดือนก่อน  ธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรม สายการบินเริ่มทยอยฟื้นตัว อัตราการเข้าพักปัจจุบันอยู่ที่ 45-55% (เทียบกับช่วงโควิดเพียง 11-13%) ขณะที่กลุ่มค้าปลีกที่มีกลุ่มลูกค้าเป็น Mass to lower ยังคงต้องจับตาดูในแง่ของกำลังซื้อเนื่องจากได้รับผลกระทบของเงินเฟ้อจากการที่ผู้ประกอบการส่งผ่านต้นทุนบางส่วนไปที่ราคาสินค้า อย่างไรก็ตามโดยรวมกลุ่มนี้ยังคงคาดว่า Same store sale growth (SSSG) มีแนวโน้มฟื้นตัวเช่นเดียวกับกลุ่มอื่น

ด้วยปัจจัยที่กดดันตลาดจากเงินเฟ้อและการที่ธนาคารกลางทั่วโลกต่างๆดำเนินนโยบายการเงินตึงตัว ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น เงินลงทุนไหลออกจากนักลงทุนต่างชาติ ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะสูงขึ้นส่งผลให้ Earning Yield Gap ระหว่างผลตอบแทนของตลาดและอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรอายุ 2 ปีลดลง 

 SET Index มีแนวโน้มแกว่งตัวลงและมีโอกาสปรับตัวลงมาต่ำกว่าระดับ 1,500 จุดที่ระดับ P/E 15 เท่า แม้ว่าผลประกอบการ โดยรวมของอุตสาหกรรมต่างๆ คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดปี 2018-2019 ที่ P/E ระดับ 16-18 เท่า อย่างไรก็ตามปัจจุบัน P/E ของ SET Index อยู่ที่ 16.2 เท่า ค่อนข้างต่ำหากเทียบกับช่วงปี 2020-2021 ที่มีการระบาดของโควิด P/E อยู่ที่ 20-38 เท่าจากผลประกอบการกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่ลดลงอย่างมากซึ่งอัตราดอกเบี้ย ณ ขณะนั้นอยู่ในระดับที่ต่ำ

การลงทุนในระยะนี้ ปัจจัยสำคัญที่ควรพิจารณาคือ ผลกระทบจากสภาวะเงินเฟ้อ ส่งผ่านไปยังต้นทุนราคาสินค้าส่งผลต่อกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นอาจส่งผลให้ต้นทุนกู้ยืมเงินของภาคธุรกิจสูงขึ้น กลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้ ในระยะสั้นควรเน้นการถือเงินสดและระยะยาวเน้นลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่มีปัจจัยสนับสนุนที่ดี เช่น การคาดหวังการฟื้นตัวของผลประกอบการ ได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้นหรือได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อน้อย ขณะที่ปัจจัยภายนอก เช่น การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันและการสิ้นสุดของสงคราม Russia-Ukraine ยังคงต้องติดตามกันต่อไป