เบื้องหลังความผันผวนของผลกำไรของสถาบันการเงินและสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในโลกยุคหลังโควิด

เบื้องหลังความผันผวนของผลกำไรของสถาบันการเงินและสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในโลกยุคหลังโควิด

งบกำไรขาดทุนของสถาบันการเงินผันผวนอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากการตั้งสำรองเพื่อรองรับการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้และตราสารทางการเงินบางประเภท อย่างไรก็ตาม การตั้งสำรองดังกล่าวจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปหรือไม่ เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาอีกครั้งหลังโควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่น

การกันสำรอง
กิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน (TFRS 9) ซึ่งกำหนดแนวทางการรายงานทางการเงินตลอดจนการตั้งสำรองเพื่อรองรับการผิดนัดชำระหนี้ของคู่ค้า ซึ่งส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อสถาบันการเงินต่างๆ ที่มีการปล่อยสินเชื่อ สถาบันการเงินจะสำรองเงินส่วนหนึ่งเพื่อรองรับการผิดนัดชำระหนี้เมื่อปล่อยสินเชื่อ

โดยคำนวณจากสถิติในอดีตและการพยากรณ์อนาคตผ่านตัวแปรทางเศรษฐศาสตร์ต่างๆ ผ่านการสร้างแบบจำลองด้วยกระบวนการทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อน เพื่อให้สามารถประเมินความเสียหายจากการปล่อยสินเชื่อได้ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด โดยเรียกว่า ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ซึ่งจะนำไปเปิดเผยในงบการเงิน

จำนวนวันที่เลยกำหนดชำระเป็นปัจจัยที่สะท้อนโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ที่สูงขึ้น นำมาซึ่งการสำรองเงินมากขึ้นเมื่อมีสัญญาณผิดนัดชำระ ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาตรการพักชำระหนี้เพื่อบรรเทาปัญหาทางด้านการเงินทำให้จำนวนลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้น้อยกว่าความเป็นจริง เงินสำรองที่คำนวณได้จากแบบจำลองจึงต่ำกว่าความเป็นจริงเช่นกัน

เงินที่ได้รับจากการขายหลักประกันหลังผู้กู้ผิดนัดยังมีจำนวนลดลงในช่วงการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากมีการระงับการยึดหลักประกันเพื่อช่วยลดจำนวนผู้ได้รับผลกระทบ ราคาตลาดของหลักประกันบางประเภทยังมีความผันผวนซึ่งทำให้สถาบันการเงินชะลอการจำหน่ายหลักประกันเหล่านั้น

แบบจำลองซึ่งพัฒนาขึ้นก่อนการระบาดของโควิด-19 จึงไม่สามารถสะท้อนความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันในภาวะวิกฤติ เงินสำรองที่คำนวณได้จากแบบจำลองจึงน้อยกว่าค่าที่ควรจะเป็นอย่างมาก แบบจำลองที่ใช้ตัวแปรเศรษฐกิจมหภาคในการคาดการณ์ เช่น การเติบโตของจีดีพี อัตราการว่างงาน หรือราคาพลังงาน ที่เคยมีความสัมพันธ์กับอัตราการผิดนัดชำระหนี้ในภาวะปกติ

จึงมีความผันผวนตามการเคลื่อนไหวของปัจจัยเหล่านั้น เกือบทุกประเทศมีอัตราการเติบโตของจีดีพีติดลบ การว่างงานพุ่งขึ้น และราคาขายปลีกน้ำมันดิ่งเหวจากก่อนวิกฤติ 

ในห้วงที่โลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด สถาบันการเงินต่างเร่งเพิ่มการกันสำรองสำหรับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ผู้บริหารต่างคำนวณเงินสำรองส่วนเพิ่มหรือที่เรียกว่า Overlay

โดยใช้สมมุติฐานจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เลวร้าย เพื่อเพิ่มการกันสำรองให้กับสถาบันการเงินของตนเอง จำนวนเงินสำรองเหล่านี้อยู่ในระดับสูงมาก และกระทบต่องบกำไรขาดทุนของสถาบันการเงินในช่วงที่ผ่านมา

หลังจากผ่านไปสองปีเศษ เมื่อธุรกิจเริ่มขับเคลื่อนไปข้างหน้าอีกครั้ง การผ่อนคลายการกันเงินสำรองของสถาบันการเงินเป็นสิ่งที่ควรทำทันทีหรือไม่

คงเป็นการยากที่เราจะเห็นการลดปริมาณเงินสำรองทันที เนื่องจากสถาบันการเงินยังมีความระมัดระวังผลกระทบที่เนื่องมาจากการระบาดของโควิดและปัจจัยใหม่ๆ เช่นความตึงเครียดระหว่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและเร่งให้เกิดเงินเฟ้อรุนแรงทั่วโลก สถาบันการเงินมีความลังเลในการผ่อนคลายการกันเงินสำรองจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น

รัฐบาลต่างๆ ที่ดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณติดต่อกันอาจไม่สามารถอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจได้อีกต่อไป ผู้กู้ทุกภาคส่วนยังเผชิญกับปัญหาการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยและเงินเฟ้อ

ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระคืนสินเชื่อ สถาบันการเงินบางแห่งเริ่มเห็นผลกระทบจากการเบิกถอนวงเงินคงเหลือของลูกค้า และการชำระหนี้คืนที่น้อยลง ซึ่งล้วนบ่งชี้การผิดนัดชำระหนี้ที่อาจเพิ่มสูงขึ้น โอกาสที่เราจะเห็นสถาบันการเงินลดการกันสำรองลงในทันทีนั้นจึงมีน้อยลง

ยังมีความเสี่ยงจากแบบจำลองการคำนวณเงินสำรองซึ่งสถาบันการเงินหลายแห่งยังใช้ตัวแปรเศรษฐกิจมหภาคเดียวกับช่วงก่อนการระบาด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่แบบจำลองคำนวณค่าไม่สอดคล้องกับความจริง

โดยเฉพาะการใช้ตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับเงินเฟ้อเช่นดัชนีราคาผู้บริโภคหรือราคาน้ำมัน ซึ่งยังมีความผันผวนสูง อันจะทำให้จำนวนเงินสำรองที่คำนวณได้คลาดเคลื่อน ดังนั้นเมื่อสถานการณ์เริ่มกลับสู่ภาวะปกติ จะมีการปรับแบบจำลองดังกล่าวและพิจารณาลดการกันเงินสำรองส่วนเพิ่มต่อไป

แบบจำลองดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อให้สถาบันการเงินกำหนดปริมาณเงินสำรองที่เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจอย่างปลอดภัย และช่วยให้ผู้อ่านงบการเงินได้รับทราบสถานการณ์ที่แท้จริง ความแม่นยำของแบบจำลองเหล่านี้จึงสร้างประโยชน์ให้ทุกฝ่าย อย่างไรก็ตาม การกันเงินสำรองและระดับผลกำไรของสถาบันการเงินนั้นคงจะเผชิญแรงกดดันต่อไปอีกระยะหนึ่ง