กลเกมศึกเลือกตั้ง “ประยุทธ์" VS "ทักษิณ” การเมืองไทยใต้เงาโศก

กลเกมศึกเลือกตั้ง “ประยุทธ์" VS "ทักษิณ” การเมืองไทยใต้เงาโศก

จากกติกาใหม่ที่แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 บัตรใบเดียวมาเป็นบัตร 2 ใบ ถือว่าเข้าทางพรรคเพื่อไทยที่หวังเอาชนะเลือกตั้งแบบ “แลนด์สไลด์” หรือ ถล่มทลาย หวานคอแร้งเห็นๆอยู่แล้ว ที่ไหนได้เจอพลิกเกมสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อหาร 500 เข้าไป “หงายเงิบ” จนตั้งตัวไม่ทัน

“ฝากข้อเตือนใจ...พรรคการเมืองบางพรรคในฝ่ายประชาธิปไตย อย่าคิดถึงแค่ประโยชน์เฉพาะหน้าเพื่อการเลือกตั้งที่เป็นชัยชนะของตน จนลืมประโยชน์ที่ฝ่ายประชาธิปไตยพึงจะได้รับ ....ฝากให้คิดให้ได้จริงๆ!”

ไม่แปลกที่ “เดอะอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร จะฮึ่มใส่พวกเดียวกัน อย่าง พรรคก้าวไกล โดยโพสต์ทวิตเตอร์ หลัง รัฐสภา มีมติเสียงข้างมากให้ใช้สูตรหาร 500 หาจำนวน ส.ส.รับบัญชีรายชื่อ ของแต่ละพรรคการเมือง
 

“อาชญากรรมทางการเมืองที่รัฐบาลประยุทธ์และพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลร่วมกันก่อขึ้น มีพรรคฝ่ายค้านบางพรรคร่วม “ปู้ยี่ ปู้ยำ” ประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตน ...โดยไม่คิดคำนึงถึงหลักการประชาธิปไตย คือ เครื่องยืนยันว่า การเมืองคือเรื่องประโยชน์เฉพาะตนเหนือสิ่งอื่นใด จริงมั้ย!! ...ก.ก.”

ขณะเดียวกัน รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ก็ไม่ปล่อยให้พาดพิงอย่างลอยนวล โดยเข้าไปคอมเมนต์ว่า

“ด้วยความเคารพนะครับพี่อ้วน ผมที่เพิ่งเป็นเพียง ส.ส. สมัยแรกขอแนะนำว่า พี่อ้วน ผู้อาวุโส ควรเลิกทวิตแซะพรรคก้าวไกลได้แล้ว ถ้ามีข้อมูลอะไรที่พี่อ้วนเชื่อว่าพวกเราทำในสิ่งที่เป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย ก็นำเสนอให้ประชาชนทราบ และช่วยด่า กก ตรงๆ จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากกว่าครับ”

นั่นแสดงให้เห็นว่า พรรคเพื่อไทยผิดหวังอย่างมากกับมติที่ออกมา

เพราะนอกจากจะดับฝัน “แลนด์สไลด์” ยังพบว่า พรรคก้าวไกลลงมติให้สูตรหาร 500 ถึง 47 เสียง ขณะที่พรรคเพื่อไทย ยืนยันมติใช้สูตรหาร 100 ยกเว้น “7งูเห่า” ที่มีท่าทีย้ายไปอยู่พรรคภูมิใจไทย และควบคุมไม่ได้แล้ว

ส่วนที่มาของการพลิกเกมโหวตหนุนสูตรหาร 500 หา ส.ส.บัญชีรายชื่อ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ สมาชิกพรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์เฟซบุ๊กตอนหนึ่ง ว่า

“...ที่ผ่านมาเสียงข้างมาก(ซึ่งคือฝ่ายรัฐบาลนั่นแหละ) มีความเห็นมาตลอดว่า ต้องหารด้วย 100 ไม่อย่างนั้นจะขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่ในวันสุดท้าย เสียงข้างมาก(ก็เสียงรัฐบาลอีกนั่นแหละ) กลับมติของตัวเอง ให้หารด้วย 500

เรื่องนี้ ป่วยการที่จะเถียงกันว่า ชอบหรือไม่ชอบอย่างไร ต้องไปอ่านรัฐธรรมนูญ(ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1) มาตรา 83,86 และ 91 หากยังไม่เข้าใจก็ไปอ่าน “เหตุผล” ท้ายการแก้ไข เพราะกม.ทุกฉบับ รวมทั้งรัฐธรรมนูญ จะระบุเหตุผลในการแก้ไขไว้ตอนท้ายของกฎหมายทั้งสิ้น...”

ขณะที่ “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊ก เอาไว้เช่นกันว่า  

“การที่รัฐสภามีมติ ให้คิดส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อหารด้วย๕๐๐ ไม่ใช่เกิดผลแค่ ให้พรรคที่เป็นตัวแทนประชาชนเสียงข้างน้อย มีที่ยืนในสภาเท่านั้น แต่จะมีผลทางจิตวิทยาอย่างใหญ่หลวง และมีผลกระทบทางการเมืองมาก

อย่างน้อยในระบบนี้ จะไม่เกิดเผด็จการรัฐสภา มีโอกาสทำให้พรรคเพื่อไทยไม่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ การที่รู้ว่าตนเองไม่ได้เป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ อะไรจะเกิดตามมา พรรคแตก??? แม้จะพยายามแตกพรรค ยิ่งในระบบบัตรสองใบ ไม่ใช่จะปั่นกระแสได้ง่าย สรุปแล้ว คำว่าแลนด์สไลด์จะจบทันที...”

สำหรับสัญญาณพลิกเกมในครั้งนี้ นัยว่า พรรคการเมืองในฝ่ายรัฐบาลได้หารือกับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาก่อนตั้งแต่วันที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) 5 กรกฎาคมแล้ว ว่าเห็นควรหนุนสูตรไหน  

ถามว่า สูตรหารด้วย 500 จะมีปัญหาหรือไม่ พรรคการเมืองใครได้-ใครเสียอย่างไร THE STANDARD NOW ดำเนินรายการโดย อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์ เผยแพร่ทาง Facebook และ YouTube ของ THE STANDARD สัมภาษณ์ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (5 ก.ค.) เอาไว้อย่างน่าสนใจ

 “...ผมเห็นว่า มันขึ้นอยู่กับรัฐสภาจะตีความ ที่เขียนด้วยถ้อยคำแบบนี้มันค่อนข้างจะเปิดโอกาสให้ตีความได้ 2 แบบ วรรค 2 ของมาตราก็บอกวิธีการคำนวณให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

ส่วนเลือกแล้วเป็น 500 จะขัดรัฐธรรมนูญไหม จะมีใครส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือเปล่า ก็อีกเรื่องหนึ่ง...

ฉะนั้นประเด็นคงมีแค่ว่า 500 จะไปได้หรือเปล่า ความเห็นผม 500 ก็ไปได้ ถ้าหากเป็นระบบเยอรมนี มันคือการเอาคะแนนทั้งประเทศ อย่างมีการใช้สิทธิเลือกตั้งเท่ากับเมื่อปี 2562 คือคนไปเลือกตั้ง 35 ล้านคน 74-75% เอา 500 หาร ตัวเลขที่จะได้ ส.ส. 1 คน ก็แค่ 71,000 กว่าๆ

ก็แปลว่า พรรคเล็กถ้าได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์(บัญชีรายชื่อ) ถึง 71,000 ขึ้นไป ได้ ส.ส. 1 คนแล้ว แต่ถ้าหากเป็นระบบปี 2540 คิดแค่บัญชีรายชื่อเท่านั้น เอา 100 หาร 35 ล้าน คือต้องได้ 350,000 จึงจะได้ ส.ส. 1 คน เห็นชัดทำไมพรรคขนาดเล็กจึงให้หาร 500 เพราะมันต่างกันมาก...”

นอกจากนี้อาจารย์ปริญญา ยังวิเราะห์ให้เห็นถึงการกลับลำของพรรคพลังประชารัฐด้วยว่า

“ตอนนั้นพลังประชารัฐมีผู้กองธรรมนัส(ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตเลขาธิการพรรค) เขาเชื่อว่า ระบบการเลือกตั้งแบบนี้เขาจะชนะการเลือกตั้ง เขาเชื่อว่าจะสามารถได้พื้นที่ด้วยการทำงานของผู้กองธรรมนัสที่ได้ส.ส.เขต ได้บ้านใหญ่ทั่วประเทศ แล้วปาร์ตี้ลิสต์ก็เพิ่ม เขาเชื่อว่าเขาจะชนะพรรคเพื่อไทยได้ นั่นคือช่วงสูงสุดของพรรคพลังประชารัฐ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว คนทำงานเขต ผู้กองธรรมนัสก็ไม่อยู่แล้ว เหลือคุณสุชาติ ชมกลิ่น ก็ยังมีปัญหาฮึ่มๆ กันกับบ้านใหญ่เดิมของเมืองชลบุรี ถ้าไม่มีกลุ่มสามมิตรแล้วจะมีใครบ้างที่อยู่ในพลังประชารัฐ

แล้วในส่วนของปาร์ตี้ลิสต์ เป็นคะแนนนิยมล้วนๆ ของพรรค ถามว่าพลังประชารัฐคะแนนนิยมยังดีอยู่ไหม ผมไม่แน่ใจ เอาง่ายๆ คือ เขาเลือกหาร 100 เพราะเขาคิดว่าคะแนนนิยมดี พื้นที่ดี แล้วชนะได้ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ เรื่องพื้นที่ก็มีปัญหา

การกลับมาหาร 500 คงมาลุ้นคะแนนนิยมพล.อ.ประยุทธ์ น่าจะพอมีอยู่ น่าจะช่วยให้ได้ส.ส.ขึ้นมา อย่างน้อยก็สกัดพรรคเพื่อไทยไม่ให้โตเกินไป ผมเข้าใจว่าเป็นแบบนั้น...”

สรุปแล้ว สาระสำคัญของสูตรหารด้วย 500 ก็คือ จะทำให้พรรคเล็กมีส.ส.เข้าสภาได้มากขึ้น โดยไม่ถูกผูกขาดส.ส.แต่พรรคการเมืองใหญ่ไม่กี่พรรค ซึ่งถือว่า ตรงตามความต้องการของประชาชนที่เลือกตั้งตัวแทนจากทุกพรรคเข้ามาเป็นตัวแทนของตัวเอง โดยคะแนนตกหล่นน้อยที่สุด ก็ว่าได้

ส่วนพรรคที่ช็อกกับเรื่องนี้อย่างมากก็เห็นจะเป็น พรรคเพื่อไทย เพราะหมายมั่นปั้นมือจากสูตรปาร์ตี้ลิสต์หาร 100 มาตั้งแต่ผ่านวาระแรก แต่กลับมาพลิกเป็นสูตรหาร 500 ในครั้งนี้ ซึ่งอาจได้ส.ส.บัญชีรายชื่อน้อยมาก หรืออาจไม่ได้เลย เหมือนเลือกตั้งปี 2562

จนทำให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกมาประกาศทันทีว่า อาจมีการแตกแบงก์พัน ด้วยการแยกร่างตั้ง “พรรคครอบครัวเพื่อไทย” เพื่อต่อสู้กับสูตรหาร 500

แต่ก็ถูก นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ขู่เช่นกันว่า

“ขอเตือน! พรรคการเมืองบางพรรค ผิดหวังสูตรหาร 500 คิดจะแตกแบงก์พัน ระวังจะถูกยุบพรรครอบ 2 ช่างสุ่มเสี่ยงเหลือเกิ๊น!!!”

ส่วนพรรคที่น่าจะได้ประโยชน์สูงสุด ก็คือ พรรคก้าวไกล เพราะเป็นพรรคที่จะได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ ปาร์ตี้ลิสต์สะท้อนตามคะแนนนิยมของพรรค ช่วยเติมเต็มส.ส.เขต หากว่าได้รับเลือกตั้งเข้ามาบางส่วนเหมือนปี2562

รวมถึงพรรคการเมืองอื่นที่เป็นพรรคขนาดกลาง และอยู่ในฝ่ายรัฐบาล ก็ไม่ได้เสียเปรียบแต่อย่างใด ไม่เช่นนั้นสูตร 500 คงไม่ผ่าน

เหนืออื่นใด ประเด็นที่น่าวิเคราะห์ก็คือ การเมืองไทยกำลัง “ติดหล่ม” อยู่กับ “ทางเลือก” ที่ “ไม่มีทางเลือก” สองกระแสหลัก นั่นคือ ความกลัว “เผด็จการรัฐสภา” ของ “ระบอบทักษิณ” กับ ความกลัว “สืบทอดอำนาจ” ของ “ระบอบประยุทธ์”   

เห็นได้ชัดว่า สิ่งที่ “เดอะอ้วน” ภูมิธรรม ฮึ่มใส่ พรรคก้าวไกล ก็เพราะมองว่า เห็นแก่ผลประโยชน์ของพรรค มากว่าฝ่ายประชาธิปไตย นั่นคือ สกัดกั้น การสืบทอดอำนาจของ “ระบอบประยุทธ์”

ขณะ “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ก็พูดเอาไว้ชัดเจนว่า การทำให้พรรคเพื่อไทยไม่ชนะเลือกตั้งแบบ “แลนด์สไลด์” หรือ ถล่มทลาย จะช่วยสกัดกั้น “ระบอบทักษิณ” ไม่ให้เกิด “เผด็จการรัฐสภา”

ประเด็นที่น่าสนใจต่อมา ก็คือ “ระบอบประยุทธ์” ไม่น่าไว้วางใจอย่างไร หรือ ไม่ดีตรงไหน  

สิ่งที่ต้องย้อนก็คือ ฝ่ายต่อต้านพล.อ.ประยุทธ์ เห็นว่า แม้การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พล.อ.ประยุทธ์ และพวกจะเข้ามามีอำนาจในรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ตาม

แต่ความเป็นมาก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. อ้างการรักษาความสงบ ยึดอำนาจรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ขึ้นมาใหม่ ก่อนที่จะมีเลือกตั้ง และเข้ามามีอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่ตัวเองจัดทำขึ้น นั่นเอง

และที่สำคัญ การอยู่ในอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ถือว่ายาวนานถึง 8 ปี แต่ “คำมั่นสัญญา” ที่ให้ไว้ตั้งแต่ช่วงแรกของการทำรัฐประหาร ก็ไม่เป็นจริง โดยเฉพาะการจะคืน “ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” และ “ปฏิรูปประเทศ”

ทั้งยังส่อให้เห็นอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์และพวก ต้องการอยู่ในอำนาจต่อไป โดยอาศัย “นั่งร้าน” นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อ “สืบทอดอำนาจ”

เพราะฉะนั้น สิ่งที่เริ่มเห็นได้ชัด ก็คือ การรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. ก็ไม่ต่างจากการรัฐประหารที่ผ่านมา แต่อย่างใด

ยิ่งกว่านั้นในท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตการเมือง วิกฤตโรคระบาด วิกฤตความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล ทำให้กระแสความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ลดลงอย่างมาก จนตกเป็นรอง “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวคนสุดท้องของ ทักษิณ ชินวัตร ที่เพิ่งก้าวเข้าสู่การเมืองได้ไม่นานหลายเท่า(ผลสำรวจของนิด้าโพล) อันสะท้อนให้เห็นว่า คนไทยจำนวนมากไม่เอา “ระบอบประยุทธ์” อีกแล้ว?

ขณะเดียวกัน ผี “ระบอบทักษิณ” ที่ตามมาหลอกมาหลอนทุกครั้ง ที่ “ทักษิณ” ขยับขับเคลื่อนเกมการเมือง ก็เช่นกัน

โดยเฉพาะการส่ง “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร เข้ามานั่นเป็นประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม และหัวหน้าครอบครัวพรรคเพื่อไทย ซึ่งคาดหมายกันว่า จะเป็น แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยด้วย

ความจริง “ระบอบทักษิณ” ก็มีทั้งดีและร้าย แต่ที่คนจดจำได้มากที่สุด โดยเฉพาะชนชั้นกลางที่เคยเดินขบวนขับไล่ ก็คือ การทุจริตเชิงนโยบายนั่นเอง

เพื่อให้เห็นชัด ขอหยิบยกเอาคดีทั้งหลายของ “ทักษิณ” ที่ “กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมไว้เมื่อเดือนมกราคม 2565 ดังนี้  

พิพากษาจำคุก 6 คดี รวมโทษ 12 ปี

1.คดีทุจริตจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก กล่าวหาคุณหญิงพจมาน ชินวัตร (ภริยานายทักษิณ และนามสกุลขณะนั้น) และนายทักษิณ ในการซื้อที่ดินจำนวน 33 ไร่ 78 ตรว. ราคา 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2551

โดยก่อนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะพิพากษาคดี นายทักษิณ ได้เดินทางออกนอกประเทศ โดยอ้างว่า ไปดูการแข่งขันโอลิมปิกที่ประเทศจีน และหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษา ทำให้ศาลฎีกาฯอ่านคำพิพากษาลับหลัง จำคุกทักษิณ 2 ปี และยกฟ้องคุณหญิงพจมาน

ปัจจุบันคดีดังกล่าวหมดอายุความแล้ว

2.คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือที่เรียกกันว่า คดีหวยบนดิน โดยศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุกนายทักษิณ 2 ปี ไม่รอลงอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

3.คดีสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อ 4,000 ล้านบาทแก่รัฐบาลสหภาพพม่า ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม)

4.คดีให้บุคคลอื่น(นอมินี) ถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แทน โดยบริษัท ชินคอร์ปฯ เป็นคู่สัญญาหน่วยงานของรัฐ และเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นในกิจการโทรคมนาคม โดยศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา แบ่งเป็น ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ จำคุก 2 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น จำคุก 3 ปี

ยกฟ้อง 2 คดี

5.คดีกล่าวหาว่า อนุมัติให้กระทรวงการคลังเข้าไปบริหารจัดการแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPI

คดีดังกล่าว ศาลฎีกาฯได้ยกฟ้อง ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เป็นโจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา พิพากษายืนยกฟ้องตามเดิม

6.คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้สินเชื่อเครือกฤษดามหานคร กว่าหมื่นล้านบาทโดยทุจริต ศาลฎีกาฯ พิพากษายกฟ้องนายทักษิณ จำเลยที่ 1 โดยเห็นว่า คำว่า ‘ซุปเปอร์บอส’ หรือ ‘บิ๊กบอส’ ที่ถูกอ้างว่าเป็นผู้สั่งการ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าคือนายทักษิณ

2 คดีอยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช.

7.คดีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ลอตสอง จำนวน 8 สัญญา ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการแจ้งผู้ถูกกล่าวหาเพิ่มเติม รวมถึงชื่อของนายทักษิณ ชินวัตร ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี น้องสาวนายทักษิณ และเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย แกนนำกลุ่ม “วังน้ำยม” และน้องสาวของนายทักษิณด้วย

กรณีนี้องค์คณะไต่สวนชุดใหญ่ (มีกรรมการ ป.ป.ช. 9 รายเป็นองค์คณะ) แจ้งข้อกล่าวหากับ “ผู้ถูกกล่าวหาสำคัญ” ในคดีทั้งหมดไปแล้ว และรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จแล้ว คาดว่าในช่วงต้นปี 2565 จะมีบทสรุปออกมา

8.คดีกล่าวหาการอนุมัติสั่งซื้อเครื่องบินแบบ A340-500 และ A340-600 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี 2545-2547 ทำให้การบินไทยมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น

โดยปรากฏชื่อของทักษิณ อดีตนายกฯ สุริยะ อดีต รมว.คมนาคม และพิเชษฐ สถิรชวาล อดีต รมช.คมนาคม 3 นักการเมืองชื่อดังเป็นผู้ถูกกล่าวหาร่วมกับ ทนง พิทยะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และกนก อภิรดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันมีการตั้งองค์คณะไต่สวนชุดใหญ่เพื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในคดีแล้ว

อย่างไรก็ดีทั้ง 2 คดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการไต่สวนในชั้น ป.ป.ช. ดังนั้นผู้ถูกกล่าวหายังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

นี่คือ สิ่งที่ตามหลอกหลอนคนไทยอยู่ในเวลานี้ ท่ามกลางกระแสนิยม “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร พุ่งสูงติดอันดับ 1 ทิ้งห่าง พล.อ.ประยุทธ์ อันดับ 4 ไม่เป็นฝุ่น

อย่างนี้ เกมต่อสู้ในรัฐสภา แม้น่าสนใจ ก็คงไม่เท่ากับสิ่งที่ประชาชนคนไทย มีทางเลือกก็เหมือนไม่มีอยู่ในเวลานี้ น่าเศร้าใจจริง