โจรปล้นสิบครั้ง ไม่เท่าไฟไหม้ครั้งเดียว

โจรปล้นสิบครั้ง ไม่เท่าไฟไหม้ครั้งเดียว

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ช่วงนี้หลายท่านคงได้อ่านข่าวเกี่ยวกับไฟไหม้หลายๆข่าวที่เกิดขึ้นนะช่วงนี้กันใช้ไหมครับ เป็นจริงอย่างที่มีคนกล่าวกันไว้ “โจรปล้นสิบครั้ง ไม่เท่าไฟไหม้ครั้งเดียว” ไม่ได้เป็นการพูดเกินจริงเลย เพราะต่อให้โจรปล้นอย่างไรก็คงจะเอาบ้านเราไปไม่ได้ แต่หากเป็นเหตุการณ์ไฟไหม้ แม้แต่บ้านก็คงจะไม่เหลือ ให้อาศัยหลับนอน

เหตุการณ์ไฟไหม้ต่างๆที่เกิดขึ้นต่างเป็นเรื่องที่ช่วยเตือนเราถึงความอันตรายและผลที่ตามมาของเหตุการณ์ไฟไหม้ได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามถึงแม้ตัวเราจะระมัดระวังป้องกันอย่างไร เหตุการณ์ไม่คาดฝัน ก็อาจจะเกิดขึ้นได้จากปัจจัยภายนอกที่เรายากจะควบคุม ดังเช่นเหตุการณ์ไฟไหม้ที่บ่อนไก่นั้น ก็เกิดจากการที่หม้อแปลงไฟฟ้าลัดวงจรจนเกิดไฟลามมาถึงตัวบ้าน

และถึงแม้เราจะป้องกันอย่างไร หากบ้านเราตั้งอยู่ในย่านชุมชนที่ปลูกบ้านกันหนาแน่น ความเสี่ยงที่บ้านเราจะได้รับผลกระทบจากการที่ไฟลามก็ยังคงมีอยู่

วันนี้ผมมีผู้เชี่ยวชาญในด้านการวางแผนการเงินของบริษัท Wealth Creation International Investment Advisory Security Co., Ltd. คุณปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล CFP® จะมาเล่า เกี่ยวกับการบริหาร ความเสี่ยงเกี่ยวกับอัคคีภัยให้ได้อ่านกันครับ

ก่อนหน้านี้เราอาจจะไม่เคยคิดว่าบ้านของเราจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไฟไหม้ แต่ตอนนี้อาจจะต้องมาเริ่มคิดแล้วว่า หากเกิดไฟไหม้ขึ้นมา เราจะเอาตัวรอดอย่างไร และ หากบ้านไม่สามารถอยู่อาศัยได้จะทำอย่างไร และ จะต้องใช้เงินจากไหนมาซ่อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราอยู่ในย่านชุมชนที่อาศัยกันหนาแน่น และเต็มไปด้วยบ้านที่ก่อสร้างมานานแล้ว คล้ายกับสำเพ็ง หรือชุมชนบ่อนไก่

หลายท่านอาจจะคิดว่าบ้านเรานั้นมีการป้องกันดูแลอย่างดี และหากเกิดเพลิงไหม้ขึ้นก็คงมาจากบ้านข้างเคียง ซึ่งก็สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากบ้านข้างเคียงได้ จริงที่อยู่ที่ว่าหากบ้านเราไม่ใช่ต้นเพลิง เราก็สามารถที่จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบ้านต้นเพลิงได้ 

แต่ในความเป็นจริงนั้นก็คงต้องใช้เวลาสู้กันในศาล อยู่ไม่น้อย มีหลายคดีมาก ที่ต้องสู้กันไปถึงศาลฎีกา เพราะในทางกฎหมายนั้น ยังมีช่องให้เจ้าของบ้านต้นเพลิงได้ สู้อยู่ โดยหากผู้ถูกฟ้องสามารถพิสูจน์ได้ว่า สาเหตุที่เกิดเพลิงไหม้นั้นแม้จะมาจากบ้านของตัวเอง แต่หากเกิดด้วยเหตุสุดวิสัย หาใช่ความประมาทเลินเล่อไม่ ศาลก็จะตัดสินให้ ผู้ถูกฟ้องไม่มีความผิด

 

แต่หากจำเลย ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า เหตุของไฟไหม้ เกิดจากเหตุสุดวิสัย จำเลยก็จะมีความผิดทางแพ่ง และ ต้องชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อผู้เสียหาย เรื่องก็เหมือนจะจบหลังจากสู้กันมาเป็นเวลานาน ผ่านมาหลายศาล

แต่เมื่อมาถึงขั้นตอนการจ่ายเงินรับผิดนั้น ผู้เสียหายก็อาจจะไม่ได้เงินตามที่ควรจะได้ก็ได้ เพราะลองคิดดูว่า จำเลยนอกจากจะมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบ้านแล้วนั้น ยังจะต้องมาใช้หนี้ให้กับผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก อีกด้วย

มาถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านอาจจะคิดว่า ถ้าบ้านต้นเพลิง มีการทำประกันอัคคีภัยไว้ เราก็ควรจะสามารถไปเรียกร้องจากประกันของบ้านต้นเพลิงได้สิ แต่ แต่ แต่ ประกันอัคคีภัย ไม่ได้เหมือนประกันรถที่หากเกิดอุบัติเหตุ ประกันจะมีการจ่ายค่าเสียหายให้กับคู่กรณีด้วย

ในส่วนของความคุ้มครองที่จะจ่ายให้บ้านข้างเคียงนั้นจะเป็นหมวดความคุ้มครองที่เพิ่มขึ้นมาจาก ตัวประกันหลักเรียกว่า “ความรับผิดต่อบุคคลภายนอก” ซึ่งหากบ้านต้นเพลิงไม่ได้ซื้อประกันในส่วนของหมวดนี้เอาไว้ ประกันก็จะไม่จ่ายเงินในส่วนนี้ให้กับบ้านข้างเคียงที่ได้รับผลกระทบครับ

หากจะให้สรุปอย่างสั้นๆก็คือ หากเกิดไฟไหม้ โดยที่ถึงแม้หากไฟนั้นลามมาจากบ้านข้างเคียง และศาลจะตัดสินแล้วว่าเราเป็นฝ่ายถูกก็ตาม แต่ก็อาจจะได้เงินค่าความเสียหายมาไม่พอที่จะซ่อมแซมบ้านได้นั่นเอง

ทางออกของเรื่องนี้ก็คงหนีไม่พ้นการแก้ปัญหาด้วยตัวเราเองก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้นแล้วแก้ไม่ได้ ด้วยการวางแผนโอนย้ายความเสี่ยง ไปที่บริษัทรประกันภัย ด้วยการทำประกันอัคคีภัย เพราะต่อให้ไฟไหม้ ไม่ว่าต้นเพลิงจะมาจากบ้านเราเองหรือมาจากที่อื่น ประกันก็จะจ่ายค่าเสียหายให้เรา

โดยที่เบี้ยประกันอัคคีภัยนั้นราคาไม่แพงเลยครับ หากเป็นบ้านราคาประมาณ 3,000,000 บาท ค่าเบี้ยที่จะต้องจ่ายอยู่ที่ประมาณ 4,000 กว่าบาทเท่านั้น และสามารถเพิ่มความคุ้มครองในส่วนของสินทรัพย์ในบ้านเข้าไปได้อีกด้วย และหากซื้อแบบเหมา 2 ปี 3 ปี ก็จะได้ราคาเฉลี่ยต่อปีถูกกว่าซื้อเป็นปีๆ อีกด้วย

บ้านใครใครก็รัก อย่าให้ใครก็ไม่รู้มาพรากบ้านเราไปได้ หากมีการถ่ายโอนความเสี่ยงออกไปแล้ว หากเกิดเหตุก็อุ่นใจได้ว่าบ้านจะยังอยู่กับเราครับ