คลื่นลูกใหม่กำลังมา

คลื่นลูกใหม่กำลังมา

เดือนมิ.ย.ถือได้ว่าเป็นเดือนที่ความกังวลทางด้านเงินเฟ้อปกคลุมบรรยากาศการลงทุนของประเทศไทยและประเทศต่างๆทั่วโลกไปตลอดทั้งเดือน และยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังความกังวลด้านอื่นๆที่เริ่มเห็นเป็นเงาทมึนซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจกันได้ว่าป้ายหน้าก็คงหนีไม่พ้นการใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดซึ่งอาจจะนำไปสู่สภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ

เกริ่นมาพอสมควรแล้วเรามาเริ่มกันเลยครับ ประเทศไทยได้มีการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อของเดือน พ.ค. ซึ่งขยายตัวสูงถึงร้อยละ 7.1 ถือเป็นระดับสูงสุดใหม่นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 สาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานในเดือนดังกล่าวเป็นสำคัญ ทำให้นักลงทุนเริ่มกังวลกับแรงกดดันด้านต้นทุนของผู้ประกอบการที่จะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงถัดไป

รวมถึงการส่งผ่านต้นทุนนี้ไปยังผู้บริโภคที่น่าจะสูงขึ้นอย่างแน่นอน หลังจากนั้นในช่วงกลางเดือน ยุโรปและสหรัฐฯต่างรายงานตัวเลขเงินเฟ้อในระดับที่สูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหรัฐฯที่ทำจุดสูงสุดใหม่ของรอบนี้

ส่งผลให้นักลงทุนขยับคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย Fed Funds ว่าจะมีการปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นปัจจัยกดดันบรรยากาศการลงทุนตลอดเดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ World bank และ OECD ได้ออกมาปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกรอบล่าสุด

ทำให้เราเริ่มได้เห็นความกังวลของนักลงทุนเปลี่ยนผ่านจากเรื่องเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย ไปสู่ความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงถัดไปมากขึ้น รวมไปถึงเศรษฐกิจไทยที่กนง.ออกมาประเมินความเสี่ยงภาคอุปสงค์ในประเทศที่สูงขึ้น จากสาเหตุด้านค่าครองชีพที่สูงขึ้นและแรงส่งภาคการคลังที่ลดลง

ภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นที่มีสาเหตุหลักมาจากต้นทุนด้านพลังงานหรือระดับราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับที่สูงกว่า 100 ดลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาเป็นระยะเวลากว่าสามเดือน ทำให้ธนาคารกลางหลายๆประเทศอาจจะต้องปรับขึ้นอัคราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ

ผลสรุปสุดท้ายที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนสถาบันส่วนใหญ่ กังวลคือภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ หรือ Economic recession แต่ ประธาน FED หรือ ธนาคารกลางสหรัฐ ยังให้ความมั่นใจกับนักลงทุนสหรัฐฯ ว่าน่าจะเป็นเพียงแค่ ภาวะถดถอยแบบอ่อนๆ หรือ Soft Landing จึงทำให้บรรยากาศการลงทุนฟื้นตัวขึ้นบ้างในช่วงท้ายสัปดาห์

ผมมองว่า เดือนก.ค.นี้ จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านความกังวลจากเรื่องอัตราเงินเฟ้อและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาเป็นเรื่องของภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ สุดท้ายในช่วงปลายกรกฎาคม ต่อเนื่องถึงเดือนส.ค.จะเป็นช่วงที่มีการคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้นในระดับสูงสุด ดังนั้นในช่วงเวลาดังกล่าว คาดว่า ทางภาครัฐบาลจะมีการออกมาตราการทางการเงินและการคลัง ออกมาอย่างต่อเนื่อง

  จากช่วงเปลี่ยนผ่านความกังวลข้างต้น ทำให้ปัจจัยที่ต้องติดตามของเดือนนี้ คือ การประกาศตัวเลขเงินเฟ้อรอบใหม่ประจำเดือนมิ.ย.ของประเทศสหรัฐฯ และไทย ว่าจะขยายตัวทำจุดสูงสุดใหม่อีกครั้งหรือไม่ อย่างที่สอง ดู ผลจากตัวเลขเงินเฟ้อ ว่าจะส่งผลทำให้ มุมมองของผู้ดูแลฯโยบายด้านการเงินเช่น FED และ MPC จะมีมุมมองเปลี่ยนไปใช้นโยบายทางการเงิน ที่เข้มงวดขึ้นหรือไม่

ถ้าเอาตามแนวคิดของคุณ FED คงใช้ยาแรงโดยขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วและแรง ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวอย่างรวดเร็ว แต่ FED ไม่กังวลเรื่องนี้ เพราะสามารถทำ QE (Quantitative Easing แปลง่ายๆคือพิมพ์เงินเข้าไปในระบบการเงิน) เพราะประเทศต่างๆทั่วโลกยังคงมีความต้องการถือครองเงินสหรัฐอเมริกาอยู่ ดังนั้น ท้ายสุดราคาสินทรัพย์เสี่ยงก็ถูกกดดันต่อไปครับ

ในแง่มุมมองของการลงทุนนั้น ผมแนะนำประมาณร้อยละ 45 เป็นหุ้นไทย ร้อยละ 15 ที่เหลือแบ่งเท่ากันใน จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ส่วนร้อยละ 40 เป็นตราสารหนี้ แบ่งเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น ร้อยละ 30 และตราสารหนี้ระยะยาว ร้อยละ 10 เพราะเรามองว่าสะท้อนภาพเรื่องเงินเฟ้อกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้วแต่ยังไม่สะท้อนภาพเศรษฐกิจ  ส่วนอีกร้อยละ 15 เป็นสินทรัพย์ทางเลือก คือ ทอง น้ำมัน และ REITs ในสัดส่วนเท่าๆกัน