ทองคำทำร้ายอินเดีย

ทองคำทำร้ายอินเดีย

อินเดียเป็นชาติที่พิสมัยทองคำเป็นพิเศษมาเป็นเวลาช้านาน ทองคำเป็นทั้งเครื่องประดับ เครื่องมือในการสะสมทรัพย์ และในการเก็งกำไร

การที่เศรษฐกิจอินเดียประสบปัญหาในปัจจุบันนั้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการชอบทองคำเป็นพิเศษนี่แหละ

ทองคำเป็นสิ่งมีค่าที่มนุษย์เชื่อถือมาไม่ต่ำกว่า 4,000-5,000 ปี และอาจเป็นโลหะชนิดแรกที่มนุษย์ใช้ในการประดับและประกอบพิธีกรรม

มีประมาณการว่าตลอดประวัติศาสตร์มนุษยชาติมีการนำทองคำออกมาใช้ในโลกของเราทั้งหมดประมาณ 171,300 ตัน หรือ 5,500 พันล้านทรอยเอานซ์ (ทรอยเอานซ์เป็นหน่วยของทองคำโดย 1 หน่วยหนัก 31.10347 กรัม ดังนั้นทองคำ 1 บาทไทยจึงหนัก 0.4887 ทรอยเอานซ์) หรือ 8,876 คิวบิกเมตร ซึ่งถ้าเอามาปั้นเป็นลูกเต๋าก็จะได้ความยาวด้านละ 20.7 เมตร

นักธรณีวิทยาเชื่อว่าทองคำจำนวนมหาศาลของโลกฝังลึกอยู่ใกล้จุดศูนย์กลางของโลก หรือลึกลงไปประมาณ 6,300 กิโลเมตร (อยู่ห่างถ้ำลิเจียที่กาญจนบุรีมาก) มันได้จมลงไปในดินในขณะที่โลกยังมีอายุน้อยเนื่องจากทองคำมีความหนาแน่นสูง (หนัก)

ทองคำเกือบทั้งหมดที่มนุษย์ค้นพบกันนั้นล้วนเป็นทองคำที่มาจากอุกกาบาตจำนวนมากที่หล่นลงมาบนโลกในเวลาหลายล้านปีที่ผ่านมา

อินเดียเป็นประเทศที่บริโภค (ใช้) ทองคำมากที่สุดในโลก สถิติในปี 2010 ระบุว่าใช้ถึง 745.7 ตัน ในขณะที่ในปี 2009 ใช้เพียง 442.37 ตัน รองลงมาคือจีนใช้ 428 ตันในปี 2010 ไทยใช้ 6.28 ตัน รวมแล้วทั้งโลกใช้ทองคำ 2,059.6 ตัน เปรียบเทียบกับ 1,760.3 ตันในปี 2009

ในปัจจุบันอินเดียในแต่ละปีซื้อทองคำโดยเฉลี่ยประมาณ 1 ใน 4 ของทั้งโลก คือประมาณ 800 ตัน โดยนำเข้าประมาณ 400 ตัน คาดว่าครัวเรือนอินเดียทั้งประเทศถือครองทองคำประมาณ 18,000 ตัน มูลค่าประมาณ 950,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเท่ากับร้อยละ 11 ของปริมาณทองคำทั้งหมดในโลกในปัจจุบัน หรือเกือบ 3 เท่าของทองคำที่ธนาคารกลางสหรัฐถืออยู่

ความบ้าคลั่งทองคำในรูปของทองรูปพรรณมีมายาวนาน อินเดียห้ามนำเข้าทองคำนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1947 กฎหมาย The Gold Control Order 1963 และปี 1968 กำกับควบคุมความต้องการทองคำโดยห้ามนำเข้า ตลอดจนจำกัดปริมาณทองคำที่ช่างทองสามารถมีอยู่ได้ในมือ เนื่องจากภาครัฐรู้จักรสนิยมของประชาชนดีและตระหนักถึงความต้องการทองคำอย่างไม่มีที่สุดของคนอินเดีย อย่างไรก็ดีกฎหมายนี้ถูกยกเลิกไปใน ค.ศ. 1990

ประเพณีให้ทองคำเป็นของขวัญในเทศกาล Diwali งานแต่งงาน และโอกาสอื่นๆ อันเป็นมงคล ตลอดจนปรากฏการณ์เศรษฐกิจสังคมในประเทศ เช่น การลักลอบซื้อขายและขนส่ง ยาเสพติด การค้าขายเงินตราต่างประเทศในตลาดมืด คอร์รัปชัน การใช้เป็นหลักทรัพย์ การหนีภาษี การใช้เป็นสินสอด การค้าขายสินค้าใต้ดิน การเก็งกำไร การแสวงหาความมั่นคงจากเศรษฐกิจที่ผันผวน ฯลฯ ล้วนมีส่วนในการทำให้ทองคำเป็นที่นิยม

ในแต่ละปีอินเดียนำเข้าทองคำกันมากมายเฉลี่ยปีละ 400 ตัน จนสูญเสียเงินตราต่างประเทศเป็นอันมาก นอกจากการนำเข้าน้ำมันซึ่งเป็นอันดับหนึ่งแล้ว ทองคำซึ่งเป็นอันดับสองมีสัดส่วนร้อยละ 11.5 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด

เมื่อทางการอินเดียปล่อยข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่าจะมีการเก็บภาษีนำเข้าให้สูงขึ้นเพื่อสกัดการนำเข้า ตัวเลขการนำเข้าทองคำก็ถีบตัวสูงขึ้นไปอีก การเก็บสะสมเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ของครัวเรือนก็สูงขึ้นจาก 18,000 ตัน เป็น 20,000 ตัน ซึ่งยิ่งทำให้การพยายามแก้ไขปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่พุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 5.4 ของ GDP ยากยิ่งขึ้น

หากอินเดียไม่มีการเกินดุลบัญชีทุน (เงินตราต่างประเทศจากการลงทุนและกู้ยืมสูงกว่าเงินตราต่างประเทศที่ไหลออกจากการไปลงทุนต่างประเทศและใช้คืนหนี้) ก็หมายถึงการขาดดุลการชำระเงิน (เงินทุนสำรองระหว่างประเทศจะลดลง) หากสภาวการณ์ขาดดุลนี้รุนแรงและเรื้อรังก็จะนำไปสู่ปัญหาการขาดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจและเงินสกุลรูปี เนื่องจากมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศน้อยลงเรื่อยๆ ส่งผลกระทบทำให้ราคาของเงินตราต่างประเทศในรูปของเงินรูปีสูงขึ้น (ค่าเงินรูปีลดลง) ซึ่งหลีกไม่พ้นที่จะกระทบถึงค่าครองชีพของประเทศ (อินเดียนำเข้าน้ำมันอันดับหนึ่ง ดังนั้นเมื่อเงินตราต่างประเทศมีราคาแพง ราคาน้ำมันในรูปเงินรูปีก็ย่อมสูงตามไปด้วย)

การถือทองคำไว้ในมือไม่ว่าในรูปทองรูปพรรณหรือทองแท่งมิได้เพิ่มพูนความสามารถในการผลิตของสังคม อีกทั้งมิใช่การลงทุนที่เป็นประโยชน์ ทรัพยากรการเงินของทั้งประเทศไปจมอยู่ และไม่มีผลตอบแทนทางการเงินระหว่างที่ถือไว้อีกด้วย

อย่างไรก็ดีถ้าทางการอินเดียสนับสนุนให้มีการกู้ยืมโดยใช้ทองคำเป็นหลักทรัพย์ ค้ำประกัน การเป็นสังคมที่นิยมทองคำก็อาจก่อให้เกิดประโยชน์โภคผลขึ้นได้ถ้าไม่มีการนำเข้าอย่าง บ้าคลั่งอีกอย่างไม่รู้จบ

การแสวงหาและถือทองคำไว้ในมือไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมฉันใด การบ้าคลั่งปริญญาเพื่อเพิ่มวิทยฐานะก็ฉันนั้น เงินอาจซื้อทองคำและเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการได้มาซึ่งปริญญาได้ แต่เงินซื้อปัญญาไม่ได้