ความ “ตกต่ำ” ของผู้ชายกับอนาคตสังคมไทย

ความ “ตกต่ำ” ของผู้ชายกับอนาคตสังคมไทย

สังคมเชื่อกันว่าความสัมพันธ์ระหว่างเพศในสังคมไทยนั้นไม่เท่าเทียมกัน ผู้หญิงเป็นฝ่ายถูกกระทำจากสังคมโดยถูกกดขี่ให้อยู่ในสถานะต่ำกว่าผู้ชาย

การขยายตัวของการศึกษา “สตรีศึกษา” ในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมาก็ได้พยายามเติมอำนาจให้แก่ผู้หญิงมากขึ้น ด้วยการเพิ่มพรมแดนความรู้การเข้าใจปัญหาต่างๆ จาก “สายตาผู้หญิง” เพราะเชื่อว่าการอธิบายโลกและชีวิตทั้งหมดในสังคมเป็นการอธิบายจาก “สายตาผู้ชาย” พร้อมกันนั้นก็ได้พยายามที่จะเน้นการอธิบายเชื่อมโยงปัญหาอันเกิดขึ้นจากพื้นฐานของสังคมที่ชายเป็นใหญ่

ผมรู้สึกตลอดมาว่าชุดความคิดเรื่องผู้หญิงถูกกดขี่จากสังคมเพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่ชายเป็นใหญ่นั้นไม่ตรงกับความเป็นจริงทั้งหมดของสังคม ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างเพศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเงื่อนไขของความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงสาม-สี่สิบปีที่ผ่านมา

อาจารย์ธาวิต สุขพานิช (สมาชิกของจักรวาลวิทยา : จักรวาลวิทยาท่าพระจันทร์) ก็รู้สึกเช่นเดียวกับผม ท่านได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า “108 เรื่องที่หญิงไทยควรรู้ (แต่ไม่เคยรู้เพราะหลงนึกว่ารู้ๆ ดีกันอยู่แล้ว)” ซึ่งเป็นหนังสือที่ควรอ่านอย่างยิ่งหากต้องการเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเพศในสังคมไทย

แม้ว่าเราจะเห็นว่ามีแต่บทบาทของผู้ชายในประวัติศาสตร์ไทย แต่ต้องเข้าใจนะครับว่าประวัติศาสตร์ไทยที่ผ่านมาเกือบทั้งหมดเป็นประวัติศาสตร์การเมือง มีผู้ศึกษาประวัติศาสตร์สังคมน้อยมาก จึงทำให้เรามองเห็นอดีตเพียงด้านเดียวมาโดยตลอด การศึกษาความไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงชายก็มักจะอ้างความไม่เท่าเทียมกันระหว่างชาย-หญิงในอดีต ด้วยหลักฐานพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการตัดสินคดีหย่าร้าง/ชายขายเมียที่ว่า “ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน” เพียงหลักฐานเดียว โดยที่ไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างผู้หญิงในสังคมบ้านกับสังคมเมืองว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างเพศแตกต่างกันอย่างไร หากอ่านวรรณกรรมขุนช้างขุนแผนก็จะพบว่าบทบาทและสถานะของผู้หญิงในสังคมปรกตินั้นสูงกว่าที่เข้าใจกันมากทีเดียว ยกเว้นเมื่อผู้หญิงเข้าไปสัมพันธ์กับอำนาจรัฐโดยตรง (กรณีนางพิมพิลาไลยหรือวันทอง) ความสัมพันธ์ชาย-หญิงในประวัติศาสตร์สังคมไทยเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษากันอย่างจริงจังมากขึ้น

แม้ว่าเราจะยังไม่เข้าใจความสัมพันธ์ชาย-หญิงในอดีตที่ผ่านมาชัดเจนพอ แต่หากพิจารณาความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ ก็จะพบว่าแนวโน้มที่ผู้ชายไทยกำลังตกต่ำลงเกิดขึ้นอย่างชัดเจน ในขณะที่ความแตกต่างของจำนวนผู้หญิงผู้ชายในสังคมไทยมีเพียงประมาณหนึ่งเปอร์เซ็นต์กว่า แต่สถิติทางการศึกษากลับชี้ให้เห็นว่าสัดส่วนของผู้หญิงที่เข้าสู่การศึกษาอุดมศึกษาระดับปริญญาตรีนั้นสูงกว่าผู้ชายประมาณสิบเท่า (สถิติปี 2553 ผู้หญิงเรียนปริญญาตรีปีหนึ่งประมาณ 350,000 คน ผู้ชาย 240,000 กว่าคน) ซึ่งเมื่อมาถึงวันนี้ ในมหาวิทยาลัยทั่วไปก็เกือบจะเป็นมหาวิทยาลัยผู้หญิง (Women University) ไปแล้ว

จะพบว่าสัดส่วนของผู้ชาย-ผู้หญิงในการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นนั้นใกล้เคียงกัน แต่เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนนี้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเข้าสู่มัธยมปลาย นักเรียนหญิงจะมากขึ้นในมัธยมปลายซึ่งส่งผลให้การเข้าสู่มหาวิทยาลัยนั้นแตกต่างกันมากขึ้นดังกล่าวข้างต้น นักเรียนชายจำนวนมากจะเข้าไปสู่การศึกษาทางด้านอาชีวะศึกษา ดังที่จะเห็นว่านักเรียนในโรงเรียนช่าง/วิทยาลัยเทคนิคทั้งหลายนั้นเกือบทั้งหมดเป็นผู้ชาย

เมื่อพิจารณาแนวโน้มทางด้านการศึกษานี้ ก็จะประเมินได้ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ ผู้ชายจะเป็นกลุ่มแรงงานหรือคนงานปกคอเสื้อน้ำเงิน (Blue Collar Worker) ส่วนผู้หญิงก็จะทำงานในระดับ White Collar Worker ขณะเดียวกัน ตำแหน่งและการเลื่อนตำแหน่งในระบบราชการไทยก็จะถูกยึดครองโดยผู้หญิงมากขึ้น เพราะผู้หญิงมีการศึกษาสูงกว่า ปรากฏการณ์นี้เห็นได้ในปัจจุบันแล้วว่าข้าราชการในระดับกลางส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้หญิง และเริ่มเบียดขับผู้ชายได้มากขึ้นในระดับสูงขึ้น

แนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นนี้ส่งผลต่อสังคมไทยอย่างแน่นอน หากพิจารณาเบื้องต้นก็อาจจะตั้งสมมุติฐานไว้ได้ว่าความแตกต่างและเหลื่อมล้ำทางเพศนี้น่าจะสัมพันธ์กับสถิติการเป็นโสดหรือการหย่าร้างที่เพิ่มสูงมากขึ้นในช่วงหลัง ผมเคยถามนักศึกษาผู้หญิงในชั้นเรียนขนาดใหญ่ว่าหากพวกเธออายุสักสามสิบแล้วและยังหาสามีไม่ได้ ถึงตอนนั้นหากมีผู้ชายมาจีบและขอแต่งงานด้วยแต่มีการศึกษาต่ำกว่าจบเพียงระดับ ปวช. หรือ ปวส. จะแต่งด้วยไหม นักศึกษาหญิงประมาณครึ่งหนึ่งตอบว่าไม่ (เสียงแข็ง)

นอกจากนั้นแล้ว หากมองต่อไปถึงสาเหตุของสงครามช่างกลที่รบกันมาเนิ่นนาน ก็อาจจะมองได้ว่าการแสดงออกในเชิงการต่อต้านความสัมพันธ์ที่นักเรียนช่างกลผู้ชายถูกทำให้อยู่ในสถานะที่ต่ำกว่านักศึกษาระดับอุดมศึกษา เพราะพวกเขาไม่สามารถมีตำแหน่งแห่งในสังคมได้อย่างสมภาคภูมิ ความเป็นผู้ชายจึงระเบิดออกมาในทางใช้กำลังแทน

หากเราจะสามารถตอบคำถามคำถามง่ายๆ ว่าทำไมนักเรียนผู้ชายจึงตัดสินใจเลือกเรียนช่าง นอกจากเหตุผลทั่วไปที่ว่าเรียนจบเร็ว หางานได้ง่ายแล้วมีเหตุผลจากระบบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดแบบผู้ชายมากำหนดบ้างหรือไม่ และกำหนดในระดับใด ก็จะทำให้เราเข้าใจการตีความโลกของผู้ชายได้ชัดเจนมากขึ้น

หาก “สตรีศึกษา” คือการแสวงหาแนวทางในการอธิบายโลกและชีวิตจาก “สายตาผู้หญิง” การทำความเข้าใจ “ความตกต่ำ” ของผู้ชายในสังคมไทยวันนี้ในมิติจาก “สายตาผู้ชาย” ก็น่าจะทำให้เรามองเห็นสังคมไทยโดยรวมได้ชัดเจนมากขึ้นและอาจจะมองหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาความตึงเครียดทางสังคมที่ทวีมากขึ้นได้

ผมเคยเสนอให้เพื่อนๆ ในมหาวิทยาลัยให้หันกลับมาสนใจศึกษาผู้ชายและน่าจะจัดตั้ง “ศูนย์บุรุษศึกษา” ในหลายเวทีสัมมนา แต่เกือบทุกครั้ง ก็จะถูกเพื่อนๆ หัวเราะเยาะเอา จริงๆ ก็เป็นความผิดของผมด้วย เพราะมักจะเสนอเชิงทีเล่นทีจริงเสียมากกว่า แต่ความเรียงวันนี้ ซีเรียสนะครับ (ฮา) เพราะผมจะเตือนเอาไว้ว่าหากไม่เริ่มศึกษา “ผู้ชาย” กันในวันนี้ สังคมไทยจะเผชิญหน้าความตึงเครียดระหว่างเพศมากขึ้นแน่ๆ