ประกันภัยเรื่องใกล้ตัว

ประกันภัยเรื่องใกล้ตัว

เปิดบริษัทนายหน้าประกันวินาศภัยจะต้องทำอย่างไร? สวัสดีครับพบกับประกันภัยเรื่องใกล้ตัวกันนะครับ เพื่อการก้าวไปอย่างมั่นคง ก้าวไปอย่างมั่นใจ ด้วยการประกันภัย หรือ หลักประกันเพื่อความมั่นคงทางสังคม ประกันภัยเรื่องใกล้ตัว จะได้นำเรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวกับการประกันภัยมาบอกกล่าวเล่าสู่กันเพื่อความรู้ความเข้าใจที่เท่าทันทั้งการประกันชีวิตและการประกันวินาศภัย เรามาติดตามกันเลยครับ...

คำถาม  : อยากเปิดบริษัทนายหน้าประกันวินาศภัยต้องทำอย่างไรบ้าง ลูกจ้างของบริษัทที่จะทำหน้าที่ในการดำเนินการเพื่อรับประกันภัยนั้นต้องมีใบอนุญาตเป็นนายหน้าด้วยหรือไม่อย่างไร?

คำตอบ : เป็นคำถามที่มีการถามเข้ามากันมากพอสมควรนะครับ ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้ในวงการประกันภัยมีการตื่นตัวกันอย่างมากโดยเฉพาะประชาชนทั่วไปที่เริ่มมองเห็นความสำคัญของการประกันภัยกันมากขึ้น รวมไปถึงการประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย โดยเฉพาะการเป็นคนกลางประกันภัยที่เรียกว่า ตัวแทน และ นายหน้า ทั้งการประกันชีวิต และการประกันวินาศภัย ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการประกอบอาชีพที่สุจริต และมีเกียรติ สามารถช่วยเหลือสังคมได้อีกทางหนึ่ง...

ก่อนอื่นต้องขออนุญาตนำข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาอธิบายความกันก่อนนะครับว่า ตาม ปพพ.มาตรา 845 นั้นหมายถึง “บุคคลหรือ นิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาต ให้ประกอบธุรกิจบริการแก่สาธารณะ เพื่อชี้ช่องหรือจัดการให้ทำสัญญาประกันภัย ให้เป็นไปตามความต้องการของลูกค้าแต่ละราย” หรือพูดภาษาง่ายๆ ก็คือบุคคล หรือนิติบุคคลที่ไม่ใช่บริษัทประกันภัย ที่ทำหน้าที่ในการขายประกันภัยและรับเบี้ยประกันภัย แทน บริษัทประกันภัยนั่นเอง 

ดังนั้นความเป็นตัวแทนหรือความเป็นนายหน้าในความหมายจึงคล้ายกันจะมี ความแตกต่างระหว่างการเป็นตัวแทน กับ การเป็นนายหน้าประกันภัยนั้น ก็มีเพียงเล็กน้อย คือ ตัวแทนหมายถึงคนที่ได้รับใบอนุญาตให้เป็นตัวแทนของบริษัทหนึ่งบริษัทใด

โดยบุคคลนั้นจะทำหน้าที่ในการขายให้กับบริษัทนั้นๆเป็นการเฉพาะ ในขณะที่ บุคคลที่ทำหน้าที่เป็นนายหน้าประกันภัยนั้น สามารถเสนอขายและดำเนินการเพื่อรับประกันภัยแทนบริษัทประกันภัยได้หลายบริษัท โดยเฉพาะการเป็นนายหน้าประกันภัย นั้นจะมีอยู่ สองแบบคือ

1. นายหน้าบุคคล หมายถึงบุคคลทั่วไปที่มีใบอนุญาตเป็นหน้าหน้าประกัศภัย 

2. นายหน้านิติบุคคล  หมายถึง การประกอบธุรกิจเป็นบริษัทนายหน้าประกันภัย

ซึ่งจะเหมือนกันทั้งการประกันชีวิต และ การประกันวินาศภัย หากเป็นการประกันชีวิตก็จะเรียกว่า ตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิต และหากเป็นการประกันวินาศภัย ก็จะเรียกว่า ตัวแทนประกันวินาศภัย หรือ นายหน้าประกันวินาศภัย

ขั้นตอนที่หนึ่ง : การขอจดทะเบียนบริษัทจำกัดนั้นก็เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ว่าด้วยบริษัทจำกัดทั่วไป

ขั้นตอนที่สอง : การยื่นขอรับใบอนุญาตเป็นนายหน้าที่นิติบุคคลกับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและ ส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ( แบบ นว.5 ) โดยต้องมีรายละเอียดอันเป็นสาระสำคัญดังนี้

1.บริษัทนั้นต้องมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการนายหน้าประกันวินาศภัย

2.ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า สองล้านบาทโดยการชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่า

3.กรรมการ 3 ในสี่ ต้องมีสัญชาติไทย และต้องมีใบอนุญาตนายหน้าประกันวินาศภัยไม่น้อยกว่า 5 คน

4.เอกสารประกอบการขอยื่นต้องยื่นขอรับใบอนุญาตเป็นนายหน้าที่นิติบุคคลนั้นต้องครบสมบูรณ์ตามประกาศนายทะเบียน เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนใขในการออกใบอนุญาตให้นิติบุคคลเป็นนายหน้าประกันวินาศภัย

    ขั้นตอนที่สาม : ต้องเปิดดำเนินการธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยภายใน 2 เดือนหลังได้รับใบอนุญาตโดยการดำเนินการนั้นต้องปฏิบัตตามกฎหมายและข้อบังคับตลอดจนกฎระเบียบของ คปภ. ดังนี้

1. ต้องดำรงกองทุนไม่น้อยกว่า หนึ่งล้านบาทตลอดเวลาที่ได้รับใบอนุญาต

2. ต้องจัดทำสมุดทะเบียน และสมุดบัญชี และเอกสารเกี่ยวกับธุรกิจ

3. ต้องยื่นรายงานผลประกอบการธุรกิจต่อนายทะเบียนตามที่กำหนด

4. ต้องมีนายหน้าปฏิบัติงานประจำในสำนักงานนิติบุคคลนั้นไม่นอยกว่า 1 คนเพื่อให้บริการประชาชน

5. ต้องมีหนังสือมอบอำนาจจากบริษัทประกันภัยให้เป็นผู้สามารถดำเนินการเพื่อรับประกันภัยและรับค่าเบี้ยประกันภัยได้

อีกคำถามหนึ่งผู้ถามอยากจะรู้คือ พนักงานลูกจ้างของบริษัทนายหน้าประกันวินาศภัยจะต้องมีใบอนุญาตเป็นนายหน้าหรือไม่นั้น.. คำตอบจึงไม่จำเป็นครับเพราะว่าบริษัทนายหน้านั้นเป็นนิติบุคคลแล้ว การดำเนินการใดๆ ก็จะเป็นไปตามข้อบังคับของบริษัทจำกัดทั่วไป คือลูกจ้างที่ทำการในทางที่จ้างตามที่นายจ้างมอบหมายให้กระทำการก็มีผลผูกพันกับนิติบุคคลนั้นแล้ว

เพียงแต่สิ่งที่บริษัทนายหน้าจะต้องดำเนินการเพิ่มเติมในส่วนของการเสนอขายและรับเงินค่าเบี้ยประกันภัยนั้น ต้องให้ทางบริษัททำหนังสือมอบอำนาจให้กับพนักงานที่มีหน้าที่ในกการรับเงินค่าเบี้ยประกันภัย 

ตาม พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย มาตรา 66:  วรรคสองกำหนดว่า นายหน้าประกันวินาศภัยหรือพนักงานของบริษัทซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการรับเงิน อาจรับเบี้ยประกันภัยในนามของบริษัทได้เมื่อได้รับหนังสือมอบอำนาจจากบริษัทประกันภัยนั้น  ( หากฝ่าฝืนมีโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ )

และ มาตรา 66/2:  ที่กำหนดไว้ว่า นายหน้าประกันวินาศภัย หรือ พนักงานของบริษัทต้องแสดงหนังสือมอบอำนาจจากบริษัททุกครั้งที่มีการรับเบี้ยประกันภัยในนามของบริษัท นายหน้าประกันวินาศภัย หรือพนักงาน ของบริษัทภัยต้องออกเอกสารแสดงการรับเงินของบริษัททุกครั้งที่มีการรับเบี้ยประกันภัยในนามของบริษัท (ปรับไม่เกิน 30,000 บาท) และหากการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทหรือผู้เอาประกันภัย ( โทษ จำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ)

      ดูเหมือนว่ารายละเอียดและเงื่อนไขจะมากทำให้เกิดความยุ่งยากหรือไม่... ก็ต้องขอเรียนว่า อาชีพการเป็นตัวแทน หรือ นายหน้านั้น จำเป็นต้องเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถืออย่างยิ่งที่ผ่านมานั้นค่อนข้างมีปัญหา การที่กฎหมายมีการกำหนดไว้ให้เป็นเช่นนี้นั้นก็เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานทางวิชาชีพตัวแทน หรือ นายหน้าให้มีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้แล้วยังมีการกำหนดอีกครับว่าตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยจะต้องเข้ารับการอบรมทุกครั้งก่อนมีการต่ออายุใบอนุญาตเพื่อปลุกจิตสำนึกการให้บริการ อันเป็นการส่งเสริมจรรยาบรรณในอาชีพเพื่อให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองและการบริการที่ดีจากธุรกิจประกันภัย หากมองในภาพรวมแล้วประชาชนทั่วไปย่อมได้ประโยชน์อย่างแน่นอน ...แล้วพบกันฉบับหน้า..สวัสดีครับ.