คณะวิทย์จุฬาฯปรับการสอน กู้วิกฤติการศึกษา

คณะวิทย์จุฬาฯปรับการสอน กู้วิกฤติการศึกษา

คณะวิทย์ จุฬาฯ เตรียมปรับรูปแบบการสอน เน้นคิดนอกกรอบ พัฒนาอาจารย์ผู้สอนให้ได้นิสิตทักษะสามารถสรุปวิจารณ์ในแต่ละชม.ที่เรียนได้ ชี้กู้วิกฤติ

ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในโอกาสที่จุฬาฯ จะมีอายุครบ 100 ปี ในปี พ.ศ.2560 จึงได้จัดทำโครงการกู้วิกฤติการเรียนวิทยาศาสตร์เพื่อกู้วิกฤติชาติ เพื่อเป็นของขวัญให้กับคนไทย โดยมุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการเรียนการสอนให้เด็กไทยคิดเป็น คิดนอกกรอบ เนื่องจากขณะนี้กระแสโลกมีความตื่นตัวอย่างมากในการสร้างคนในโลกยุคใหม่ ทั้งเวทีระดับโลกหลายแห่งก็สรุปออกมาเป็นทักษะในศตวรรษที่ 21 หรือ 21th Century Skill 12 ด้าน

สำหรับประเทศไทย ตนได้เตรียมการโดยเริ่มจากอาจารย์ผู้สอนของคณะวิทย์ 10 คน ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงวิธีการสอน โดยขอให้สอนนิสิตให้ได้ทักษะสำคัญ 2 ประการคือ เมื่ออาจารย์สอนจบในแต่ละชั่วโมงหรือแต่ละเรื่อง นิสิตสามารถสรุปและวิจารณ์ได้ ทั้งนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ต้องมีการปรับหลักสูตร ปรับรูปแบบการสอนให้อาจารย์สอนโดยใช้เวลาน้อยที่สุด และเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาแสดงความคิดเห็นในชั้นเรียนให้มากที่สุดและปรับรูปแบบการวัดผลที่สอดคล้อง

"คณะวิทย์ จุฬาฯ มีความตื่นตัวค่อนข้างมากที่จะพัฒนารูปแบบการสอน โดยเริ่มต้นอาจารย์ที่สนใจ 10คน จากนั้นจะขยายรูปแบบการสอนนี้ให้กับคณาจารย์อื่นๆในคณะ แล้วจึงเผยแพร่ออกไปยังคณะอื่นๆต่อไป ซึ่งผมได้นำเสนอแนวคิดดังกล่าวนี้ให้กับ ศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารมว.ศึกษาธิการ และศ.ดร.วิชัย ริ้วตระกูล ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) แล้ว โดยศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช ให้ความสนใจและจะนำไปขยายผลต่อในการประชุมยุทธศาสตร์แผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2(พ.ศ.2555-2559)ส่วนศ.ดร.วิชัยก็เห็นด้วยเช่นกัน" ศ.ดร.สุพจน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนการสอนเป็นเรื่องยาก แต่ตนเชื่อมั่นว่า หากระดับนโยบายตั้งแต่ รมว.ศึกษาธิการ เห็นด้วยและเอาจริง ช่วยผลักดันทั้งนโยบาย ทรัพยากร งบประมาณ ก็เชื่อว่าสามารถปรับวิธีการสอนให้เด็กคิดนอกกรอบได้สำเร็จ ขณะเดียวกันเมื่อมีการปรับกระบวนการเรียนการสอนครั้งใหญ่ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีระบบการเลื่อนวิทยฐานะ/การเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการให้สอดคล้องกับกระบวนการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ซึ่งหากจะให้เป็นเช่นนั้น ก็จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านการสอน โดยควรจะต้องมีตำแหน่งทางวิชาการ หรือศาสตราจารย์(ศ.) ด้านการสอน แยกจากสาขาอื่น ๆ โดยตนที่ผ่านมาได้หารือกับศ.ดร.วิชัย แล้ว และศ.ดร.วิชัย บอกว่าได้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวไประดับหนึ่งแล้ว ซึ่งคิดว่าเร็วๆ จะมีหลักเกณฑ์ในการของตำแหน่งทางวิชาการด้านการสอนออกมา

ทั้งนี้ผลงานที่จะมาใช้ขอตำแหน่งทางวิชาการด้านการสอนได้ จะต้องเป็นนวัตกรรมใหม่ ที่ เห็นผลเชิงประจักษ์ ว่าผลการเรียนของเด็กดีขึ้นและสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมผู้เรียนไปในทางที่ดีได้ แต่สิ่งที่ตนน่าห่วงคือ อาจจะมีคนไม่เข้าใจและไปเขียนหนังสือเป็นเล่ม ๆ และบอกว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ด้านการสอนเพื่อมาขอผลงานทางวิชาการ ซึ่งถือว่าไม่ถูกต้อง ดังนั้นจึงต้องมีการทำความเข้าใจให้รอบด้านก่อน