วิกฤตความมั่นคงทางอาหาร ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ไม่แน่นอน

วิกฤตความมั่นคงทางอาหาร ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ไม่แน่นอน

สวัสดีครับ 270 ล้าน คือจำนวนผู้คนที่กำลังประสบวิกฤติทางอาหารทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ ที่ World Food Programme รายงานเมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการสู้รบระหว่างประเทศที่ผลักดันให้ประชาชนต้องละทิ้งถิ่นที่อยู่อาศัยและแหล่งทำมาหากิน

ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่ก่อความเสียหายต่อเกษตรกรรม ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 และราคาสินค้าต่างๆ ที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2019 ล้วนส่งผลให้ตัวเลขผู้ที่มีอุปสรรคในการหาอาหารมื้อถัดไปเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 135 ล้านคนเป็นจำนวนเท่าตัวในชั่วระยะเพียงไม่กี่ปี

ในประเทศที่สต็อกอาหารสำคัญบางรายการลดลงสืบเนื่องจากสถานการณ์ต่างๆ รัฐบาลก็ได้ออกมาตรการห้ามส่งออกเพื่อให้พอเพียงสำหรับการบริโภคภายในประเทศ ผมขอพูดถึงอาหารใกล้ตัวเราที่ได้รับผลกระทบจากบรรดาปัจจัยข้างต้น คือ ข้าวสาลี ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในเมนูเส้นและเบเกอรี่มากมายที่นิยมรับประทานกันในชีวิตประจำวัน 

เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม อินเดียได้ระงับการส่งออกข้าวสาลีเนื่องจากคลื่นความร้อนเกือบ 50 องศาเซลเซียสในเดือนมีนาคมก่อความเสียหายต่อพืชไร่จนผลผลิตลดลง นอกจากนี้ สงครามอันยืดเยื้อในยูเครนซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกข้าวสาลีอันดับต้นของโลก ส่งผลให้ข้าวสาลีของชาวไร่ยูเครนถูกเก็บค้างไว้ในไซโลจนเลยกำหนดการปกติในการส่งไปขายเนื่องจากท่าเรือส่วนใหญ่ในทะเลดำยังถูกปิด

ดังนั้นข้าวสาลีปริมาณมหาศาลจึงตกค้างอยู่ ณ แหล่งผลิต ไม่สามารถกระจายไปสู่ตลาดผู้รับซื้อในประเทศปลายทางได้

 

ข้อจำกัดในการเคลื่อนย้ายอาหารระหว่างประเทศย่อมส่งผลต่อประเทศที่ต้องนำเข้าอาหารเหล่านั้น ทั้งในแง่ของสินค้าคงคลังที่น้อยลงและราคาที่พุ่งขึ้น

โดยเฉพาะประเทศแถบตะวันออกกลางหรือแอฟริกาที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์อันไม่เอื้ออำนวยให้ปลูกพืชเศรษฐกิจบางประเภท โดยองค์กรวิจัยอิสระ Sustainalytics คาดว่าหากความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซียยังดำเนินต่อไป เป็นไปได้ว่าราคาข้าวสาลีอาจเพิ่มขึ้นถึงสองหรือสามเท่า และกลุ่มประชากรเปราะบางที่มีกำลังทรัพย์น้อยอยู่แล้วก็จะยิ่งซื้ออาหารได้น้อยลงไปอีก

แม้ว่าในภาพรวม ข้าวสาลียังไม่ขาดตลาดโลกเนื่องจากยังมีประเทศอื่นๆ ที่ส่งออกข้าวสาลีได้อยู่ แต่เหตุการณ์นี้ก็ช่วยให้เราเห็นภาพได้อย่างชัดเจนยิ่งกว่าคราใด ถึงผลกระทบจากความไม่แน่นอนของสภาพภูมิอากาศ ความไม่สงบทางการเมือง และอีกนานาตัวแปรที่เกี่ยวข้องต่อความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ได้ให้นิยามเอาไว้ว่า ความมั่นคงทางอาหาร คือ สภาวะที่ทุกคนเข้าถึงอาหารได้อย่างเพียงพอในทุกช่วงเวลา ไม่ว่าจะด้วยความสามารถทางกายภาพหรือสภาพเศรษฐกิจก็ตาม

ทั้งนี้ เป็นที่น่ายินดีว่าประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้านอาหาร ด้วยมีแหล่งเพาะปลูกและผลิตภัณฑ์อาหารหลากหลายชนิด จึงทำให้มีความมั่นคงทางอาหารอยู่ในเกณฑ์สูง  โดยในปี 2564 The Economist Intelligence ได้จัดทำคะแนนความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทยอยู่ที่ 64.5 จาก 100 คะแนน และอยู่ในอันดับ 51 จากทั้งหมด 113 ประเทศที่ได้มีการประเมินเอาไว้ ซึ่งเป็นศักยภาพที่น่าต่อยอดผลักดันเพื่อให้ไทยพร้อมรับมือหากเกิดภาวะห่วงโซ่อุปทานชะงักงันอีกในอนาคต

ล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กรมการข้าวได้จัดนิทรรศการเผยแพร่ผลงานของโครงการวิจัยพัฒนาการผลิตธัญพืชเมืองหนาวเป็นพืชหลังนาเพื่อสร้างรายได้เพิ่มแก่เกษตรกรแปลงใหญ่ มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวสาลีให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดข้าวสาลีไทยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

รวมถึงการแปรรูปให้ใช้ประโยชน์ได้จากทุกส่วนของต้นเพื่อลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต สอดคล้องกับการทำธุรกิจแบบ Bio-Circular-Green (BCG) Model ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติของไทย

ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ให้คำนิยามไว้ว่าเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจไทย โดยอาศัยกลไกวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ เร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืนในระยะยาว

จะเห็นได้ว่าที่ผมยกตัวอย่างเป็นข้าวสาลีเพียงรายการเดียว ก็สามารถแสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องระหว่างภาวะโลกร้อน การขนส่งระหว่างประเทศ รวมถึงปัจจัยที่ผันผวนอีกมากมายที่อาจบรรเทาหรือซ้ำเติมประเด็นด้านความมั่นคงทางอาหารทั้งในระดับประเทศและระดับโลก 

ทั้งนี้ การต่อยอดต้นทุนทางด้านอาหารของไทย โดยเฉพาะในเรื่องของ BCG Model ซึ่งมุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากพร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ หลักการ “ทำน้อยแต่ได้มาก” ของโมเดลนี้สามารถปรับใช้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ

ในแง่ของการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีในการใช้วัสดุให้เกิดประโยชน์สูงสุด การใช้พลังงานและทรัพยากรอันจำกัดให้คุ้มค่าที่สุด และการลดปริมาณของเสียตั้งแต่ต้นน้ำ สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development Goals: SDG)ขององค์การสหประชาชาติเป็นอย่างดีครับ