เมื่อไหร่ตลาดหุ้นจะมีข่าวดี

เมื่อไหร่ตลาดหุ้นจะมีข่าวดี

ปีนี้เป็นปีที่ตลาดหุ้นทั่วโลกประสบแต่ข่าวร้าย สะท้อนได้จากดัชนีตลาดหุ้นโลก (MSCI AC World) ที่ปรับลดลงถึง 21% นับจากต้นปี โดยมีตลาดหุ้นที่ปรับขึ้นเพียง 8 ประเทศ จากทั้งหมด 47 ประเทศ ในกลุ่ม Developed Markets และ Emerging Markets

ในฝั่งเอเชีย ตลาดหุ้นของทั้ง 15 ประเทศ ปรับลดลงทุกตลาด เฉลี่ยติดลบ 10% ยกเว้น Indonesia ที่สวนทางปรับขึ้นเล็กน้อยจากอานิสงส์ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ส่วนตลาดหุ้นไทยลดลงไม่มาก ติดลบ 3%

ตลาดหุ้นที่ปรับลดลงมากที่สุดในโลก คือ NASDAQ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่จากทั่วโลก ดัชนี NASDAQ ติดลบถึง 31% ในปีนี้ นำโดยหุ้น Coinbase (-79%) Netflix (-72%) และ Meta (-51%) 

คนที่ติดตามภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนอยู่สม่ำเสมอ คงทราบดีถึงเหตุผลที่ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกเข้าสู่ขาลงในปีนี้ สรุปพอสังเขป ปัจจัยที่ส่งผลกระทบมากที่สุดคือ เงินเฟ้อ ที่พุ่งขึ้นทั่วโลกสู่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี ทั้งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกภายหลังโควิดที่ร้อนแรงกว่าคาด ภาวะตลาดแรงงานที่ตึงตัวในหลายประเทศ ปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ยังคลี่คลายไม่เต็มที่ และผลพวงสงครามรัสเซียยูเครนที่ส่งผลต่อราคาอาหารและพลังงาน

เงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์ สร้างแรงกดดันให้ธนาคารกลางเกือบทุกประเทศต้องเร่งปรับโหมดการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นมาก โดยเฉพาะในกรณีของสหรัฐฯ เฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรงและรวดเร็ว พร้อมๆ กับการลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening) อย่างเร่งด่วน

ดอกเบี้ยขาขึ้น สภาพคล่องที่ลดลง และภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มอ่อนตัว ส่งผลให้นักลงทุนถอนเงินออกจากสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก ทั้งหุ้นและตราสารหนี้ อย่างต่อเนื่องตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา

คำถามที่คนส่วนใหญ่อยากรู้คือ ได้เวลาซื้อหุ้นหรือยัง

น้อยคนสามารถบอกได้ว่าจุดต่ำสุดของตลาดหุ้นในแต่ละรอบอยู่ที่ไหน เพราะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยและหลายตัวแปร วิธีประเมินที่น่าจะได้ผลใกล้เคียงที่สุด คือการวิเคราะห์ว่าตลาดหุ้นได้สะท้อนข่าวร้ายไปมากน้อยแค่ไหนแล้ว

โดยส่วนตัว ผมมองว่าตลาดหุ้นโลกได้สะท้อนข่าวร้ายไปแล้วพอสมควร และน่าจะเริ่มเข้าใกล้จุดต่ำสุดของรอบนี้

ก่อนหน้านี้ หนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ยังไม่ถูกสะท้อนในราคาหุ้นอย่างเต็มที่ คือโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเข้าสู่ภาวะถดถอยจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากของเฟด

แต่ล่าสุด Yield Curve ของพันธบัตรสหรัฐฯ ได้กลับมา Invert อีกครั้ง ซึ่งเป็นสัญญานว่าผู้เล่นในตลาดทุนเริ่มเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีโอกาสถดถอยในช่วง 18 - 24 เดือนข้างหน้า รวมทั้งการคาดการณ์จุดสูงสุดของดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ได้พุ่งขึ้นแตะระดับ 3.9% จาก 3.3% ซึ่งสะท้อนมุมมองที่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้น ว่าเฟดคงต้องขึ้นดอกเบี้ยไปถึงราว 4% เนื่องจากเงินเฟ้อในสหรัฐฯ เริ่มกระจายวงกว้าง และต้นตอของปัญหาไม่น่าแก้ไขได้ในระยะสั้น

ที่อาจยังดูสูงอยู่ คือ ประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ ที่นักวิเคราะห์ยังคาดว่า จะโตได้เฉลี่ย 10.4% ในปีนี้ และ 9.7% ในปี 2023 ดังนั้น ยังเหลือความเสี่ยงการปรับประมาณการลงอีกเล็กน้อย

      ผมเชื่อว่า Downside Risk ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ น่าจะเหลือไม่มาก โดยดูจาก Forward P/E ในปัจจุบันที่ 16.8 เท่า (เทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังที่ 18.6 เท่า) ที่เริ่มดูเหมาะสมขึ้น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีโอกาส Rebound ได้ในช่วง 2 - 3 เดือนข้างหน้า โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญ คือ ระดับสภาพคล่องในตลาดการเงินที่ยังสูงมาก ถึงแม้เริ่มทยอยลดลง

       สำหรับตลาดหุ้นไทย ดัชนีระดับนี้ถือเป็นระดับที่น่าลงทุนระยะยาว SET Index แทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากระดับก่อนโควิด ในขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังสูงกว่าช่วงก่อนโควิด 15% แม้จะปรับลงมาแล้วถึง 21% ในปีนี้ก็ตาม

     ผมเชื่อว่าภาคการท่องเที่ยวของไทย มีโอกาสฟื้นตัวเร็วและแรงกว่าที่หลายสำนักวิจัยคาดการณ์ไว้มาก จากตัวอย่างประเทศที่เปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าได้อย่างเต็มรูปแบบ เช่น อังกฤษ และ ฝรั่งเศส เห็นได้ชัดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในภาคบริการ ได้ฟื้นกลับสู่ภาวะปกติเกือบจะ 100% แล้ว

      ถึงแม้แบงก์ชาติมีโอกาสสูงที่จะเริ่มใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น แต่ดอกเบี้ยน่าจะขึ้นไม่มาก และอานิสงส์การเปิดประเทศจะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถรับมือกับต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นได้

      ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสกลับสู่ขาขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เช่นเดียวกับตลาดหุ้นโลก