อาหารขาดแคลน

อาหารขาดแคลน

ท่านผู้อ่านที่เป็นคนไทยอาจจะไม่ค่อยรู้สึกว่าเรามีเหตุการณ์อาหารขาดแคลนเกิดขึ้นในประเทศ เพราะบ้านเมืองเราอุดมสมบูรณ์ เดินออกไปก็สามารถเก็บผักเก็บไม้มาทำอาหารได้

แต่ตอนนี้โลกเราเข้าสู่สภาวะไม่สมดุลมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเกิดจากการเน้นเรื่องประสิทธิภาพประสิทธิผล หากเมืองไหน ประเทศไหน ทำอะไรได้ดีได้มีประสิทธิภาพ มีผลิตสูงสูง ก็ให้ทำไป ส่วนที่ทำไม่ได้ดีก็ซื้อจากคนอื่นที่เขาทำได้ดี จึงเกิดภาวะพึ่งพากันสูง เมื่อโลกมีความสงบสุข การค้าของโลกเป็นไปด้วยดี การขนส่งสินค้าจากแหล่งหนึ่งไปยังอีกแหล่งหนึ่ง ทำได้โดยไม่มีปัญหา และทำได้ในต้นทุนที่ต่ำ ทุกอย่างก็ดูจะสวยงาม ราบรื่น

แต่ในสามปีที่ผ่านมา การระบาดของไวรัสโควิด -19 ที่ทำให้ระบบการขนส่งและกระจายสินค้าได้รับการกระทบกระเทือนอย่างหนัก การหยุดบิน และการลดจำนวนเที่ยวบินของทุกสายการบินในโลก ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในพื้นที่เกษตรกรรม หรือความขัดแย้งและสงครามที่เกิดขึ้นในยูเครน ที่ทำให้เกิดการชะงักงันของอุปทานอาหาร และราคาน้ำมันและค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ห่วงโซ่อุปทานที่เคยเกิดขึ้นอย่างราบรื่นทั้งหลายกลายเป็นอดีตอันสวยงาม ตอนนี้อาหารจึงแพงและบางอย่างขาดแคลน

ประเทศผู้ผลิตอาหารส่งออกสุทธิ (Net Food Exporting Countries) ในโลกนี้ มีไม่ถึง 30 ประเทศ และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยการส่งออกอาหารสุทธิ (ส่งออก ลบ นำเข้า) ของ 7 ประเทศในโลก คือ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา นิวซีแลนด์ ไทย และสหรัฐอเมริกา มีสัดส่วนถึง 55% ของการส่งออกอาหารสุทธิในโลก เราจึงควรจะต้องภูมิใจและรักษาไว้ เพราะอาหารจะเป็นยุทธปัจจัยที่สำคัญมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะใน 3 ปีนี้ ที่ห่วงโซ่อุปาทานอาหารไม่สมบูรณ์ ราคาอาหารแพง แรงงานภาคการเกษตรมีน้อยลง

ดิฉันตั้งใจจะเขียนเรื่องอาหารอยู่แล้วในสัปดาห์นี้ และเป็นเรื่องบังเอิญว่าในวันที่ 8 มิถุนายน ที่ผ่านมา ผู้อำนวยการองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO คุณคูดองยู (QU Dongyu) ได้ออกมาแถลงข่าวเรื่อง วิกฤติอาหาร โดยเสนอทางแก้ไขวิกฤติอาหารแพงไว้สามด้านใหญ่ๆคือ 1. การเพิ่มผลผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตอาหาร 2. ลดการสูญเสียและลดอาหารที่ต้องทิ้ง (Reduce food loss and food waste) ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถช่วยได้ในวงกว้าง และ 3. ใช้ปัจจัยในการผลิตอาหาร เช่น น้ำ และปุ๋ย อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

สัปดาห์นี้อยากมาจุดประกายให้ท่านผู้อ่านช่วยกันว่าเราจะสามารถช่วยประเทศไทยและช่วยโลกในเรื่องวิกฤติอาหารได้อย่างไรในข้อสอง คือลดการสูญเสียและลดอาหารที่ต้องทิ้ง

ข้อแรกคือ อย่าทิ้งอาหารเพียงเพราะผ่าน วัน“Best Before” หรือ วัน “ควรรับประทานก่อน”  มีหลายองค์กรพยายามทำความเข้าใจกับผู้บริโภคว่า “ควรรับประทานก่อน” ​หรือ “Best Before” นั้น ไม่ได้หมายถึงวันหมดอายุแบบยารักษาโรค แต่หมายถึงว่า หากรับประทานหลังวันนั้นๆ อาจจะมีกลิ่นหอมน้อยลง รสชาติดีน้อยลง แต่ยังรับประทานได้อยู่ ดังนั้นยังไม่ควรนำไปทิ้ง ให้ลองเปิดดูก่อนว่ายังรับประทานได้หรือไม่ คือไม่ควรรับประทานหากสี รส กลิ่นเปลี่ยนไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของอาหารด้วยนะคะ

ข้อที่สอง หาวิธีใหม่ๆในการนำอาหารไปถึงมือผู้บริโภค 

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ข้อกำหนดเรื่องอาหารเข้มงวดมาก วัน “Best Before” หรือ วัน “ควรรับประทานก่อน” จะค่อนข้างสั้น อาหารบางชนิดวันที่ผลิตจากโรงงานจนถึงวันที่ควรรับประทานเพื่อให้ได้รสชาติดีที่สุดนั้น สั้นเพียง 6 เดือน จึงทำให้ช่วงเวลาที่จะวางอาหารบนชั้น จนถึงช่วงเวลาบริโภค เหลือสั้นมาก

ดูข่าวของญี่ปุ่น พบว่ามีธุรกิจหนึ่งที่นำอาหาร มารวมกันและจัดกล่องปริศนา (mystery box) ซึ่งคนญี่ปุ่นจะเคยชินกับกล่องปริศนาอยู่แล้ว เพราะห้างต่างๆมักจะทำทั้งเพื่อลดราคาขายเหมาตอบแทนลูกค้าในเทศกาลต่างๆ และเพื่อระบายสินค้าที่ออกตัวช้า แต่คนไทยไม่ค่อยนิยมมากนัก เพราะคนขายจะเน้นระบายสินค้า และระยะเวลาใช้หรือรับประทานสินค้าจะเหลือสั้นมากๆ ลูกค้าจึงมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับกล่องปริศนาของเมืองไทย

ในญี่ปุ่น การทำกล่องปริศนานี้ ช่วยลดระยะเวลาระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคได้มาก ทำให้สินค้าไม่เน่าเสียหรือผ่านช่วง “ควรรับประทานก่อน” ​หรือ “Best Before” จนทำให้ขายไม่ได้ และสร้างความพอใจให้กับทุกฝ่าย จึงเป็นการลดการสูญเสียอาหาร หรือขยะอาหารไปได้อีกทางหนึ่ง

ที่นิยมมากคือขนมจากท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งปกติหาซื้อทั่วๆไปไม่ได้ ต้องไปท้องถิ่นนั้นๆจึงซื้อรับประทานหรือซื้อมาฝากได้ กล่องปริศนาที่เป็นที่นิยมมากจนถึงกับมีการสมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับกล่องประจำเป็นรายเดือน และลูกค้าก็ตั้งหน้าตั้งตารอว่าเมื่อไรกล่องใหม่จะมา และจะมีของดีๆอะไรซ่อนอยู่ในเราค้นพบบ้าง ผู้ผลิตซึ่งอาจจะเป็นร้านเล็กๆในท้องถิ่น ก็สามารถขยายตลาดได้กว้างขึ้น และแน่นอนว่าต้องมีชื่อที่อยู่ผู้ผลิตอยู่บนสินค้า หากลูกค้าติดใจ อยากจะสั่งซื้อตรงเฉพาะอย่าง ก็สามารถทำได้

ถ้ามีผู้นำสินค้ามาทำกล่องปริศนา ดิฉันเห็นว่าสามารถทำได้สองเกรดนะคะ เกรดพรีเมียม ได้ของใหม่เอี่ยม กับเกรดประหยัด ซึ่งไม่ใช่สินค้าใหม่เอี่ยม แต่คุณภาพยังดี มีระยะเวลา “ควรรับประทานก่อน” ​หรือ “Best Before” เหลืออยู่มากพอควร ขายในราคาถูก

หากผู้ประกอบการไทยสามารถสร้างความน่าเชื่อถือจากการที่คัดเลือกสินค้าที่มีคุณภาพ มีระยะเวลาเหลือให้รับประทานพอสมควร ดิฉันเชื่อว่า จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ทั้งเรื่องของสินค้าไปถึงมือผู้บริโภคได้เร็ว และช่วยให้ผู้บริโภคที่มีงบประมาณไม่สูง สามารถได้อาหารที่ราคาถูกรับประทาน เป็นการลดความสูญเสียทางด้านอาหารได้อีกทางหนึ่งค่ะ