การฟื้นตัวของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทย และความเสี่ยงในอนาคต…

การฟื้นตัวของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทย และความเสี่ยงในอนาคต…

ประเทศไทยในช่วงปี 2565 นี้ เผชิญกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจหลากหลายด้าน ทั้งแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศ และปัญหาราคาต้นทุนสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ตามราคาน้ำมันในตลาดโลก

ไตรมาส 1 ของปี 2565 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเติบโต 2.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ด้วยแรงสนับสนุนของการบริโภคภายในประเทศ ที่ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ภายในประเทศ

สำหรับการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา มีทิศทางการฟื้นตัวที่ดีสอดคล้องกับเศรษฐกิจไทย ถือได้ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์แม้จะเผชิญการระบาดของโรคโควิด-19 อีกครั้ง แต่ยังคงมีความแข็งแกร่ง แม้ระดับเงินกองทุน เงินทุนสำรอง และสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์จะปรับตัวลดลงเล็กน้อย แต่ถือว่ายังคงอยู่ในระดับสูงมาอย่างต่อเนื่อง 

โดยเดือนมีนาคม 2565 ระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีเงินกองทุนทั้งสิ้น 3,016 พันล้านบาท ปรับตัวลดลง 0.7% จากเดือนธันวาคม 2564 ที่ 3,039 พันล้านบาท ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ปรับตัวลดลงจาก 19.9% มาอยู่ที่ระดับ 19.8% ในเดือนมีนาคม 2565

เมื่อเทียบกับช่วงเวลาในอดีต เงินกองทุนและอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ต่างปรับตัวสูงกว่าช่วงเดือนมีนาคม 2563 อันเป็นช่วงเริ่มต้นการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศ นอกจากนั้น ธนาคารพาณิชย์มีเงินสำรองอยู่ในระดับสูงอยู่ที่ 909 พันล้านบาท

โดยอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Coverage Ratio) อยู่ที่ 165.6 % และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) อยู่ที่ 192% ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนธันวาคม ปี 2564 ที่อัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ที่ 162.6 % และ LCR ที่ 189%

สภาพคล่องในระดับสูงส่งผลให้ระบบธนาคารพาณิชย์สามารถสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจผ่านการขยายการให้สินเชื่อ โดยในไตรมาส 1 ปี 2565 สินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์เติบโต 6.9% ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4 ปี 2564 ที่ขยายตัว 6.5% สาเหตุหลักของการปรับตัวเพิ่มขึ้น มาจากสินเชื่อธุรกิจที่เติบโต 8.8%

จากความต้องการสินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อรองรับการฟื้นตัวของประเทศ ในขณะที่คุณภาพสินเชื่อในภาพรวมค่อนข้างทรงตัวจากไตรมาสก่อน เป็นผลจากการปรับโครงสร้างหนี้และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้

ภาพรวมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ จึงถือได้ว่าเติบโตได้ดีในช่วงไตรมาส 1 ในแง่การดำเนินงาน ที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากปี 2564 อยู่ที่ 12% จากผลของรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ถือเป็นประเด็นความเสี่ยง ที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในหลากหลายด้าน 

เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น อาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความกังวลและชะลอการจับจ่ายใช้สอย ส่งผลให้ความต้องการสินเชื่ออุปโภคบริโภคลดลง ในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากการบริโภคที่ลดลงของภาคครัวเรือน

จากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้มูลค่าสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากไตรมาสก่อน โดยเติบโต 3.3% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม ปี 2564 ที่เติบโต 4.0%

ในขณะเดียวกัน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติ ในช่วงสองปีที่ผ่านมาประชาชนจำเป็นต้องนำเงินเก็บที่ฝากไว้มาใช้จ่ายเพื่อรองรับสถานการณ์ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น โดยเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 ปริมาณเงินฝากรวมในระบบธนาคารพาณิชย์ ณ เดือนมีนาคม ปี 2565 มีปริมาณอยู่ที่ 16.8 ล้านล้านบาท เติบโต 2.6%

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของเงินฝากเติบโตในกลุ่มภาคธุรกิจเป็นหลัก อยู่ที่ 5.0% ในขณะที่เงินฝากบุคคลรายย่อยเติบโตเพียง 1.7% ซึ่งแนวโน้มเงินฝากของกลุ่มบุคคลรายย่อย มีแนวโน้มได้รับผลกระทบต่อเนื่อง หากสถานการณ์ราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง

นอกจากนี้ เมื่อสถานการณ์เงินเฟ้อทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จำเป็นต้องปรับแนวทางการดำเนินนโยบายทางการเงินผ่านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังผู้กู้ที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น 

ทำให้การประเมินเบื้องต้น พบว่า หากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาจส่งผลให้ภาระต้นทุนดอกเบี้ยของภาคธุรกิจและประชาชน ปรับสูงขึ้นกว่า 6.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งสถานการณ์ภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคตของธุรกิจและประชาชน โดยเฉพาะในส่วนภาคธุรกิจที่ยังคงเปราะบาง

ดังนั้น แม้ในภาพรวมระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังคงมีความแข็งแกร่งและพร้อมที่จะเติบโตสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในช่วงภาวะการฟื้นตัวตลอดปี 2565 แต่สิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไป คือพัฒนาการและความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของภาคธุรกิจและการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนในอนาคตได้