เมตาเวิร์ส การประยุกต์ใช้ และโอกาสทางธุรกิจ

เมตาเวิร์ส การประยุกต์ใช้ และโอกาสทางธุรกิจ

เมตาเวิร์ส ประเด็นร้อนที่มีการพูดถึงในแวดวงเทคโนโลยี ซึ่งผู้บริโภคและแบรนด์จำนวนมากก็เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เป็นวิวัฒนการถัดไปของเทคโนโลยีและการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม นอกจากนี้ยังกลายเป็นหัวข้อที่ผู้บริหารต้องพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ในแง่ของการเติบโตของบริษัท กลยุทธ์การหาบุคลากร และโอกาสทางธุรกิจต่างๆ

แนวคิดของเมตาเวิร์สเกิดขึ้นครั้งแรกหลังจากที่ Avalanche ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม Smart Contracts แบบเปิดที่ตั้งโปรแกรมได้สำหรับแอพลิเคชั่นแบบกระจายอำนาจ สามารถประสานโลกของไซเบอร์ให้ขนานกับโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งทุกคนในเมตาเวิร์สจะมีอวาตาร์ดิจิทัลที่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กันได้อยู่ในนั้น ทั้งนี้ 5G AI บล็อกเชน การสร้างเนื้อหา และองค์ประกอบอื่นๆ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของเมตาเวิร์ส

แนวคิดพื้นฐานของเมตาเวิร์สสามารถเข้าใจได้ไม่ยาก ซึ่งเป็นประสบการณ์ดิจิทัลบนอินเตอร์เน็ตที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อยู่ในรูปแบบสามมิติ และเกิดขึ้นบนโลกเสมือน ประสบการณ์ต่างๆ นี้ช่วยให้เราสามารถเล่น ทำงาน ติดต่อกับผู้ใช้อื่น หรือแม้แต่ซื้อสินค้าต่างๆ ได้

จุดมุ่งหมายของเมตาเวิร์ส คือ การเพิ่มประสบการณ์ชีวิตแบบดิจิทัลของผู้ใช้อย่างต่อเนื่องผ่าน XR (Extended Reality) บริการดิจิทัลบน XR จะค่อยๆ เจาะลึกสถานการณ์ต่างๆ และนำสู่การค้นพบใหม่ๆ ในประสบการณ์ชีวิตดิจิทัลนี้

VR (Virtual Reality) และ AR (Augmented Reality) เป็นองค์ประกอบหลักของแนวคิด XR โดย VR จะเน้นการโต้ตอบแบบเรียลไทม์ของผู้ใช้กับโลกเสมือน และสร้างประสบการณ์ที่สมจริง เช่น ในอุตสาหกรรมการแพทย์ VR สามารถจำลองสถานการณ์การผ่าตัดที่ซับซ้อนได้โดยไม่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วย ในขณะที่ AR ใช้เทคโนโลยีการแสดงภาพเพื่อสร้างวัตถุเสมือนจริง และ “วาง” บนโลกแห่งความเป็นจริง เช่น การใช้เพื่อช่วยเหลือการฝึกอบรมมืออาชีพ และการทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ

ในมุมมองของดีลอยท์ XR หมายถึงการสร้างสภาพแวดล้อมการโต้ตอบเสมือนระหว่างคนกับเครื่องจักรโดยการรวมสิ่งแท้และสิ่งเสมือนผ่านคอมพิวเตอร์ เมตาเวิร์สในความหมายภาพแคบ หมายถึงประสบการณ์สมจริงที่ใช้อุปกรณ์สวมศีรษะเพื่อเข้าสู่โลกเสมือนจริง ดังเช่นตัวอย่างที่เราเห็นจากภาพยนตร์ Ready Player One ทั้งนี้ ในความหมายภาพกว้าง เมตาเวิร์สจะสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นผ่าน “digital twin” ซึ่งสะท้อนถึงวัตถุทางกายภาพที่เสมือนจริง โดยผู้ใช้สามารถจำลองกระบวนการต่าง ๆ ของระบบได้ และด้วยเหตุนี้จึงสามารถจำลองซ้ำกี่ครั้งก็ได้เพื่อศึกษากระบวนการต่างๆ

เริ่มมีการประยุกต์ใช้ XR กับอุตสาหกรรมปลายน้ำมากขึ้น

การประยุกต์ใช้ XR แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ B2C และ B2B สำหรับ B2C เกี่ยวข้องกับตัวอย่างที่ได้กล่าวไป ในส่วนของ B2B การประยุกต์ใช้ XR จะขึ้นอยู่กับ 3 มุมมอง 1) โซลูชัน XR สามารถ “กำหนดสถานการณ์” ผลิต และทำซ้ำได้หรือไม่ 2) แก้ Pain Points ได้จริงหรือ และ 3) สถานการณ์นั้นมีพื้นที่ตลาดใหญ่พอที่จะรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีหรือไม่

ตัวอย่างเช่น ในสาขาอุตสาหกรรม PTC บริษัทด้านซอฟต์แวร์อุตสาหกรรมได้รวมข้อดีต่างๆ ในการออกแบบผลิตภัณฑ์และการจัดการวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์เข้ากับแพลตฟอร์ม XR ภายใน ซึ่งช่วย PTC สร้างดิจิทัลในพื้นที่เสมือนเทียบเท่าได้กับโลกทางกายภาพ นอกจากนี้ การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลในมิติของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การผลิต และการส่งเสริมธุรกิจ จะเป็นการวางรากฐานสำหรับขั้นตอนสำคัญต่อไปของการออกแบบผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต และการเปิดตัวตลาดอีกด้วย

เมตาเวิร์สเป็นกระแสขาขึ้นทางธุรกิจหรือไม่

ปัจจุบันเมตาเวิร์สยังอยู่ในระยะแรกเริ่ม (initial stage) ซึ่งอยู่ในช่วงปี 2564 ถึง 2573 ในขณะที่ระยะพัฒนาแล้ว (mature stage) ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2574 นั้น เมตาเวิร์สจากอุตสาหกรรมต่างๆ จะค่อยๆ แบ่งปันข้อมูลและพัฒนามาตรฐานที่เป็นหนึ่งเดียว และผสมผสานกัน ดีลอยท์เชื่อว่าในระยะนี้จะมีการเชื่อมโยงทางนิเวศวิทยาข้ามแพลตฟอร์มและข้ามอุตสาหกรรม นอกจากนี้ มาตรฐานข้อมูลแบบรวม ระบบการชำระเงิน และการรับรองความถูกต้องของข้อมูลระบุตัวตน มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาและผสมผสานข้ามแพลตฟอร์มให้สำเร็จผล

ในมุมมองทางธุรกิจ เมตาเวิร์สยังลดเส้นแบ่งระหว่างช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ และแสดงถึงโอกาสที่เติบโตอย่างรวดเร็วในเกือบทุกอุตสาหกรรมตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ฮาร์ดไลน์ไปจนถึงบริการต่างๆ เช่น การศึกษา และธุรกิจด้านสุขภาพ นอกจากนี้ เมตาเวิร์สยังต้องการความสามารถของ edge computing และการเชื่อมต่อที่รวดเร็วขึ้นเป็นอย่างน้อย ซึ่งจะนำไปสู่การลงทุนในชิป เซิร์ฟเวอร์ และฮาร์ดแวร์เครือข่ายในรุ่นต่อไป

ในอนาคตอันใกล้ เมตาเวิร์สยังมีศักยภาพในการพัฒนารูปแบบทางธุรกิจแบบดั้งเดิมได้หลายวิธี เช่น ในด้านการผลิตและการขนส่ง บริษัทต่างๆ สามารถใช้ digital twins เพื่อจำลองกระบวนการผลิต และการขนส่งภายในเมตาเวิร์ส ซึ่งอาจช่วยให้การบำรุงรักษา และการวางแผนเชิงคาดการณ์ที่มีต้นทุนต่ำลง นอกจากนี้วิศวกรรมอุตสาหการยังสามารถทดสอบการออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างแท่นปล่อยจรวดแบบผสมความเป็นจริงได้ ส่วนด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว เมตาเวิร์สยังมีแนวโน้มที่จะชี้ช่องโหว่ทางไซเบอร์ใหม่และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลประจำตัวและการฉ้อโกงทางดิจิทัล ธุรกิจต่างๆและรัฐบาลอาจให้ความสำคัญกับการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งระบุและจัดการกับความเสี่ยงทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นใหม่ในขณะเดียวกัน

สำหรับสถานการณ์เมตาเวิร์สในประเทศไทย บริษัทชั้นนำบางแห่งได้นำอินฟลูเอนเซอร์เสมือน เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญการตลาด เช่น AIS นำไอรีน ซึ่งเป็น AI อินฟลูเอนเซอร์คนแรกของประเทศไทย True Corp. นำอิมมะ AI อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ เอ็ม วิชั่น ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการจัดงานอีเวนต์ต่าง ๆ ได้เข้าสู่การใช้เมตาเวิร์สโดยการทำงานร่วมกับพันธมิตรชาวสิงคโปร์เพื่อจัดการการตลาดและการจัดการการค้าที่ดินที่โครงการ Metaverse Thailand ซึ่งสามารถซื้อขาย และพัฒนาที่ดินเสมือนจริงได้ นอกจากนี้ ในอุตสาหกรรมการธนาคาร SCB 10X ได้ตั้งสำนักงานใหญ่บนแพลตฟอร์มโลกเสมือน The Sandbox และคาดว่าจะสามารถเปิดให้ผู้ใช้ทั่วไปเข้าถึงได้ภายในปี 2565 นี้อีกด้วย

แม้ว่าสุดท้าย เมตาเวิร์สจะไปในทิศทางใด เห็นได้ชัดว่าเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วเพื่อให้การโต้ตอบเสมือนจริงมีความสมจริง ความหลากหลาย และมีนวัตกรรมมากขึ้น ผู้นำธุรกิจสามารถนำความรอบรู้สู่การอภิปรายเกี่ยวกับโอกาสในเมตาเวิร์ส ตลอดจนแนวคิดอื่นๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตยุคถัดไปที่อาจเกิดขึ้น

หมายเหตุ: บทความข้างต้น เขียนขึ้นโดย ดร. เมธินี จงสฤษดิ์หวัง Thailand Country Consulting Leader and Executive Director, Southeast Asia, ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง และทัศดา แสงมานะเจริญ ที่ปรึกษา Clients & Industries ดีลอยท์ ประเทศไทย