New Retail เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคจีน บนออนไลน์(จบ)

New Retail เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคจีน บนออนไลน์(จบ)

บิ๊กดาต้าช่วยให้แบรนด์สามารถประมวลผลคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่าย

ครั้งก่อนผมเกริ่นไปบ้างแล้วถึงปัจจัยที่น่าจับตามองสำหรับผู้ที่สนใจในการทำตลาดจีน ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมแบบนิวรีเทลที่ใช้งานง่ายด้วยออนไลน์

รวมถึงพลังของโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียวก็สามารถทำได้ทุกอย่างแบบครบวงจรทั้งยังมีอิทธิพลอย่างมากต่อการทำธุรกรรมทางการเงินของคนยุคใหม่

มาต่อกันที่การจับจ่ายยุคใหม่ “ไปชอปปิงในซูเปอร์มาร์เก็ตโดยไม่ต้องพกเงินสด” เวลานี้ในประเทศจีนกำลังมีการเปิดให้บริการของร้านค้าปลีกแบบ New Retail มากขึ้น แต่ที่พบว่าได้รับความนิยมและเป็นต้นแบบสำหรับห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตยุคใหม่ ก็คือ Hema Supermarkets ที่ตั้งขึ้นมาโดยเครือ Alibaba

สำหรับ Hema Supermarkets ได้เริ่มเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2015 และกลายเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งแรกของจีนที่ใช้ระบบอีเพย์เมนท์ในการจับจ่ายสินค้า โดยไม่ต้องใช้เงินสด 

เรื่องนี้ถือว่าเป็นวิสัยทัศน์ของแจ็คหม่าที่ได้มีการประกาศไว้ก่อนหน้านี้แล้วตั้งหลายครั้งว่า ต่อไปโลกในอนาคต จะเป็นยุคที่ร้านค้าปลีกจะไม่ต้องใช้เงินสดในการซื้อของอีก ซึ่งก็จะไม่เป็นเพียงร้านค้าปลีกแบบ Stand Alone เท่านั้น แต่แนวคิดจะนี้ครอบคลุมการใช้งานภายในห้างสรรพสินค้าทั้งหมดด้วย

สำหรับ Hema เมื่อแรกเริ่มเปิดให้บริการในปี 2015 ก็ได้รับการตอบรับที่ดีมาก จึงได้มีการขยายเพิ่มทั้งหมด 13 สาขา ตั้งอยู่ในมหานครเซี่ยงไฮ้มากถึง 10 สาขา นอกนั้นอยู่ที่ กรุงปักกิ่ง 2 สาขา และหนิงปัวอีก 1 สาขา

นอกจากนี้ Hema ก็ยังมีจุดขายสำคัญคือ บริการ Delivery จัดส่งอาหารสดถึงที่พักหากอยู่ไม่เกินบริเวณรัศมี 3 กิโลเมตร ผู้ใช้แอปก็สามารถสั่งสินค้าบนมือถือให้กับห้าง Hema ที่อยู่ใกล้ที่สุด แล้วสามารถรอรับการจัดส่งได้ภายใน 30 นาที แล้วด้วยความเร็วในการจัดส่งดังกล่าว ก็เลยทำให้ผู้ใช้งานสามารถรอรับกลุ่มของสด โดยเฉพาะอาหารทะเลอยู่ที่บ้านได้

ทั้งยังมีรายงานเพิ่มเติมว่า การจัดส่งอาหาร ของสด และสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์นี้มีมากกว่า 1,000 ครั้งต่อวัน และมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆด้วย

บิ๊กดาต้า เข้ามาช่วยกับบริการ : ทุกวันนี้ธุรกิจและการค้าทางออนไลน์แทบจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนจีนไปแล้ว ทางบริษัทต่างๆเช่นพวก Alibaba JD.com ก็เริ่มมีการนำบิ๊กดาต้าเข้ามาใช้งานร่วมด้วย

รูปแบบที่นิยมนำมาใช้กันมากคือ การนำข้อมูลบิ๊กดาต้าซึ่งมีการเก็บข้อมูลการจับจ่ายของลูกค้า รวมถึงพฤติกรรมทั่วไป เช่น ความสม่ำเสมอในการเลือกซื้อสินค้า ประเภทสินค้าที่เลือก ราคา โปรโมชันที่มักเลือก ซึ่งบิ๊กดาต้าก็จะช่วยให้แบรนด์สินค้าสามารถนำข้อมูลไปประมวลผลเพื่อคาดการณ์ถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายและสินค้าของลูกค้าได้ 

มากกว่านั้นยังสามารถทำโปรโมชันหรือส่งเสริมการขายให้เข้าถึงลูกค้าได้โดยตรง ผ่านบริการแอปพลิเคชัน เช่น ผ่านทาง WeChat โดยตัวอย่างเช่น นำข้อมูลในบิ๊กดาต้าจากพฤติกรรมหรือลักษณะการซื้อสินค้าของผู้บริโภคว่า มักซื้อสินค้าอะไร จากนั้นก็จะมีการส่งโฆษณาหรือแนะนำโปรโมชันเข้าไปยัง WeChat ของลูกค้า ซึ่งเป็นบริการที่ Tencent และ JD.com กำลังเริ่มแนวทางนี้อยู่ และกำลังผลักดันให้กระจายออกไปทั่วประเทศจีนมากขึ้น

หัวเมืองระดับล่างมาแรง : สำหรับการทำตลาดจีน มีโจทย์ที่ต้องเพิ่มเข้ามาอีกเรื่องคือ ลูกค้าเป็นคนจีนพื้นที่ไหน เมืองไหน มณฑลไหน เป็นเมืองระดับ Tier ไหน

ตัวอย่างเช่น Tmall เป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมที่มีสินค้าแบรนด์เนมมาก และลูกค้าหลักมาจากเมืองระดับ Tier1-2 คือหัวเมืองใหญ่ ที่มีกำลังซื้อต่อหน่วยสูง รสนิยมสูง เช่น เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง กว่างโจว เซินเจิ้น เฉิงตู เทียนจิน ฉงชิ่ง ฯลฯ แต่ถ้าสินค้าของเราเป็นกลุ่มที่จับตลาดวัยรุ่น Gen Y-Z ก็อาจจะต้องใช้แพลตฟอร์มอย่าง เสี่ยวหงชู, Tiktok หรือสินค้าเป็นกลุ่มตลาดล่าง ทั่วไป สินค้าอุปโภคบริโภค ก็ต้องเน้นไปที่ Taobao เป็นต้น

แนวโน้มต่อผู้ประกอบการไทย : ในอนาคตนิวรีเทลอาจจะเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยมากขึ้น แม้ว่าหลังจากยุคโควิด-19 ผ่านไป ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พฤติกรรมผู้บริโภคในภาพรวมของหลายประเทศเปลี่ยนแปลงไปหมด รวมถึงทัศนคติที่มีต่อสินค้าและผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ ดังนั้นสิ่งนี้น่าจะเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตคนไทยต่อให้เราจะต้านทานแค่ไหนก็ตามที