กฎหมายใกล้ตัว…กับ พ.รบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ

กฎหมายใกล้ตัว…กับ พ.รบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ

จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและช่องทางการสื่อสารต่างๆ ที่มากขึ้น ทำให้การเก็บรวบรวม การใช้ หรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลทำได้ง่าย สะดวกและรวดเร็ว และปัจจุบันข้อมูลส่วนบุคคลถือเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่มีมูลค่า ทั้งด้านความปลอดภัยของเจ้าของข้อมูล (Data Subject) และด้านการเงินที่ต้องสูญเสียถ้าหากข้อมูลรั่วไหล

จึงจำเป็นต้องมีการออกกฎหมายเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ กลไกหรือมาตรการกำกับดูแลเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลรวมถึงการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลขึ้นมา อันได้แก่ พระราชบัญญัติคุ้มครองครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data Protection Act: PDPA) โดยเริ่มใช้เต็มรูปแบบวันที่ 1 มิ.ย.2565

หลายท่านอาจสงสัยว่า ข้อมูลส่วนบุคคลประกอบไปด้วยข้อมูลอะไรบ้าง? เกี่ยวข้องกับเราอย่างไร? โดยจะขอยกตัวอย่างใกล้ตัวที่เรามักพบเจอในชีวิตประจำวัน เช่น เราอาจเคยได้รับอีเมลโฆษณาขายสินค้าโดยที่เราก็ไม่แน่ใจว่าเคยให้ความยินยอมหรือไม่ หรือมีผู้โทรมาเสนอขายสินค้า/บริการหรือโทรมาชวนให้เราสมัครสมาชิก โดยที่เราก็ไม่แน่ใจว่าผู้ที่โทรมาไปได้เบอร์โทรศัพท์หรือชื่อของเรามาจากไหน ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้มักเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เนื่องจากองค์กรบางแห่งอาจจะยังไม่ได้ปฏิบัติตามหลัก PDPA อย่างสมบูรณ์เช่น ไม่ได้แจ้งขอเปิดเผยข้อมูลกับองค์กรที่จ้างทำการตลาด

ผลที่ตามมาคือ เจ้าของข้อมูลก็จะยังฟ้องร้องเอาผิดตาม PDPA ไม่ได้ จนกระทั่งกฎหมาย PDPA เริ่มบังคับใช้เต็มรูปแบบ เจ้าของข้อมูลจึงจะสามารถฟ้องร้องเอาผิดตาม PDPA ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้หากข้อมูลส่วนบุคคลของเราถูกละเมิด เราสามารถฟ้องร้องหรือเรียกค่าเสียหายตามกฎหมายอื่นได้เท่าที่เจ้าของข้อมูลจะพิสูจน์ความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง

แต่ก็มีความยากลำบากและไม่สะดวกเท่ากับการพิสูจน์ความผิดตาม PDPA ที่องค์กรธุรกิจที่ดูแลข้อมูลของเรามีหน้าที่เป็นผู้พิสูจน์ความผิด และเมื่อกฎหมาย PDPA บังคับใช้แล้วแต่ไม่ได้ปฏิบัติตามจะมีบทลงโทษในทางแพ่งกำหนดให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับเจ้าของข้อมูลฯ ที่ได้รับความเสียหาย โทษทางอาญาจำคุกสูงสุดไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และโทษทางปกครอง มีโทษปรับตั้งแต่ 1 ล้านบาทจนถึงสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท

          สรุปความเข้าใจเบื้องต้นกฎหมาย PDPA ที่ควรรู้ 

เพราะเราทุกคนมีข้อมูลส่วนตัว และเพื่อปกป้องสิทธิของตนเองเราจึงควรรู้สิทธิที่เราพึงมีต่อข้อมูลส่วนตัว และควรพิจารณาอย่างรอบคอบในการให้ข้อมูลส่วนบุคคลในแต่ละครั้งว่าเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์อะไร หากพิจารณาแล้วว่าการให้ข้อมูลส่วนบุคคลนั้นไม่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ของการขอข้อมูล เราสามารถปฏิเสธการให้ข้อมูลนั้นได้ เพื่อป้องกันการถูกนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิดหรือหาผลประโยชน์จากข้อมูลส่วนบุคคลของเรา ในกรณีที่เราถูกละเมิดจนเกิดความเสียหาย เราควรรู้ว่าเรามีสิทธิฟ้องร้องและเรียกร้องค่าสินไหมตามกฎหมายได้อย่างไร

นอกจากนี้หากมีประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ สามารถติดต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้บริการเกี่ยวกับการตอบคำถามในประเด็นข้อสงสัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้

 

#############